บอร์ดพัฒนาระบบสุขภาพฯ นำร่อง 4 จังหวัด ใช้บัตรปชช. ใบเดียวรักษาทุกที่
อีกหนึ่งวาระสำคัญที่เกิดขึ้นในวันนี้ นายกฯ เศรษฐา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1/66 เพื่อขับเคลื่อนการยกระดับระบบสาธารณสุขของไทย หารือ 5 นโยบายเร่งด่วนยกระดับ 30 บาท ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งในและนอกระบบสาธารณสุข ได้แก่ บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่, มะเร็งครบวงจรและการให้วัคซีน HPV, สถานชีวาภิบาล เพื่อฟื้นฟู ดูแลสุขภาพต่อเนื่อง, การเพิ่มการเข้าถึงบริการในเขต กทม. และการดูแลสุขภาพจิตและแก้ปัญหายาเสพติด ที่ตั้งเป้าบำบัด ฟื้นฟู คืนผู้ป่วยสู่สังคม

สำหรับการยกระดับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ จะนำร่องใน 4 จังหวัด คือ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส เข้ารับบริการได้ทุกเครือข่ายทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข
พื้นที่กรุงเทพมหานคร ระยะแรก จะนำร่องโรงพยาบาลประจำเขตดอนเมือง ยกระดับรพ.ทหารอากาศ (สีกัน) เป็น รพ.ทุติยภูมิ 120 เตียง ศูนย์บริการสาธารณสุข 60 เป็น รพ.ผู้ป่วยนอกเฉพาะทาง และ รพ.ราชวิถี 2 เป็นหน่วยรับส่งต่อผู้ป่วย คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในเดือนธันวาคม นี้
ชวน ปชช. ร่วมกิจกรรม Colorful Bangkok Winter Festival
นายกรัฐมนตรี ชวนประชาชนร่วมกิจกรรม Colorful Bangkok Winter Festival กิจกรรมความสุข 5 กิจกรรมสำคัญ ประกอบด้วย

- กิจกรรมสีสันแห่งสายน้ำ มหกรรมลอยกระทง ปี 2566
- กิจกรรม Vijit Chao Phraya 2023
- กิจกรรม Amazing Thailand Passport Privileges
- กิจกรรม Amazing Thailand Marathon Bangkok 2023
- Amazing Thailand Countdown 2024
สำหรับกิจกรรม Colorful Bangkok Winter Festival มุ่งนำเสนออัตลักษณ์ความเป็นไทยผ่าน “เทศกาลลอยกระทง” ประจำปี 2566
โดยมีศิลปะ แสงสี ดนตรี กิจกรรม countdown ทั่วเกาะรัตนโกสินทร์ จากคลองผดุงกรุงเกษมสู่ริมเจ้าพระยา นับเป็นก้าวสำคัญของการส่งเสริมและเพิ่มมูลค่าแก่ต้นทุนทางวัฒนธรรม Soft Power
รัฐเดินหน้า 1 กีฬา 1 รัฐวิสาหกิจ เป็น Soft Power ของประเทศ
วันนี้ (24 ต.ค.66) เวลา 14.40 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการสนับสนุนสมาคมกีฬาจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน ครั้งที่ 1/2566 นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มาร่วมประชุมในวันนี้ เพื่อร่วมกันกำหนดนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาด้านกีฬาซึ่งถือเป็นหนึ่งใน Soft Power สำคัญของประเทศในการพัฒนาอย่างมีระบบ ซึ่งกีฬานอกจากช่วยส่งเสริมสุขภาพที่ดีของประชาชนแล้วยังสามารถพัฒนาเป็นอาชีพทั้งในบทบาทที่เป็นนักกีฬา ผู้ฝึกสอน ผู้ตัดสิน และผู้มีวิชาชีพด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งกีฬาที่เป็นที่นิยมในระดับสากล ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการสนับสนุนสมาคมกีฬาจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน 1 กีฬา 1 รัฐวิสาหกิจ จะเป็นการเสริมต่อการสนับสนุนกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติและของการกีฬาแห่งประเทศไทย ที่จะมาช่วยผลักดันให้การกีฬาของประเทศเดินไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็งยิ่งขึ้นต่อไป
สำหรับคณะกรรมการฯ โครงการนี้ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2548 ภายใต้ชื่อโครงการ 1 กีฬา 1 รัฐวิสาหกิจ ปัจจุบัน นายกรัฐมนตรีได้ปรับเปลี่ยนการสนับสนุนให้กว้างขึ้น ให้รวมถึงทุกสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย พร้อมกับดึงภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมให้มากขึ้น เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดกับวงการกีฬาไทยภายใต้โครงการ 1 กีฬา 1 รัฐวิสาหกิจ พลัส สมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยต่างๆ จะได้งบสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลา 4 ปี ซึ่งจะทำให้สามารถวางแผนพัฒนาระยะยาวได้ และงบประมาณในส่วนนี้สมาคมกีฬาฯ สามารถใช้จ่ายได้โดยไม่ติดระเบียบราชการ
บีโอไอต้อนรับสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศญี่ปุ่น (JMA)
นายนฤชา ฤชุพันธุ์ ที่ปรึกษาด้านการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) (ที่ 6 จากซ้าย) ให้การต้อนรับคณะจากสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ Japan Management Association (JMA) เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศไทย

โดยทั้ง 2 ฝ่าย ได้ให้ความเชื่อมั่นที่จะสนับสนุนการลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่น ทั้งรายใหม่และรายเดิมที่อยู่ในประเทศไทยให้ดำเนินธุรกิจอย่างราบรื่น และขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ณ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ถนนวิภาวดีรังสิต เมื่อเร็ว ๆ นี้
คกก.พัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ยกระดับนโยบาย 30 บาท บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่
วานนี้ (24 ตุลาคม 2566) เวลา 13.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 พร้อมด้วยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร รองประธานกรรมการคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยมีคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ผู้แทนจากทุกภาคส่วนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ภายหลังการประชุม นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของการประชุมฯ ดังนี้

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร รองประธานกรรมการฯ กล่าวว่า การยกระดับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การได้รับบริการสุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทยทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันโรคที่จะเกิดการเจ็บป่วย การวินิจฉัยโรค เพื่อการวางแผนการรักษาที่เหมาะสม และการฟื้นฟูสุขภาพภายหลังการรักษาโรคเพื่อให้เข้าสู่ภาวะปกติ ประเทศไทยได้ขับเคลื่อนนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน โดยนโยบายดังกล่าวจะครอบคลุมการมีหลักประกันสุขภาพ เพิ่มการเข้าถึงบริการ เพิ่มคุณภาพบริการ และลดภาระค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ
จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน สำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2531 -2560 หลังจากการดำเนินการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พบว่า ครัวเรือนที่ต้องกลายเป็นครัวเรือนยากจนภายหลังจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล มีจำนวนลดลง เห็นได้ชัดตั้งแต่ 250,000 ครัวเรือน ในปี 2531 เหลือเพียง 52,000 ครัวเรือน ในปี 2562 ความครอบคลุมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พ.ศ. 2545 -2565 อยู่ที่ร้อยละ 99.6 จากการที่ประเทศไทยมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าครอบคลุมประชาชนมากกว่าประเทศ OECD ร้อยละ 98 ดังนั้น นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเราต้องไม่หยุดพัฒนา เพื่อร่วมกันสร้างหลักประกันสุขภาพที่ดีที่สุด เหมาะสมที่สุด สำหรับคนไทย พร้อมทั้ง ยกระดับนโยบายดังกล่าวเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมและวิถีชีวิตในปัจจุบัน เพื่อให้มั่นใจว่านโยบายนี้มีความครอบคลุมระบบโครงสร้างระบบสาธารณสุขของไทยประชาชนสามารถเข้าถึงในทุก ๆ มิติ