บริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด และ อตก. สององค์กรที่คลุกคลีภาคเกษตร แนะเกษตรกร หาจุดเด่นสินค้าพร้อมแปรรูปเชิงคุณภาพ ช่วยเสริมสร้างมูลค่าเพิ่ม
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับ Business Today จัดงานสัมมนา “Business Today Forum ทรานฟอร์มเกษตรไทย ฝ่าคลื่นดิสรัปต์ เกษตรอัจฉริยะ Big Data”ภายในงานมีการจัดเสวนาหัวข้อ”กรณีศึกษา : ทรานส์ฟอร์มธุรกิจเกษตร” โดยวงเสวนาประกอบด้วยนายเกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด, นายกมลวิศว์ แก้วแฝก ผู้อำนวยการองค์กรการตลาดเพื่อการเกษตร (อตก.)
นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ของเกษตรกรคือปัญหาค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้นเร็วมากในยุคปัจจุบัน ทำให้ตัวเกษตรกรลำบากเพราะไม่สามารถหาแรงงานได้เนื่องจากต้นทุนราคาสูง ส่วนโรงงานก็ประสบปัญหาไม่สามารถหาเทคโนโลยีเข้ามาทำงาน ทำให้ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นกระทบต่อต้นทุน และไม่สามารถผลิตสินค้าบางอย่างได้ ดังนั้นเรื่องค่าแรงเป็นสิ่งสำคัญ โดยการจะเปลี่ยนภาคเกษตรให้ดีขึ้นจะต้องทำให้ต้นทุนต่ำลงให้ได้เสียก่อน
“นอกจากนี้แล้วยังมีปัญหาการเมืองไม่มีเสถียรภาพ การเข้ามาของนักการเมืองเป็นการแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรระยะสั้นเท่านั้น โดยไม่ได้ปลูกฝังให้เกษตรกรเพาะปลูกพืชระยะยาว จึงเกิดปัญหาสินค้าล้นตลาดและราคาต่ำลง ซึ่งเป็นอีกปัญหาที่เกษตรกรต้องเผชิญ”
ด้าน นายกมลวิศว์ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยตั้งอยู่ในภูมิภาคที่ได้เปรียบทั่วโลก แต่ผลผลิตกลับสู้ประเทศอื่นไม่ได้ ปัจจุบันสินค้าเกษตรไทยในเชิงคุณภาพยังมีอนาคต แต่ต้องแยกผลผลิตให้ชัดเจนว่ามีความโดดเด่นด้านใด อย่างเช่นเมล่อน ไทยไม่มีทางสู้เกาหลีได้ แต่ไม่มีมะม่วงที่ไหนอร่อยเท่าที่ไทย ฉะนั้นเราต้องรู้จักผลักดันจุดเด่นของตนเองเพื่อนำไปสู่ความเป็นเลิศ
ปัจจุบันสินค้าเชิงคุณภาพยังคงขาดตลาด จึงยังเป็นช่องว่างของตลาด และการผลิตสินค้าคุณภาพยังส่งเสริมให้รายได้เพิ่มขึ้นได้อีกด้วย ที่ผ่านมา อตก.ได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสินค้าเชิงคุณภาพ โดยส่งเสริมความโดดเด่นของสินค้าในแต่ละจังหวัด ซึ่งสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกร เช่นมะพร้าวช่วงที่ราคาถูก แต่เรานำนวัตกรรมเข้ามาใส่ให้สินค้าก็สามารถเพิ่มมูลค่าได้
นายเกรียงศักดิ์ กลับมากล่าวต่อว่า อำพลฟูดส์ ได้มีการปรับตัวมาโดยตลอด อย่างเช่นค่าแรงเพิ่มได้มีการทำวิจัย ซึ่งได้มีการแก้ไขปัญหาด้วยการร่วมกับ ม.เกษตร ผลิตเครื่องกะเทาะมะพร้าวแทนที่แรงงานคน หรือแม้แต่วิธีการผลิตเราปรับมาผลิตให้สดมากที่สุดเพื่อตรงใจผู้บริโภค
แต่เมื่อสินค้าเราดีขึ้นเรื่อย ๆ จะมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นมากจะทำให้เราทำอยู่แบบเดิมไม่ได้ แต่ต้องทำให้เร็วขึ้นกว่าเดิม ที่ผ่านมาเรามีเซลล์อยู่ส่วนกลางของกรุงเทพฯ และวิ่งหาร้านค้าย่อยทั่วประเทศซึ่งมีต้นทุนสูงมาก แต่พอมีคู่แข่งใหม่เข้ามาทุกคนจะเข้าไปจับยี่ปั๊วรายใหม่มากขึ้น
ทำให้อำพลฟูดส์ ต้องเปลี่ยนแปลงด้วยการตั้งศูนย์กระจายสินค้ารายย่อยเพื่อให้สามารถเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น โดยปัจจุบันอำพลฟูดส์มี 27 ศูนย์กระจายสินค้าทั่วประเทศ และมีข้อมูลฐานลูกค้า 1.5 แสนราย โดยมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดการ และหากเปิดเพิ่มได้เป็น 50 ศูนย์จะทำให้อำพลฟูดส์ มีฐานข้อมูลลูกค้าอย่างน้อย 3 แสนราย ซึ่งจะทำให้มีผู้ค้ารายย่อยเข้ามาหาอำพลฟูดส์มากขึ้น
ขณะเดียวกัน อำพลฟูดส์ จะกลายเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า โดยจะนำจุดแข็งบริษัทฯ ของเราไปช่วยพัฒนาองค์กรเล็ก ๆ ในการยกระดับสินค้าและช่วยจำหน่ายด้วย โดยการมีบิ๊กดาต้าก็ถือเป็นประโยชน์ในหลายด้าน ซึ่งธนาคารก็เข้ามาขอร่วมเป็นพันธมิตรในการใช้ข้อมูลลูกค้าเพื่อปล่อยกู้
อยางไรก็ตาม อำพลฟูดส์ ได้นำเทคโนโลยีเข้าปรับใช้กับองค์กรตลอด ซึ่งมีการตั้งศูนย์นวัตกรรมขององค์กรขึ้นมา โดยมีนักวิจัยประจำกว่า 10 คน ทำให้แต่ละปี บริษัทฯจะมีงานวิจัยออกมาหลายงาน ขณะเดียวกันการทำธุรกิจในอุตสาหกรรมเกษตรยุคปัจจุบันคือความเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนพฤติกรรมรวดเร็ว การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ผนวกกับงานวิจัยจะช่วยตอบสนองความเปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี ซึ่งปัจจุบันต้องคิดเร็วทำเร็ว และพร้อมปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า
ส่วน นายกมลวิศว์ กลับมาหล่นความเห็นปิดท้ายว่า “การผลิตสินค้าเกษตรเชิงคุณภาพจะสามารถทำให้เกษตรกรก้าวผ่านวิกฤตไปได้ แต่หากยังคงผลิตสินค้าเชิงปริมาณจะทำให้เกษตรกรติดอยู่ในวิกฤตต่อไป”
อตก.พยายามให้เกษตรกรเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เช่น แพคเกจซีนข้าวใหม่ ก็จะทำให้ข้าวเก็บไว้ได้นานขึ้น 2 ปี และเวลาที่สินค้าขาดตลาดก็สามารถนำเอาสินค้าออกมาขายได้ราคาดี ขณะเดียวกันการจะทรานฟอร์มนั้นเราต้องดูจุดเด่นของตนเองเสียก่อนว่าเรามีอะไรโดดเด่น
ปัจจุบันต้องยอมรับว่าสิ่งที่เป็นจุดเด่นของเราในอดีตเริ่มจะไม่เหลือแล้ว ข้าวเริ่มหาย ปลาในน้ำเริ่มหาไม่เจอ ดังนั้นผลผลิตที่ออกมาสู่ตลาดส่วนหนึ่งเราต้องดึงเก็บไว้เพื่อนำไปแปรรูป และสร้างคุณค่าให้กับสินค้า เช่นเปลือกทุเรียนนำไปทำปุ๋ยดีที่สุด เม็ดมังคุดนำไปทำยารักษาลำไส้ได้ แต่เราไม่เคยมีผลงานวิจัยออกมายืนยันกับประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ อตก. ยังได้ร่วมกับ สวธน. ช่วยเหลือเกษตรกรที่ยังคิดไม่ออกว่าจะแปรรูปสินค้าของตนเองเป็นอะไร ด้วยการช่วยคิดรูปแบบการแปรรูปสินค้า ซึ่งเกษตรกรสามารถเข้ามาขอความช่วยเหลือได้