HomeBT Newsศึกข่าวชิงกระแส แย่งเม็ดเงินหมื่นล้าน

ศึกข่าวชิงกระแส แย่งเม็ดเงินหมื่นล้าน

การขยับแนวรุกของช่อง 3 (หมายเลข 33) เข้าสู่สมรภูมิข่าว ส่วนหนึ่งเป็นการจัดทัพใหม่ หลังจากคืนช่อง 28 และช่อง 3 Family สิ้นเดือนก.ย.ที่ผ่านมา พร้อมปรับผังใหม่เดือนต.ค. เริ่มด้วยปรับโฉมรายการข่าวก่อนเป็นอันดับแรก เพราะเป็นรายการสด และประเด็นข่าวที่เกิดขึ้นอยู่ในกระแสความสนใจของประชาชนจำนวนมาก

ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ว่า การจัดทัพรายการข่าวของช่อง 3 เป็นการปรับตัวหลังคืนช่องไป 2 ช่อง พร้อมรวบรวมผู้ประกาศข่าวที่กระจัดกระจาย มาฟื้นฟูจุดแข็งให้กับช่อง 3 (หมายเลข 33) ซึ่งนอกจากรายการข่าวจะอยู่ในความสนใจของประชาชนจำนวนมาก ยังเป็นรายการที่มีต้นทุนต่ำเมื่อเทียบกับรายการประเภทอืนๆ โดยต้นทุนของรายการข่าวจะอยู่ที่ผู้ประกาศเป็นหลัก

นอกจากนี้ รายการข่าวยังเป็นการใช้ทรัพยากรให้เปิดประโยชน์สูงสุด สามารถเผยแพร่ได้หลากหลายช่องทาง ทุกแพลตฟอร์ม และสามารถนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ซึ่งโดยมุมมองของซีอีโอคนใหม่ของช่อง 3 ที่มาจากแพลตฟอร์มสื่อใหม่ จึงเห็นโอกาสตรงนี้ และเดินหน้าพัฒนารายการข่าวทันที

- Advertisement -

ที่ผ่านมา การแข่งขันรายการข่าวยังคงอยู่ที่ช่องหลัก คือ 3 กับ 7 ซึ่งมีเรตติ้งโดยรวมเป็นผู้นำตลาด และมีโพสิชั่นทางการตลาดที่แตกต่างกัน ขณะเดียวกัน หลังเกิดทีวีดิจิทัล มีช่องข่าวเพิ่มขึ้น แต่ละช่องมีคาแรกเตอร์ของตัวเอง และสามารถสร้างฐานผู้ชมได้ เช่น ช่องไทยรัฐ ที่มีความได้เปรียบที่มีกองบรรณาธิการที่แข็งแรงของหนังสือพิมพ์ช่วยสนับสนุน ทำให้ช่องมีรายได้จากรายการข่าวเป็นหลัก

ชิงเค้กรายการข่าวหมื่นล้าน

ภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจสายงานการวางแผนและกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันภาพรวมตลาดโฆษณาทางสื่อโทรทัศน์ มูลค่าประมาณ 5 หมื่นล้านบาท เป็นส่วนแบ่งจากรายการประมาณ 20% หรือประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งสัดส่วนค่อนข้างคงที่และลดลงเล็กน้อย เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา ถูกแย่งตลาดด้วยสื่อใหม่ แต่ทีวีทุกช่องยังคงให้ความสำคัญกับรายการข่าว เพราะถือเป็นรายการที่สามารถเข้าถึงคนทุกกลุ่ม

“การขยับผังของช่อง 3 โดยเฉพาะในรายการข่าว ถือเป็นการเพิ่มความร้อนแรงให้กับการแข่งขัน ซึ่งที่ผ่านมาคอนเทนต์ข่าวแข่งขันรุนแรงอยู่แล้ว ทั้งกับช่องเดิม และสื่อใหม่ที่เกิดขึ้นจากหลากหลายแพลตฟอร์ม” ภวัตกล่าว

สำหรับเรตติ้งของผู้นำตลาดยังคงอยู่กับช่อง 3 ช่อง 7 ซึ่งเป็นช่องหลัก โดยเฉพาะข่าวภาคค่ำ อย่างไรก็ตามช่วงหลังช่องที่มีคาแรกเตอร์ของตัวเอง เช่น ช่องไทยรัฐ ช่องอัมรินทร์ และช่องวัน ถือว่าเรตติ้งโดยรวมปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะรายการข่าว ทำให้การแข่งขันสำหรับรายการประเภทนี้มีความคึกคักขึ้น ช่อง 3 จึงต้องออกมาย้ำภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำให้ชัดเจนขึ้น

ปรับผังชิงกระแส

อย่างไรก็ตาม ทิศทางของรายกาข่าวยังคงให้ความสำคัญกับกระแสเป็นหลัก เพราะสามารถเรียกเรตติ้ง หรือการติดตามจากผู้ชมได้จำนวนมาก เช่น กรณีการเกิดคดีลัลลาเบล เป็นต้น สถานีโทรทัศน์ทุกช่องจึงให้ความสำคัญกับรายการข่าว ไม่แค่เฉพาะช่องใหญ่เท่านั้น ทั้งช่อง 8 โมโน ไทยรัฐทีวี ได้มีการปรับผังรายการข่าวไปก่อนหน้านี้แล้ว และเน้นกระแส คลิปต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์

สถานีโทรทัศน์ช่อง 8 อ้างว่าเรตติ้งรายการข่าวเช้าขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ด้วยคอนเซปต์ “เล่าง่าย คุยง่าย เข้าใจง่าย” และเป็นสถานีโทรทัศน์ที่มีการรายงานข่าวมากที่สุดกว่า 13 ชั่วโมงต่อวัน สูงสุดในทีวีดิจิทัลกลุ่มวาไรตี้ ล่าสุดได้เพิ่ม 2 รายการข่าวใหม่ ได้แก่ “ข่าวเข้มช่อง8” กับ 2 ผู้ประกาศข่าว “โจ – ธีระธัญญอนันต์ผล” และ “เมย์ – ชนิตร์นันทน์ ปุณณะนิธิ” และรายการ “เฉียด” นำเสนอคลิปเหตุการณ์ต่างๆ คลิประทึกเฉียดเป็นเฉียดตาย ดำเนินรายการโดยนักแสดงหนุ่ม “เต้-ปิติศักดิ์ เยาวนานนท์”

ช่องโมโน ที่มีคอนเซปท์ “หนังดี ซีรีส์ดัง” เปิดแนวรบด้านข่าวเช่นเดียวกัน โดยดึง “ต๊ะ – พิภู พุ่มแก้วกล้า” ที่เข้ามาเสริมทีมข่าวเช้า เพิ่มข่าวประเด็นกระแส วางตำแหน่งข่าวเป็น “พรีเมียม แมส” ขยายฐานผู้ชมเพิ่มจากเดิมที่จะเน้นให้สาระ ความรู้เป็นหลัก ต๊ะ กล่าวว่า จำเป็นต้องมีข่าวครบทุกรส เพื่อเติมเต็มความน่าสนใจให้กับผู้ชม โดยไม่ต้องเปลี่ยนช่องไปไหน แต่ยังคงยึดมั่นในแนวทางไม่นำเสนอภาพความรุนแรง พร้อมนำเสนอทางออกให้สังคมควบคู่ไปด้วย

ช่องไทยรัฐทีวี ถือเป็นช่องที่รายการข่าวมาแรง และมีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ โดย จิตสุภา วัชรพล เจ้าหน้าที่บริหารสายงานกลยุทธ์ และการตลาด บริษัท ทริปเปิลวี บรอดคาสท์ จำกัด ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ไทยรัฐ ทีวี ช่อง 32 เปิดเผยว่า ภาพรวมการดำเนินงานของไทยรัฐ ทีวี ช่อง 32 มีแนวโน้มดีขึ้น ปัจจุบัน รายได้หลักของสถานีมาจากค่าโฆษณาในรายการข่าว ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 60% ของรายการทั้งหมด และบริษัทเป็นผู้ผลิตรายการข่าวเองทั้งหมด เพื่อควบคุมคุณภาพ และทิศทางของรายการข่าว

“ปีนี้เราเน้นการขยายเวลารายการข่าวที่ได้รับความนิยม เช่น “ข่าวใส่ไข่” เป็นต้น โดยกลุ่มผู้ชมหลักของช่องไทยรัฐ ทีวี จะมีสัดส่วนเท่ากันระหว่างชายและหญิงอยู่ที่ 50:50 และมีอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยจะมุ่งขยายฐานผู้ชมให้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิง” จิตสุภากล่าว

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของ ผศ.ดร.วรัชญ์ แม้จะเห็นการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยนำเสนอให้รายการข่าวเป็นที่น่าสนใจขึ้น แต่คุณภาพของเนื้อหายังคงลดลงเมื่อเทียบกับช่วงยุคก่อนทีวีดิจิทัล ซึ่งก่อนหน้านี้รายการข่าวทางสถานีโทรทัศน์ยังคงมีรายการประเภทวิเคราะห์ข่าว รายการเจาะลึก แต่ปัจจุบันรายการข่าวทางสถานีโทรทัศน์เน้นข่าวตามกระแสสื่อสังคมออนไลน์

“ทุกวันนี้กลายเป็นทีวีวงจรปิดมากขึ้น เน้นข่าวตามกระแสโซเชี่ยล เพื่อเรียกเรตติ้ง เนื้อข่าวบางลง คุณภาพลดลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับรายการข่าวยุคก่อนทีวีดิจิทัล ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องเรตติ้งมากนัก” ผศ.ดร.วรัชญ์ระบุ

ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับวงการข่าวโทรทัศน์ ที่นอกจากจะต้องแข่งขันตามกระแสสื่อโซเชี่ยลที่รวดเร็ว ในแง่ของคุณภาพยิ่งถูกคาดหวังจากผู้ชมที่มากกว่า ขณะที่เรตติ้งยังเป็นหัวใจสำคัญที่จะสร้างรายได้ให้อยู่รอดได้ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง

เรื่องโดย เบ็ญจวรรณ รัตนวิจิตร

Business Today
Business Todayhttps://businesstoday.co
Supporting Thailand's business communities./ FB Page: Business Today Thai/ Social: Business Today Thai (สำหรับ Twitter, YouTube, Telegram)/ LINE: @Business today/ เว็บที่เกี่ยวข้อง: Thailand Today: www.thailandtoday.co/ FB: Thailantoday.co (English)/ Thailand Today News: www.thailandtoday.news/ FB: Thailandtoday.news (Mandarin Chinese)

Latest

ติดตามข่าวสารอัพเดททันใจจาก Businesstoday ได้โดยกรอกอีเมลด้านล่าง

Related News