การล้มละลายของ Thomas Cook สร้างความตื่นตะลึงให้หลายฝ่าย เพราะคิดไม่ถึงว่ายักษ์ใหญ่ด้านการท่องเที่ยวจะล้มครืนในพริบตา
แต่หากดูให้ดี จะพบว่าสัญญาณของความเสื่อมถอยมีให้เห็นมาพักนึงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเตือนเกี่ยวกับผลกำไรเมื่อปีที่แล้วหรือกลางปีนี้ ซึ่งสะท้อนว่าบริษัทแบกหนี้ก้อนโต
การล้มละลายทำให้อนาคตของพนักงาน 21,000 ชีวิต ซึ่งในจำนวนนี้ 9,000 คนอยู่ในอังกฤษ ตกอยู่ในความไม่แน่นอน รวมถึงลูกค้า 350,000 รายทั่วโลก
แม้ธุรกิจประสบปัญหา แต่บรรดาผู้บริหารของ Thomas Cook ได้โบนัสกันไปเกือบ 20 ล้านปอนด์ หรือกว่า 700 ล้านบาท ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยซีอีโอ “Peter Fankhauser” ได้ค่าตอบแทนกว่า 8 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 300 ล้านบาท ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ในจำนวนนี้รวมถึงโบนัส 2.9 ล้านปอนด์หรือประมาณ 100 ล้านบาท เมื่อ 4 ปีที่แล้ว
อ่านเพิ่มเติม “Thomas Cook” 178 ปียังล้ม เมื่อพฤติกรรมนักท่องเที่ยวเปลี่ยน
แม้แต่นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันของอังกฤษ ยังวิจารณ์บรรดาผู้บริหารกลุ่มบริษัทนี้ ว่าเป็นเรื่องถูกต้องหรือไม่ที่บรรดาผู้บริหารจ่ายผลตอบแทนให้ตัวเองก้อนโต ทั้งที่ธุรกิจอาจไปไม่ไหว พร้อมเสริมว่าสิ่งที่ต้องถามตัวเองคือ จะป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหตุการณ์นี้ได้ยังไง
ปัจจัยหลายอย่างฉุดรั้งให้บริษัทไปต่อไม่ไหว รวมถึงเป็นรูปแบบธุรกิจเดิมๆ ที่มีสาขามากมายทำให้มีต้นทุนสูง ไม่สามารถแข่งขันได้ในยุคอินเทอร์เน็ต ซึ่งลูกค้าสามารถค้นหาวิธีจองตั๋วเครื่องบิน ที่พัก และเช่ารถได้เองทางออนไลน์ อีกทั้งยังเล็งไม่เห็นถึงภัยคุกคามและโอกาสจากนโยบายน่านฟ้าเสรีในยุโรป ก่อนที่สายการบินต้นทุนต่ำอย่าง easyJet กับ Ryanair จะแจ้งเกิดและได้รับความนิยม
ที่สำคัญ การมีหนี้สินก้อนโต สวนทางกับรายได้ที่ต่ำนั้น ไม่ใช่สูตรในการสร้างความสำเร็จอย่างแน่นอน
แต่บรรดาผู้บริหารของ Thomas Cook กลับหวังว่าธุรกิจจะฟื้นคืนชีพโดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการบริหาร ทั้งที่หนี้สินล้นพ้นและไม่มีธนาคารไหนเต็มใจยื่นมือเข้าช่วยปรับโครงสร้าง
Jim Collins กูรูด้านการบริหาร ชี้ว่าผู้นำบริษัทต้องเผชิญหน้ากับความจริงอันโหดร้ายในทุกสถานการณ์ และรับมือกับความจริงเหล่านั้น ไม่ใช่เอาแต่นั่งฝัน ผู้คนจำนวนมากได้รับผลกระทบเมื่อธุรกิจไปต่อไม่ไหว ผู้นำบริษัทต้องคำนึงถึงผู้ได้รับผลกระทบจากบริการของบริษัท และตำแหน่งงานต่างๆ ในบริษัท มากกว่าการคิดถึงผลตอบแทนที่ตัวเองได้รับ
เหนือสิ่งอื่นใด การที่บริษัทอายุเก่าแก่ล้มละลาย ไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้
การทําลายเชิงสร้างสรรค์ (Creative Dectruction) คือการเกิดขึ้นของสิ่งใหม่ ผลิตภัณฑ์ใหม่ หรืออุตสาหกรรมใหม่ที่ดีกว่าของเดิมเพื่อทดแทนของเก่า ผู้ให้นิยามคํานี้คือ Joseph Chumpeter นักเศรษฐศาสตร์ออสเตรีย สิ่งนี้ตอกย้ำว่าเทคโนโลยี ตลาด และลูกค้า ล้วนเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
การล้มละลายของ Thomas Cook ทำให้ลูกค้าในอังกฤษ 800,000 คนซึ่งจองบริการไว้ล่วงหน้า เริ่มกระบวนการขอเงินคืน ซึ่งอาจใช้เวลา 2 เดือนหรือมากกว่านี้
ขณะที่ค่าตั๋วสายการบินอื่น และราคาแพคเกจทัวร์บริษัทอื่น สูงขึ้นเพราะคนแห่กันไปใช้บริการ จนราคาหุ้นของ easyJet และ TUI ปรับตัวขึ้น 5% กับ 7% ตามลำดับ เพราะนักลงทุนมองว่าพอหมดยักษ์ใหญ่แล้ว บริษัทอื่นที่ให้บริการเกี่ยวกับการท่องเที่ยว จะขึ้นราคาบริการช่วงฤดูหนาวและหลังจากหน้าหนาวผ่านไปแล้วด้วย