ภายหลังจากที่ รมว.กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ออกแถลงข่าวเรื่องการร้องขอให้ Facebook ลบเนื้อหาไม่เหมาะสมบนแฟลตฟอร์มของตัวเองซึ่งขัดต่อกฏหมายไทย ล่าสุด Facebook ออกแถลงการณ์โต้บอกเป็นข้อเรียกร้องที่รุนแรง ขัดต่อหลังสิทธิมนุษยชนสากล
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึง กรณีเฟซบุ๊กเตรียมฟ้องรัฐบาลไทย หลังจากสั่งบล็อกกลุ่มเฟซบุ๊กกลุ่มหนึ่ง ชื่อ “รอยัลสิสต์มาร์เก็ต เพลส” ว่า “ตนทำตามกฎหมาย หลังจากนี้จะดำเนินการตามกฎหมายของเราต่อไป หากมีกรณีเช่นนี้อีกเราก็จะฟ้องเช่นเดิม แต่ขณะนี้ตนยังไม่เห็นว่าเฟซบุ๊กจะฟ้องที่ไหน อย่างไร แต่ยืนยันสิ่งที่เราดำเนินการเป็นไปตามกฎหมายทุกเรื่อง อะไรที่ผิดกฎหมายเราก็ไม่เคยเพิกเฉยและนี่เป็นครั้งแรกที่เราดำเนินการไปถึงเจ้าของแพลตฟอร์มที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลไทย เนื่องจากเราส่งคำสั่งศาลไปให้ลบเนื้อหาต่างๆที่ไม่ถูกต้องภายใน 15 วัน

หากเขาไม่ดำเนินการเราก็ดำเนินการกับแพลตฟอร์ม ถือเป็นการกดดันและทำตามกฎหมาย แต่หากเขาลบให้เราก็ไม่ดำเนินคดีเขา ส่วนที่เขาจะฟ้องกลับอย่างไร ตนก็ยังไม่ได้ดูรายละเอียดแต่ก็ต้องยืนยันว่าประเทศไทยก็มีกฎหมาย
ช่วงเวลาประมาณ 14.00 น. ตามเวลาประเทศไทย Facebook โดนมีใจความดังนี้
ตัวแทนจาก Facebook ระบุว่า “หลังจากที่ Facebook ได้พิจารณาอย่างระมัดระวังและถี่ถ้วนแล้ว เราตัดสินใจที่จะจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาที่ทางรัฐบาลไทยระบุว่าเป็นเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องจากรัฐบาลเช่นครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่รุนแรง และขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากล และยังส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออก การดำเนินงานของ Facebook มีจุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องและรักษาไว้ซึ่งสิทธิต่างๆ ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทุกคน”
“ขณะนี้เรากำลังเตรียมความพร้อมเพื่อโต้แย้งในข้อกฎหมายต่อข้อเรียกร้องครั้งนี้ การแทรกแซงที่เกินขอบเขตของรัฐบาลเช่นในกรณีนี้ยังถือเป็นการบั่นทอนความสามารถของ Facebook ในการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ตลอดถึงการดำเนินงานของสำนักงานในประเทศไทย การคุ้มครองดูแลพนักงานของบริษัทฯ และการให้ความช่วยเหลือสนับสนุนโดยตรงต่อธุรกิจต่างๆ ที่ต้องพึ่งพาแพลตฟอร์ม Facebook” ตัวแทนจาก Facebook กล่าว
สำหรับข้อเรียกร้องของรัฐบาลที่ Facebook แสดงความคิดเห็นในแถลงการณ์โต้แย้ง
- ประเด็นด้านเสรีภาพในการแสดงออกและกฎระเบียบที่ว่าด้วยการแสดงออกถือเป็นความท้าทายที่ซับซ้อนมากที่สุดและมีความสำคัญสำหรับเราในฐานะที่เป็นองค์กร โดยเป็นหัวข้อที่ต้องอาศัยการหาความสมดุลที่ละเอียดอ่อนเป็นอย่างยิ่งระหว่างการช่วยให้ผู้คนสามารถแสดงออกถึงความคิดอย่างเสรีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยไม่ขัดต่อกฎหมายท้องถิ่นและบรรทัดฐานทางวัฒนธรรม
- เมื่อเราได้รับคำขอจากรัฐบาลหรือหน่วยงานทางกฎหมายให้จำกัดการเข้าถึงของเนื้อหา เราได้ทบทวนว่าเนื้อหานั้นขัดต่อมาตรฐานชุมชนของเราหรือไม่ หากพบว่าเนื้อหานั้นละเมิดมาตรฐานชุมชน เราจะลบเนื้อหาทั้งหมดออกจากแพลตฟอร์ม
- ในกรณีที่เนื้อหานั้นไม่ได้ละเมิดมาตรฐานชุมชน เราจะนำเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจสอบทางกฎหมาย โดยกระบวนการทั้งสองขั้นตอนนี้เป็นไปเพื่อให้มั่นใจว่าคำขอนั้นถูกต้องตามกฎหมาย และเนื้อหานั้นมีการละเมิดกฎหมายท้องถิ่นจริง และเราอาจจำกัดการเข้าถึงเนื้อหานั้นๆ ในประเทศที่ระบุว่าขัดต่อกฎหมาย โดยใน ประเทศไทย คำขอเหล่านั้นได้ถูกดำเนินการในรูปแบบคำสั่งศาลที่มีการยื่นคำร้องจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
- เราดำเนินการอย่างโปร่งใสในการแจ้งถึงจำนวนเนื้อหาที่เราจำกัดการเข้าถึง โดยอิงจากกฎหมายท้องถิ่นในประเทศ ซึ่งสามารถดูรายละเอียดได้ที่รายงานเพื่อความโปร่งใส ซึ่งได้รับการปรับข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน ทุกๆ 6 เดือน
รมว.ต่างประเทศ ยืนยันสั่งปิดกลุ่มเฟซบุ๊กผิดกฏหมายมองว่า ดำเนินการในไทย ไม่สนถูกติงผิดหลักสากล
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี กรณีที่เฟซบุ๊ก เตรียมฟ้องรัฐบาลไทย หลังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ขอให้เฟซบุ๊กสำนักงานใหญ่ บล็อกเพจหรือบัญชีผู้ใช้ที่ทางรัฐบาลอ้างว่า เป็นการจาบจวงสถาบัน อาทิ กลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ต เพลส โดยนายดอน ระบุว่า ว่า ขณะนี้ฝ่ายกฎหมายของกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับเรื่องนี้กำลังพิจารณาในข้อกฎหมายและกำลังดูที่มาที่ไปของเรื่องนี้ แต่ถ้าผู้โพสต์ทำผิดกฏหมายของรัฐบาลก็อยู่ในฐานะที่ใช้กฎหมายของไทยเข้ามาควบคุมให้เกิดความถูกต้อง

นายดอนกล่าวอีกว่า เรื่องสิทธิเสรีภาพตามกฎหมายระหว่างประเทศ ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่จะมาใช้ในกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศไทยได้หรือไม่นั้นต้องพิจารณาดูว่าเว็บนั้นคุณสมบัติอย่างไร นำเสนอเรื่องที่ดีที่เกิดขึ้นกับประชาชนหรือสังคมไทยได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ทำอย่างนั้นก็จะนำไปสู่ปัญหา
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าแต่ทางเฟซบุ๊ก อ้างว่าถือกฎหมายระหว่างประเทศเป็นหลัก นายดอน กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นเฟซบุ๊กมีการดำเนินการในประเทศไทย เราจึงมีวิธีการ สิทธิอำนาจ ในการเข้าไปพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแผ่นดินไทย สิ่งที่ตนพูดคือในแง่ของหลักการ แต่กรณีที่เกิดขึ้นยังไม่ทราบรายละเอียด ส่วนอะไรก็ตามที่ละเมิดกฏหมายไทยถือว่าไม่ถูกต้อง และที่ผ่านมาเมื่อไหร่ที่เกิดความไม่ถูกต้องขึ้นในประเทศไทย เราได้ขอความร่วมมือทางเฟซบุ๊กประจำประเทศไทยจะได้รับความร่วมมือมาตลอด
เมื่อถามว่ากรณีที่เฟซบุ๊กจะฟ้องรัฐบาลไทย อาจบานปลายจนนำไปสู่การพิจารณาถอนการลงทุนในไทย นายดอน กล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่องนี้ต้องรอดูรายละเอียดก่อน เช่นเดียวกับกรณีที่เฟซบุ๊ก มองว่ารัฐบาลไทยเป็นผู้ที่ทำผิดหลักสากล ในเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก