“ชูวิทย์” โพสต์ว่าที่นายกฯอีกคน ทำนิติกรรมอำพราง เลี่ยงภาษี 500 ล้าน
ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมืองชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก เตรียมเปิดข้อมูลร้อนวันนี้ ระบุคนอยาก “นายกฯ” อีกคน มีพฤติการณ์ “นิติกรรมอำพราง”

ข้อความระบุว่า “นายกฯคนใหม่” ของไทย พิธาถือหุ้นไอทีวี42,000 หุ้น เป็นสื่อที่ปิดไปแล้ว 20 ปี ยังไม่ได้ทำความเสียหายให้กับรัฐแม้แต่บาทเดียว แต่คนอยากเป็น “นายกฯ” อีกคน มีพฤติการณ์นิติกรรมอำพราง เป็นที่ประจักษ์ แทนที่จะ ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์เนื่องจากเคยร่วมทำนิติกรรมอำพรางช่วยหนีภาษี ทำให้รัฐไม่ได้เงินภาษี 500 ล้านบาท อย่างนี้ จะเป็นนายกฯ ที่สง่างามหรือไม่?
นอกจากนี้นายชูวิทย์ ยังคอมเมนต์ของโพสต์ดังกล่าว โดยระบุว่า ให้โอกาสจับมือก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน ให้อำนาจเก่าจัดรัฐบาลเสียงข้างน้อย อนาคตยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้งใหม่
“วันนอร์” รอผลประชุม วิป 3 ฝ่าย ก่อนเคาะเลื่อนโหวตนายกฯ
วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา กล่าวถึงกรณี ผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาขอให้วินิจฉัยกรณีที่ประชุมรัฐสภา ลงมติข้อบังคับการประชุมรัฐสภา เป็นเกณฑ์เสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล ที่ถูกตีตกซ้ำ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม เป็นการกระทบสิทธิ และขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ว่าให้ฝ่ายกฎหมายหารือร่วมกันในวันนี้

ก่อนจะนำข้อหารือไปหารือกับวิป 3 ฝ่าย ในวันที่ 26 กรกฎาคม เวลา 14.00 น. และต้องฟังผลการหารือของ 8 พรรคร่วมรัฐบาลมาประกอบการพิจารณาด้วยว่าจะเลื่อนการโหวตนายกฯออกไปก่อนหรือไม่
อย่างไรก็ตามการประชุมในวันที่ 27 ก.ค. จะมีการบรรจุญัตติการแก้รัฐธรรมนูญ ให้ยกเลิกการใช้มาตรา 272 ที่เป็นบทเฉพาะกาลยกเลิกให้ ส.ว.ไม่ใช้สิทธิ์โหวตนายกฯ
“ธนกร” อัด “ก้าวไกล” ถามแรง “พิธา” เป็นนายกฯได้คนเดียวหรือ?
ธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่าพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นั้นเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลต้องเข้าใจระบอบประชาธิปไตย และควรทำความเข้าใจกับสมาชิกพรรคที่รักใคร่ เพราะบรรยากาศแบบนี้เหมือนกับปล่อยไปสู่ความขัดแย้งในที่สุด แกนนำจะตั้งรัฐบาลอันดับ 1 คือวันนี้พอเป็นนายกฯไม่ได้ ไม่มีใครเป็นได้แล้วหรือ นอกจากคุณพิธา เพราะที่ผ่านมาหากอันดับ 1 ตั้งไม่ได้ ก็อันดับ 2 ตั้งไป เป็นเรื่องปกติมากทางการเมือง และที่บอกว่ารอไปสัก 10 เดือน

ส่วนตัวมองว่าเมื่อเลือกตั้งเสร็จกลไกการจัดตั้งรัฐบาล การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีก็ควรเดินหน้าไป ไม่ควร แม้มีอุปสรรคบ้าง เพราะมันเป็นการเมืองแบบรัฐสภา ซึ่งสามารถแก้ไขได้ ไม่ควรรอถึง 10 เดือนเพราะประเทศเสียหาย และประชาชนเฝ้ารอดูอยู่ และนักธุรกิจก็เฝ้ารอดูอยู่
ท่าทีพรรครวมไทยสร้างชาติ หลังเดินทางร่วมหารือกับพรรคเพื่อไทยเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่าเป็นไปตามที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค ได้แสดงจุดยืนไปแล้ว แต่จะร่วมกันหรือไม่ ต้องมาหารือร่วมกันภายในพรรคก่อน ซึ่งจะมีการประชุม ส.ส.ในวันพุธที่ 26 เวลา 16.00 น. โดยหัวหน้าและเลขาธิการพรรค จะนำผลการหารือมาพูดคุยในที่ประชุม ส.ส.และกรรมการบริหารพรรค พร้อมกับย้ำว่าก่อนหน้านี้หัวหน้าพรรคเคยแสดงเจตจำนงไปแล้วว่ามีแนวคิดอย่างไร
ทั้งนี้ยืนยันว่าส.ส.ภายในพรรคเป็นเอกภาพ ดังนั้น การพูดคุยเจรจาถ้ามีเงื่อนไขทำเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ตนก็คิดว่า ส.ส.ของพรรคไม่มีปัญหา
“ชัยธวัช” ให้เพื่อไทยตัดสินใจ เปิดดีลรัฐบาลข้ามขั้ว
ชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคก้าวไกล ตอบคำถามกรณีมีสัญญาณจาก พรรคเพื่อไทย มาบ้างแล้วหรือไม่ หลังจากที่มีการพูดคุยกับหลายพรรคการเมืองในขั้วรัฐบาลปัจจุบันว่า พรรคก้าวไกลยังไม่ได้รับสัญญาณจากพรรคเพื่อไทย แต่มีประชุม 8 พรรคร่วมในวันนี้ (25 ก.ค.) ต้องรอฟังจากพรรคเพื่อไทยเอง

ส่วนการที่หลายพรรคออกมาพูดว่าจะไม่ร่วมกับพรรค ก.ก.ที่มีการแก้ไขมาตรา 112 นายชัยธวัชกล่าวว่า คิดว่าชัดเจนอย่างที่เคยยืนยันมาหลายครั้งว่าการยกเรื่องมาตรา 112 มาเป็นแค่ข้ออ้าง หลายพรรคการเมืองพูดออกมาชัดเจนว่าอย่างไรก็จะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกลเพราะมีอุดมการณ์และแนวทางการทำงานการเมืองที่แตกต่างกัน พรรคเพื่อไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดตั้งรัฐบาล อยู่ที่การตัดสินใจของพรรคเพื่อไทยแต่อย่างไรก็ตาม ท่าทีของ ส.ว.ที่พรรคเพื่อไทยไปคุยมีข้อเสนอแนะเรื่องนี้ ก็จะรอฟังว่ารูปธรรมและรายละเอียดจะเป็นอย่างไร ซึ่งต้องฟังข้อเสนอก่อน ส่วนจะมีการถอยในมาตรา 112 หรือไม่ อยู่ที่ข้อเสนอของฝ่ายต่างๆที่ไปคุยกัน
115 คณาจารย์นิติศาสตร์ ค้านห้ามเสนอชื่อ “พิธา” โหวตนายกฯซ้ำ
ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยทางเฟซบุ๊กถึงกรณีมีแถลงการณ์จาก 115 คณาจารย์นิติศาสตร์ 19 สถาบัน เรื่อง ไม่เห็นด้วยกับมติของรัฐสภาที่ให้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ

จากการลงมติของรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมาในการตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภาให้ “การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี”ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 159 เป็น “ญัตติ” ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41 ซึ่งกำหนดว่า “ญัตติใดตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน” การเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่สองจึงทำไม่ได้นั้น
คณาจารย์นิติศาสตร์115 คนเห็นว่ามตินี้มีความไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมายหลายประการ เช่นปัญหา ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 41 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่เป็นปัญหาเรื่องรัฐสภาการตีความข้อบังคับของตนเองโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญ แม้รัฐสภาจะสามารถตีความข้อบังคับของตนเองได้ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 151 แต่ต้องเป็นการตีความข้อบังคับโดยไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะข้อบังคับการประชุมรัฐสภาอยู่ในลำดับชั้นกฎหมายที่ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ และแท้ที่จริงแล้วมติของรัฐสภาที่ตีความว่าการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 และมาตรา 272 อยู่ในบังคับของข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 41 นั้นเป็นการ “ตีความรัฐธรรมนูญ” ว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 159 และมาตรา 272 อยู่ใต้ข้อบังคับของรัฐสภา ซึ่งรัฐสภาหาได้มีอำนาจที่จะทำเช่นนั้นไม่
ผลของการลงมตินี้ไม่ใช่แค่เรื่องของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ พรรคก้าวไกล แต่คือบรรทัดฐานที่ผิดพลาดของรัฐสภาในการพิจารณาญัตติที่เป็นกระบวนการตามรัฐธรรมนูญที่จากนี้ไปจะเสนอได้ครั้งเดียวทั้งหมด โดยไม่สนใจเรื่องลำดับชั้นของกฎหมาย และที่สำคัญที่สุดคือบรรทัดฐานที่เสียงข้างมากของรัฐสภาสามารถตีความข้อบังคับการประชุมของตนเองให้ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดได้