เตือน!! 6 หมื่นโรงงานรายงานการใช้/เก็บสารเคมีด่วน
นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยการประกอบกิจการโรงงาน ประเภทที่มีการเก็บหรือการใช้สารเคมี หากโรงงานมีการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยสารเคมีที่ไม่เหมาะสม อาจเป็นเหตุให้ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อทรัพย์สินและสิ่งแวดล้อม ทั้งในโรงงานและชุมชนโดยรอบได้ กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) จึงได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง มาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับการจัดการสารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 เพื่อเปลี่ยนช่องทางการรายงานข้อมูล และลดความซ้ำซ้อนของการจัดทำรายงาน เป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานที่ต้องรายงานข้อมูลให้ภาครัฐ

อีกทั้งยังเป็นการปรับรอบการรายงานให้สอดคล้องกับการรายงาน ร.ง. 9 คือ ภายในเดือนเมษายนของปีถัดไป สำหรับการรายงานข้อมูลในรอบปีแรกของการบังคับใช้กฎหมาย 6,498 โรงงานที่อยู่ในบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงฯ ต้องส่งรายงานภายใน 31 สิงหาคม 2566 และที่ไม่อยู่ในบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงฯ อีก 54,140 โรงงาน ต้องส่งรายงานภายใน 1 ตุลาคม 2567 ผ่านระบบรายงานข้อมูลกลางของกระทรวงอุตสาหกรรม (iSingle Form) หากไม่ส่งรายงานตามกำหนด มีโทษปรับสูงสุด 20,000 บาท โดยในปี 2567 กรอ. ตั้งเป้าให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานส่งรายงานข้อมูลครบ 100 %
EU ดีเดย์มาตรการภาษีคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน 1 ต.ค. 66 นี้
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวถึงมาตรการปรับภาษีคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดนของสหภาพยุโรป (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) เป็นหนึ่งในมาตรการภายใต้นโยบายแผนปฏิรูปสีเขียวของสหภาพยุโรป เพื่อป้องกันการรั่วไหลของคาร์บอน (Carbon Leakage) และลดความเหลื่อมล้ำในการแข่งขันจากผู้ผลิตต่างชาติที่มีมาตรการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เข้มข้นน้อยกว่าสหภาพยุโรป ซึ่งมีผลบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 1 ตุลาคม 2566

โดยคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูงต่อการรั่วไหลของคาร์บอนในกระบวนการผลิต ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย พลาสติก และไฮโดรเจน สศอ. จึงเสนอแนะผู้ประกอบการไทยที่จะส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังตลาดสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาให้ยังคงสามารถรักษาฐานลูกค้าเดิมได้ จะต้องรายงานปริมาณคาร์บอนในกระบวนการผลิตที่ปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศตามมาตรการ CBAM รวมถึงเตรียมความพร้อมด้านต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการวางแผนปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลง การจ่ายค่าปรับภาษีคาร์บอนหรือการซื้อใบรับรอง CBAM (CBAM Certificate) ตลอดจนพัฒนาระบบการผลิตเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้น้อยที่สุด
กรมพัฒน์ฯ จับมือ AWS…ส่งตู้เติมเงิน ‘กะปุก’ ให้ร้านโชห่วยทั่วไทย
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้รับการสนับสนุนตู้เติมเงิน ‘กะปุก’ หรือ ‘Kapook’ จำนวน 200 ตู้ จากบริษัท แอดวานซ์ เว็บ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AWS ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธมิตรโครงการสมาร์ทโชห่วย พลัส เพื่อดำเนินการมอบให้แก่ร้านค้าทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการฯ ในปีนี้ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ภายใต้แนวคิด ‘ขยายฐานลูกค้าด้วยเทคโนโลยีใกล้บ้าน’ ซึ่งตู้กะปุกสามารถให้บริการเติมเงินโทรศัพท์มือถือ วอลเลท (Wallet) บัตรเงินสด เพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการโชห่วย

โดยการนำตู้กะปุกซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้าไปให้บริการเสริมแก่คนในชุมชน เป็นการให้บริการเพิ่มเติมจากการขายสินค้าอุปโภค-บริโภคตามปกติ ช่วยขยายฐานลูกค้าให้มีความหลากหลาย ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการก็มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น อีกทั้ง ยังเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าในการเติมเงินโทรศัพท์มือถือ หรือชำระค่าบริการประเภทต่างๆ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน โดยสามารถทำธุรกรรมได้ที่ร้านสมาร์ทโชห่วยใกล้บ้าน ทำให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่าย จากการประเมินเบื้องต้น การให้บริการตู้กะปุก 1 ตู้ จะมีรายได้ประมาณ 30,000 – 50,000 บาท ต่อปี
หวั่น!ข้าวขาดแคลน หลายประเทศเพิ่มนำเข้า ดันออเดอร์ไทยโตกว่า 14%
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยสถานการณ์ส่งออกข้าวไทยช่วง 4 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-เม.ย.) ไทยส่งออกข้าวได้ปริมาณ 2.62 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออกปริมาณ 2.29 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 14.41% มีมูลค่าการส่งออก 48,612 ล้านบาท หรือ 1,436 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 23.29% และ 19.37% ตามลำดับ

โดยตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญ ได้แก่ อิรัก อินโดนีเซีย แอฟริกาใต้ สหรัฐฯ และจีน ส่วนปัจจัยที่ทำให้ไทยส่งออกข้าวได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากประเทศผู้นำเข้าข้าวสำคัญยังคงมีความต้องการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการข้าวในประเทศและรักษาความมั่นคงทางอาหาร และราคาข้าวไทยอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ ด้วยปริมาณผลผลิตข้าวไทยเพิ่มขึ้นจากปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อการเพาะปลูก แต่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาท ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันด้านราคา
หอการค้าหวังตั้งรัฐบาลใหม่ไม่ยืดเยื้อสร้างความเชื่อมั่นไร้รอยต่อ
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการจัดตั้งรัฐบาลของ 8 พรรคการเมือง พร้อมการลงนาม MOU ที่ประกอบด้วยเนื้อหา 23 ข้อ และ 5 แนวทางปฏิบัติว่า เป็นการเตรียมความพร้อมของชุดนโยบายต่าง ๆ ที่เชื่อว่าจะออกมาได้ทันทีหลังจากกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จ

ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในแง่การสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วน ในการเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศแบบไร้รอยต่อ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ภาคเอกชนจับตามองคือกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลที่สามารถดำเนินการได้อย่างเรียบร้อยไม่ยืดเยื้อ เพื่อให้ประเด็นต่างๆ ที่ทุกพรรคได้ตกลงกันไว้ผ่าน MOU สามารถนำไปขับเคลื่อนในเชิงนโยบาย และการปฏิบัติได้จริงอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงการเข้ามาเร่งจัดทำงบประมาณประจำปี เพื่อให้แผนงานและโครงการต่างๆ ของประเทศดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง