นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ไทยต้องเจอกับการขาดดุลแฝด ทั้งขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและขาดดุลงบประมาณ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาตลอด แต่ในปี 64 นี้จะขาดดุล 1.5% ต่อจีดีพี หรือขาดดุล 15,000 ล้านดอลลาร์ และปี 65 เกินดุล 500 ล้านดอลลาร์ หรือเกินดุล 0.8% ต่อจีดีพี และขาดดุลบัญชีงบประมาณ 5% ในปี 64 รวมแล้วการขาดดุลแฝดมีถึง 6.5% ต่อจีดีพี เหมือนทำธุกิจก็ขาดทุน ทำธุรกิจต่างประเทศก็ขาดทุน รัฐบาลทำธุรกิจก็ขาดทุน โดยในมุมมองตลาดปี 65 มีโอกาสขาดดุล 3.7% ต่อจีดีพี

ขณะเดียวกันเรื่องเงินเฟ้อยังกดดันเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ถ้านโยบายการเงินเหยียบเบรกเร็ว การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะทรุดลงไป ซึ่งจะสัมพันธ์กับค่าเงินบาทอาจยังไม่กลับมาแข็งค่าเหมือนช่วงก่อนโควิด ซึ่งอาจผันผวนมาก จากนโยบายการเงินของสหรัฐ คาดปี 64 เงินบาทจะอยู่ที่ 32.8 บาทต่อดอลลาร์ และคาดสิ้นปี 65 ที่ 32.3 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนดอกเบี้ยนโยบายของไทย ไม่ใช่ว่าเงินเฟ้อขึ้น ดอกเบี้ยจะต้องขึ้น เงินเฟ้อขึ้นจากอุปทานเป็นหลัก แต่นโยบายการเงินเป็นการบริหารเศรษฐกิจในด้านอุปสงค์ ฉะนั้นการขึ้นดอกเบี้ยไม่ใช่ว่าราคาจะลดลง อาจยังไม่เหมาะที่จะขึ้นดอกเบี้ย
นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยปี 64 จะขยายตัว 0.2% จากเดิมที่เคยมองว่าจะติดตบ และคาดปี 65 จะขยายตัว 3.7% เช่นเดียวกับกระทรวงการคลัง และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)ให้ไว้ 4% ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ให้ 3.9% โดยหวังว่าการบริโภคจะฟื้นตัว หลังจากเปิดประเทศ ทำให้คนจับจ่ายใช้สอย และจากการใช้จ่ายภาครัฐ รวมทั้งการลงทุนในบางส่วน ส่วนการท่องเที่ยวเริ่มทยอยฟื้นตัวในปี 65 จะมีนักท่องเที่ยว 2 ล้านคน จากปี 64 จะมี 1.8 แสนคน
“เงินบาทยังผันผวน ซึ่งยังไม่น่าไว้วางใจเพราะยังมีเก็งกำไรค่าเงินในเอเชีย โดยเฉพาะไทยเมื่อ 2-3 วัน เงินบาทกลับมาแข็ง แม้เก็งกำไรค่าเงินบาทน้อยลงก็ตาม แต่ไม่นิ่งนอนใจ ตัวละครเดิม คือ ปัญหาโควิดเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนสูง”