กสิกรไทย คาดการณ์เงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าถึงปี 63 จากปัจจัยดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล และธปท.มีข้อจำกัดในการลดดอกเบี้ยนโยบายในรอบถัดไป ประเมินเงินบาทค่อย ๆ แข็งค่าในปี 63 โดยมีโอกาสแตะ 29.25 บาท/ดอลลาร์ เมื่อจบสิ้นปี 63
นางสาววรันธร ภู่ทอง ผู้ชำนาญการสายงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุนอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย กล่าวในงานสัมมนาจับตาเศรษฐกิจไตรมาส 4 ว่า ปัญหาสงครามการค้ายังคงยืดเยื้อต่อไปอีกนาน เนื่องจากสหรัฐฯและจีนยังไม่มีข้อตกลงระยะยาวร่วมกัน ซึ่งกสิกรมองว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเร็วขึ้น แต่ยังไม่ใช่ในปี 63
ดังนั้นนักลงทุนยังคงให้ความสนใจลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงระยะสั้นถึงระยะกลาง โดยคาดว่าเงินบาทยังคงแข็งค่าต่อไป ส่วนประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลักยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาสงครามการค้าที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ โดย IMF ปรับคาดการณ์การโตของเศรษฐกิจโลกมาอยู่ที่ระดับ 3% และยังมองว่าสงครามการค้าส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกในปีหน้า 0.8%
ส่วนปีนี้ถ้าธนาคารกลางทั่วโลกไม่ลดดอกเบี้ยนโยบายลง อาจทำให้สงครามการค้าส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจโลกปีนี้ 0.5% ซึ่งกสิกรยังคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะลอดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกครั้งในช่วงสิ้นเดือน ต.ค.นี้ จากปัจจัย เศรษฐกิจสหรัฐฯอ่อนแอลง เนื่องจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวลง 2 เดือนติดต่อกัน
การขยายตัวของดัชนีตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯปรับตัวลงมาเรื่อย ๆ ซึ่งเห็นได้จากการลงทุนในทองคำปรับตัวสูงขึ้นและราคาทองคำปรับขึ้นไปแล้ว 17% ส่วนสกุลเงินอย่าง เยน และสวิตช์ฟรัง เป็นสกุลเงินที่แข็งค่าที่สุดในโลก ส่วนดอลลาร์สหรัฐฯ อาจจะอ่อนค่าลงได้อีก เนื่องจากเฟดมีท่าทีลดดอกเบี้ยนโยบายลง จากมาตรการกีดกันการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน
ขณะที่ฝั่งยุโรป เศรษฐกิจมีความเสี่ยงมากกว่าประเทศอื่น ๆ เห็นได้จากการขยายตัวของเศรษฐกิจเยอรมันที่พยุงยุโรปมาโดยตลอดมีสัดส่วน 30% ของยุโรป โดยเศรษฐกิจเยอรมันในช่วงไตรมาส 2 ปี 62 หดตัว -0.1 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/62 และไตรมาส 3 ยังมีแนวโน้มหดตัวต่อ โดยจะเป็นปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจยุโรป
นอกจากนี้ยังมีปัญหาเบรกซิท ที่มีการเจราเป็นเวลานาน และอาจจะมีการเลื่อนเบรกซิทออกไปอย่างน้อยในวันที่ 31 ธ.ค.62 ทำให้การลงทุนในยุโรปยังไม่มีความแน่นอนต่อนักลงทุน ส่งผลให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะผ่อนคลายนโยบายค่าเงินต่อเนื่อง และค่าเงินยุโรปมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อไป
ด้านเงินบาทเป็นสกุลเงินที่แข็งค่าที่สุดในเอเชีย โดยนักลทุนมองเงินบาทเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในระยะกลางถึงระยะยาว แม้จีดีพีในปี 62 จะขยายตัวได้ในระดับ 2.8% ตามที่ธนาคารกสิกรคาดการณ์ จากผลกระทบสงครามการค้า และการส่งออกที่หดตัวลง ซึ่งปัญหาดังกล่าวอาจส่งผลให้ธนาคารกลางแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาลดดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในปีนี้ เพื่อให้การส่งออกไทยสามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้
ทว่า ไทยดำเนินนโยบายการเงินในระดับ 1.2%-1.5% มายาวนาน 5 ปี ถือว่าเป็นอัตราต่ำอยู่แล้ว ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการลดดอกเบี้ยของ ธปท. นอกจากนี้ยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงระดับ 80% เมื่อเทียบกับ GDP ซึ่งมีการก่อหนี้สูง และการลดดอกเบี้ยอาจจะเพิ่มหนี้ในประเทศมากขึ้นได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุล 4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯอีกด้วย ยิ่งเป็นปัจจัยโครงสร้างสนับสนุนให้เงินบาทไม่สามารถอ่อนค่าลงได้อย่างง่าย ๆ ขณะเดียวกัน Moody’s ยังมีท่าทีปรับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีก ยิ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เงินบาทจะยังแข็งค่าต่อไปได้อีกในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม ธปท. ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่า โดยที่ผ่านมา ธปท. พยายามรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทโดยการเข้าแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อค่าเงินบาทแข็งก็ทำการซื้อดอลลาร์สหรัฐฯ และขายเงินบาททิ้งเพื่อสะสมดอลลาร์สหรัฐฯแทน ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลง
แต่ ธปท. ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้อย่างต่อเนื่อง เพราะถูกกระทรวงการคลังสหรัฐฯจับตามองว่าเป็นการแทรกแซงค่าเงิน นอกจากนี้ยังมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง แต่ก็มีข้อจำกัดทำให้การลดดอกเบี้ยนโยบายทำได้ยากในรอบถัดไป โดยกสิกรประเมินว่าการลดดอกเบี้ยนโยบายไม่สามารถทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงนี้
ทั้งนี้ ธปท.ออกประกาศว่าจะออกมาตรการลดการแข็งค่าของเงินบาท ด้วยการพยายามให้นักลงทุนไทยสามารถลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศมากขึ้น และอีกมาตรการคือการสนับสนุนให้ดุลบัญชีเดินสะพัดไทยเกินดุลลดลง เนื่องจากการนำเข้าต่ำกว่าการส่งออกมาโดยตลอด ซึ่งจะมีการควบคุมการซื้อขายทองคำ โดยอาจช่วยลดการส่งออกไปได้บ้าง และจะมีการสนับสนุนให้มีการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นบ้าง แต่เป็นไปได้ยากในช่วงนี้เนื่องจากงบประมาณรัฐบาลออกมาล่าช้า
จากปัจจัยทั้งหมด ยิ่งทำให้นักลงทุนมองว่าเงินบาทเป็นสินทรัพย์ที่น่าลงทุนมากกว่าสกุลเงินอื่น และเชื่อว่าเงินบาทจะยังแข็งค่าต่อไปในระยะยาว โดยลากยาวถึงปลายปี 63 ซึ่งในปีหน้าเงินบาทจะทยอยแข็งค่าขึ้นเรื่อย ๆ และปิดสิ้นปี 63 ที่อัตรา 29.25 บาท/ดอลลาร์
ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง : ธนาคารกสิกรไทยตั้งเป้าปี 63 เน้นใช้ดาต้าปล่อยสินเชื่อรวมเติบโต 4-6%