นายกฯ ร่วมงานตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (23 ส.ค. 66) เวลา 09.10 น. ณ โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำคณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าพบ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

เพื่อประชาสัมพันธ์ “งานตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย ครั้งที่ 18” ประจำปี 2566 น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จ พระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2566 โดยมีนายศรัญญู พูลลาภ รองอธิบดีกรมหม่อนไหม ว่าที่ร้อยตรี ธีระนันท์ พิจารโชติ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีหม่อนไหม นางพรพิณี บุญบันดาล ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์ และนางสาวนุชจรี วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาหม่อนไหม เข้าร่วมด้วย
นายกรัฐมนตรีรับฟังความเป็นมาเกี่ยวกับหม่อนไหมและเยี่ยมชมเส้นไหม กระเป๋าผ้าไหม ผ้าไหม ผลิตภัณฑ์หม่อนไหม ที่ชนะการประกวดการแข่งขันสาวไหม ผ้าไหมและผลิตภัณฑ์หม่อนไหมระดับประเทศ ประจำปี 2566 ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีชื่นชมผู้ผลิต นักออกแบบ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่นำหม่อนไหมมาสร้างสรรค์ผลงาน ใส่ความเป็นไทยจนเกิดความสวยงาม และประณีต ถือเป็นอีกหนึ่ง Soft Power ของไทย ขอให้ทุกคนดูแลรักษาความเป็นไทยนี้ไว้และนำไปพัฒนา ต่อยอด ขยายตลาดออกไปสู่ต่างประเทศ
โดยการเอาความทันสมัยมาผสมผสานกับสิ่งที่เรามี เสริมเติมแต่งให้กับยุคสมัย เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ผ้าไหมไทย นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเชิญชวนให้ประชาชนทุกคน ช่วยส่งเสริมการใช้ผ้าไหมไทยให้แพร่หลายในประชาชนทุกกลุ่ม ซึ่งจะเป็นการสืบสาน รักษา และส่งเสริมผ้าไหมไทยให้เป็นที่รู้จักไปสู่ระดับสากลได้อีกทางหนึ่งด้วย
“อนุทิน” หารือประธานบริหารสมาคมอุตสาหกรรมการจัดงานแสดงสินค้าโลก
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ (23 ส.ค. 66) เวลา 8.30 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้นายไค ฮัทเทนดอฟ (Mr. Kai Hattendorf) กรรมการผู้จัดการและประธานบริหารสมาคมอุตสาหกรรมการจัดงานแสดงสินค้าโลก (UFI, The Global Association of the Exhibition Industry) เข้าพบหารือ โดยมีผู้บริหารสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) หรือ ทีเส็บ เข้าร่วมด้วย ณ ห้องรับรอง 1 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล

โดยการพบหารือมีขึ้นในโอกาสที่นายไค ฮัทเทนดอฟ เดินทางมาประเทศไทยระหว่างวันที่ 20-23 สิงหาคม 2566 เพื่อร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ ทีเส็บ และแถลงข่าวการจัดงาน UFI Asia Pacific Conference 2026 ร่วมกับภาคเอกชนไทย
นายอนุทิน กล่าวขอบคุณที่ UFI เลือกประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงาน UFI Asia Pacific Conference 2026 ซึ่งจะสร้างประโยชน์แก่ประเทศไทยในหลายมิติ อาทิ การต่อยอดจำนวนนักเดินทางต่างชาติจากอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้า เศรษฐกิจการท่องเที่ยว การค้า และการบริการที่เกี่ยวเนื่อง และการเดินทางมาไทยครั้งนี้ ประธานบริหาร UFI ก็ได้พบปะแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับผู้ประกอบการไมซ์ไทยหลายราย ซึ่งเป็นโอกาสที่ดี เนื่องจากผู้ประกอบไมซ์ไทยมีศักยภาพ และเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญของไทยด้วย
รองโฆษกฯ เผยความคืบหน้าโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้หารือกับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อยืนยันความพร้อมในการลงทุนในโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (Maintenance Repair and Overhaul : MRO) ซึ่งขณะนี้การบินไทยพร้อมลงทุน โดยอยู่ระหว่างเจรจาจัดหาพันธมิตรร่วมลงทุน ซึ่งเบื้องต้นมีเอกชนเสนอเข้าร่วมลงทุนจำนวนมาก

ทั้งนี้ จากการที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และคณะได้เดินทางไปเยี่ยมชมกิจการและรับฟังรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา การบินไทยได้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูจนประสบความสำเร็จ ซึ่งขณะนี้สถานะกระแสเงินสดมีเพียงพอ จึงมีความพร้อมลงทุนโครงการดังกล่าว โดยอยู่ระหว่างจ้างที่ปรึกษาเพื่อทบทวนรูปแบบการลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน คาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 3 – 4 เดือน
ครม. เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนและประเทศคู่เจรจา
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างเอกสารและร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนและประเทศคู่เจรจาในกรอบความร่วมมือต่างๆ แถลงการณ์ร่วมอาเชียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 (ASEAN Joint Statement on Climate Change to UNFCCC COP 28)

แสดงถึงความมุ่งมั่นของ อาเซียนในการดำเนินการตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพพูมิอากาศและความตกลงปารีสภายใต้หลักความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างโดยคำนึงถึงขีดความสามารถของแต่ละประเทศและสถานการณ์ของประเทศที่แตกต่างกัน โดยมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่วดล้อม หรือผู้แทนเห็นชอบ (Endorsement ) ในการประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอาเซียนครั้งที่ 17 ในวันที่ 22-24 สิงหาคม 2566 ณ สปป.ลาว และให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนร่วมรับรอง (Adoption) ในการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit ) ครั้งที่ 43 ในวันที่ 5-7 กันยายน 2566 ณ อินโดนีเซีย
ปลื้ม! ผลบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ พบผู้ใช้ซื้อสินค้า สูงสุดกว่าร้อยละ 99
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี รับทราบรายงานการประเมินผลการดำเนินงานและความคุ้มค่าในการจัดประชารัฐสวัสดิการ ประจำปี 2565

รายงานการสำรวจความพึงพอใจในการจัดประชารัฐสวัสดิการจากผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและผู้ได้รับบริการทางสังคม ประจำปี 2565 สรุปผลได้ ดังนี้
(1) ค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค – วงเงิน 200 บาท/คน/เดือน อัตราใช้สิทธิร้อยละ 98.21 และอัตรามูลค่าการใช้ร้อยละ 99.92 -วงเงิน 300 บาท/คน/เดือน อัตราใช้สิทธิร้อยละ 98.68 และอัตรามูลค่าการใช้สิทธิร้อยละ 99.91
(2) ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม -วงเงิน 45 บาท/คน/3 เดือน อัตราการใช้สิทธิร้อยละ 24.48 และอัตรามูลค่าการใช้สิทธิร้อยละ 99.75
(3) ค่ารถโดยสารสาธารณะ -รถไฟ วงเงิน 500 บาท/คน/เดือน อัตราใช้สิทธิร้อยละ 0.37 และอัตรามูลค่าการใช้สิทธิเร้อยละ 52.26 -บขส. วงเงิน 500 บาท/คน/เดือน อัตราการใช้สิทธิร้อยละ 0.10 และอัตรามูลค่าการใช้สิทธิร้อยละ 85.83 – ขนส่งในเขต กทม. และปริมณฑล วงเงิน 500 บาท/คน/เดือน อัตราการใช้สิทธิร้อยละ 10.05 และอัตรามูลค่าการใช้สิทธิร้อยละ 33.02
(4) ค่าสาธารณูปโภค – ค่าไฟฟ้า วงเงิน315บาท/ครัวเรือน/เดือน อัตราการใช้สิทธิร้อยละ 7.98 -ค่าน้ำประปาวงเงิน 100 บาท/ครัวเรือน/เดือน อัตราการใช้สิทธิร้อยละ 2.24
ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐใช้สิทธิค่าซื้อสินค้าอุปโภคสูงสุด ซึ่งส่วนใหญ่ใช้วงเงินเกือบเต็มจำนวนในคราวเดียว รองลงมาคือ ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม ขณะที่สวัสดิการค่าโดยสารรถสาธารณะ มีจำนวนผู้ใช้น้อย เนื่องจากข้อจำกัดประเภทรถโดยสารที่ใช้กับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีจำนวนน้อย รวมทั้งยังมีการกำหนดวงเงินแยกรายประเภทรถโดยสาร