#ไม่สนิทอย่าติดหมี แฮชแท็กนี้ที่ใครๆ ก็พูดถึงกัน โดยเมื่อวันศุกร์ (23 ส.ค.) ที่ผ่านมามีคนค้นหาใน Google จนติดอันดับ Top10 ของ Google Trend เพราะมีคนสืบย้อนกลับไปถึง “Emoji” รูปหมีที่น่ารักว่านี่คือการสื่อความหมายเป็นโค้ดลับอะไรระหว่างกันหรือไม่
จริงๆ แล้วถ้าลองสังเกตการพูดคุยกับเพื่อน การโพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดีย เราจะพบว่าตอนนี้ เราเริ่มมีการพูดคุย โต้ตอบกับเพื่อนโดยที่เราไม่ต้องพิมพ์เป็นข้อความ แค่ส่งเป็นสติกเกอร์ หรือ Emoji เราก็เขาใจว่าอีกฝ่ายต้องการสื่อสารอะไร หรือแม้การโพสต์อะไรลงโซเชียลมีเดีย ไม่มีตัวอักษรแม้แต่ตัวเดียว มีแต่อีโมจิ รูปหมี รูปหัวใจ คนเห็นก็เข้าใจได้ว่า เราโพสต์เรื่องอะไร
ข้อดีอย่างหนึ่งของ “Emoji” คือ แม้เราจะพูดคนละภาษา อยู่คนประเทศ แต่เราก็เข้าใจความหมายของมันได้ เรียกว่าเป็นลดช่องว่างเรื่องการภาษาได้ระดับหนึ่ง ส่วนข้อดีอีกอย่างคืออีโมจิสามารถบ่งบอกอารมณ์ของคู่สนทนาผ่านรูปภาพได้ และนี่คือเทรนด์การสื่อสารในโลกดิจิตอลที่เรียกว่า “Wordlessness”
17 กรกฎาคม วันอีโมจิโลก
Emoji เป็นคำภาษาญี่ปุ่นที่รวมคำ 2 คำ คือ E ที่แปลว่ารูปภาพ และ Moji ที่แปลว่าบุคลิกลักษณะ รวมกันจึงหมายถึง รูปภาพที่บ่งบอกบุคลิกลักษณะ โดยมีต้นกำเนิดมาจาก “ชิเกทากะ คุริตะ” นักออกแบบของบริษัทเครือข่ายโทรศัพท์ NTT DoCoMo ของญี่ปุ่น
โดย “ชิเกตาเกะ” ได้ไอเดียมาจากรูปที่สื่อสภาพอากาศในรายการข่าวทีวี ซึ่ง Emoji เวอร์นั่นแรกเริ่มใช้ในปี 1999 โดยอยู่ในรูปแบบของ Pixel ขนาด 12X12 Pixel ซึ่งเหมาะใช้งานกับโทรศัพท์มือถือ
ส่วนวันที่ 17 กรกฎาคมที่ถูกตั้งให้เป็น “วัน Emoji โลก” เพราะวันดังกล่าว คือวันที่ Emoji ถูกแสดงอยู่สัญลักษณ์รูปปฏิทินของไอโฟน และปัจจุบันถูกพัฒนาเพิ่มเข้าไปในทุกระบบปฏิบัติการ โดยในปี 2015 “Oxford Dictionary” ประกาศให้ “ Emoji รูปใบหน้ากับน้ำตาแห่งความยินดี” (Face with Tear of Joy emotion) เป็นคำแห่งปี

แบรนด์ใช้ “ Emoji ” ช่วยเข้าถึงลูกค้า
มีรายงานของ Appboy พบว่าแบรนด์สินค้าเริ่มมีการใช้ “Emoji” อย่างแพร่หลายโดยเฉพาะในทวิตเตอร์ บรรดาแบรนด์ต่างๆ มักใช้อีโมจิแบบพิเศษในแคมเปญต่างๆ ด้วย โดยข้อมูลจาก Appboy ในปี 2016 พบว่าอีโมจิที่แบรนด์ใช้มากที่สุดคือ “Emoji พลุกระดาษ” ตามมาด้วย “Emoji ประกายวิ้ง”

Emoji กลายเป็นการสื่อสารที่ทรงพลังสำหรับแบรนด์ เพราะสามารถเน้นข้อความหรือความสำคัญ ที่ใช้แทนการสื่อสารที่ไม่อาจบอกความรู้สึกออกมาเป็นตัวอักษรได้ แต่แบรนด์ต้องเลือกใช้งานที่เหมาะสมกับแบรนด์ ใช้สื่อตามความเหมาะสม และต้องตรวจสอบว่า Emoji ที่สื่อสารไปนั้น ผู้บริโภคมีปฏิกริยาอย่างไร ตรงตามความต้องการของเราหรือไม่
WWF เคยใช้ Emoji สื่อสารถึงสัตว์ใกล้สูญพันธุ์
เมื่อปี 2015 WWF เคยใช้อีโมจิรูปสัตว์ 17 ตัว สื่อสารผ่านแคมเปญ #EndagerredEmoji เพื่อสร้างการตระหนักถึงสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ เพื่อรณรงค์ให้คนช่วยกันปกป้องสัตว์ป่าเหล่านี้

สำหรับ Emoji ที่มีลักษณะคล้ายกับชนิดพันธุ์สัตว์ป่านานาชนิดที่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) และ ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically endangered) ได้แก่ ช้างเอเชีย เสือโคร่ง เสือโคร่งสุมาตรา จระเข้พันธุ์สยาม แพนด้ายักษ์ เต่าตนุ ลิงสไปเดอร์ วาฬสีเทาตะวันตก โลมาเมาอิ หมาป่าแอฟริกัน เสือดาวอามูร์ เพนกวินกาลาปากอส กบใบไม้ลีเมอร์ วาฬสีน้ำเงิน งูแอนติกวน อูฐสองหนอก และปลาทูน่าครีบน้ำเงิน
โดยแคมเปญนี้ได้ถูกพัฒนาขึ้นโดยเอเยนซี่โฆษณาชื่อดังระดับโลก Wieden+Kennedy ของอังกฤษ เพื่อระดมทุนจากคนทั่วไปที่สื่อสารผ่านทางทวิตเตอร์ ทุกครั้งที่ใช้ Emoji จะช่วยบริจาคเงินให้กับ WWF เพื่อการทำงานในการปกป้องสัตว์ป่าเหล่านี้