ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ขาดกรณีห้ามเสนอชื่อ “พิธา” เป็นนายกฯซ้ำ
สมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงข่าวภายหลังการประชุมด่วนช่วงเช้าของวันนี้ (24 ก.ค.) ว่ามีมติให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ในการวินิจฉัยการลงมติของที่ประชุมรัฐสภาที่ไม่ให้เสนอชื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีรอบที่ 2 เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2566 ถือเป็นการเสนอญัตติซ้ำหรือไม่ และเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ นอกจากนี้ยังให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งชะลอการโหวตนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และให้กำหนดมาตรการและวิธีการชั่วคราวในการเสนอบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเรื่องนี้นี้เกิดขึ้นหลังจาก พรชัย เทพปัญญา นักวิชาการอิสระ และบุญส่ง ชเลธร อาจารย์คณะนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 เข้าชื่อเพื่อขอให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยว่าการที่ที่ประชุมรัฐสภา ในวันที่ 19 ก.ค.มีมติว่าการเสนอชื่อพิธา เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาลงมติเป็นนายกรัฐมนตรี ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อที่ 41 เป็นการเสนอญัตติซ้ำนั้นเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้หรือไม่ และหากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องก็ขอให้มีคำสั่งไปยังที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาให้ยุติการเลือกนายกรัฐมนตรีออกไปก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
“ชัยธวัช” เชื่อ “เพื่อไทย”ไม่ผลักก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน ย้ำไม่ร่วมงานพรรคสืบทอดอำนาจ
ชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคก้าวไกล เปิดเผยว่าวันนี้พรรคก้าวไกลได้มีการประชุมส.ส.ออนไลน์ โดยที่ประชุมมีมติขอยืนยันสัจจะที่ให้ต่อประชาชน และไม่สามารถร่วมรัฐบาลกับพรรคการเมืองที่สืบทอดอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ หรือพรรคร่วมไทยสร้างชาติ และจะพยายามอย่างถึงที่สุดในการผนึก 8 พรรคการเมืองที่สะท้อนเสียงของประชาชนกว่า 27 ล้านเสียง เพื่อจัดตั้งรัฐบาลที่ได้รับการยอมรับจากประชาชน พาประเทศไปสู่เส้นทางที่ถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย อันมีอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน

ทั้งนี้ในการหารือกับ 8 พรรคร่วมในวันพรุ่งนี้ (25 ก.ค.) คงไม่มีมติขับพรรคก้าวไกลออกจากพรรคร่วม เพราะปัจจัยสำคัญอยู่ที่ก้าวไกลกับเพื่อไทย เนื่องจากเป็นสองพรรคที่รวมกันแล้วเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภา 292 เสียง แต่เมื่อสุดทาง ไม่มีทางอื่นแล้ว พรรคเพื่อไทยก็คงจะต้องเลือกว่า มีอุดมการณ์และแนวทางทำการเมืองที่ตรงกับใครมากกว่ากัน ระหว่างพรรคก้าวไกล และ 5 พรรคที่ได้เชิญมาพูดคุย ดังนั้น ขออย่าเพิ่งคิดไปไกลว่าการประชุมในวันพรุ่งนี้ จะต้องมีการฉีก MOU
“อนุทิน” ไม่หวังนายกฯส้มหล่น เอาใจช่วยพรรคอันดับ 1–2 ตั้งรัฐบาลให้ได้
อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีกระแสเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลอาจมาถึงพรรคอันดับ 3 ว่า ยังไม่เห็นข่าวนี้ มันยังไกลตัว ล่าสุดเพิ่งไปหารือกับผู้บริหารจากพรรคอันดับ 2 บรรยากาศเป็นไปด้วยดี

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่าหากมีการส่งไม้ต่อจากพรรคเพื่อไทย พร้อมจะทำหน้าที่เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ นายอนุทินตอบว่า ตอนนี้ขอให้กำลังใจพรรคที่จัดตั้งรัฐบาลก่อน เป็นมารยาท เป็นการให้เกียรติพรรคอันดับที่สูงกว่าเรา ที่ไปหารือกันแค่ไปบอกว่าภูมิใจไทยติดขัดเรื่องอะไรบ้าง พรรคยังไม่ถึงบทบาทที่ต้องมาคิดเรื่องตั้งรัฐบาล การพูดคุยที่ผ่านมาถือเป็นนิมิตหมายที่ดีเพราะในอดีต ถ้าอยู่คนละขั้วก็คุยกันลำบาก แต่แบบนี้ถือว่าได้แลกเปลี่ยนความเห็นซึ่งกันและกัน
ส่วนประเด็นให้รัฐบาลรักษาการไป 10 เดือน อนุทินตอบว่า ไม่ควรต้องปล่อยเวลาให้นานขนาดนั้น บ้านเมืองต้องมีรัฐบาล คนมาทำงานการเมืองต้องเสียสละและต้องคิดถึงชาติบ้านเมืองให้มากๆ ต้องยึดบ้านเมืองเป็นหลัก
“เพื่อไทย” ยังไม่สรุปเลื่อนโหวตนายกฯหรือไม่ อัดข้อเสนอรัฐบาลรักษาการ 10 เดือนโลกสวย
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการประสานพูดคุยกับ วุฒิสมาชิก (สว.) ว่าการพูดคุยกับ สว.พรรคเพื่อไทยมีคณะทำงานไปพูดคุยรายบุคคล โดยการพูดคุยกับ 8 พรรคร่วมวันที่ 25 ก.ค. เราจะนำการบ้านที่ 8 พรรคมอบให้เพื่อไทยในฐานะพรรคแกนนำไปดำเนินการ เราจะเสนอคำตอบของสว. และ สส.ว่ามีความเห็น เงื่อนไข อย่างไร

เมื่อถามว่ามีคำแนะนำจากสว.บางบอกว่าหากไม่มีพรรคก้าวไกลเขาพร้อมโหวตให้ จะนำเรื่องนี้เข้าสู้ที่ประชุมหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เป็นคำตอบของสว.แต่ละท่าน เป็นข้อมูลนำเข้าที่จะไปพูดคุยในที่ประชุม โดยในขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าญัตติการโหวตนายกรัฐมนตรีที่กำหนดไว้วันที่ 27 ก.ค.นั้นขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะเลื่อนหรือไม่
เมื่อถามถึงข้อเสนอให้เลื่อนโหวตออกไป 10 เดือนจนกว่าสว.จะหมดอำนาจ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวได้รับการวิพากษ์วิจารณ์พอสมควร สิ่งที่เราต้องมาดูคือผลสัมฤทธิ์จะเป็นตามที่เราคาดหวังหรือไม่ แต่ระบบรัฐสภาเป็นระบบเสียงข้างมาก แม้เราอยากจับมือกันไป 10 เดือน ถ้าเสียงข้างมากเขาไม่ยอม แทนที่จะได้สิ่งที่เราต้องการเหมือนไปส่งเสริมสิ่งที่ทุกคนไม่อยากทำข้อแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ตลอดนี้คือผลกระทบทางการเมือง สิ่งที่คาดการกันไว้อาจเกิดขึ้นได้ฃ
เมื่อถามว่าในทางการเมืองสามารถรอ 10 เดือนให้สว.หมดอำนาจได้หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวย้ำว่า สิ่งที่ตนตอบไปคือมิติทางการเมืองที่เรากลัว อีกทั้งยังมีผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เราต้องไปดูในรายละเอียด
“สว.เสรี” บอก “เพื่อไทย” ไม่ต้องเสียเวลามาคุยกับ สว.ชี้รู้จุดยืนอยู่แล้วว่า สว.ไม่เห็นด้วยกับการแก้กม.กระทบความมั่นคงชาติ
เสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยเตรียมส่งนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เจรจากับส.ว.ว่า ตนมองว่าไม่จำเป็นและไม่ต้องมา เนื่องอาจจะเกิดปัญหาเนื่องจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญส.ว.ต้องไม่ตกอยู่ในอาณัติของพรรคการเมืองใด ส.ว. มีจุดยืนชัดเจนแล้วว่า หากมีพรรคการเมืองใด พี่จะแก้รัฐธรรมนูญในหมวดที่ 1 และหมวดที่ 2 หรือแก้ไขกฎหมายใดที่จะไปกระทบต่อสถาบันหลักของชาติ ส.ว. ไม่สนับสนุน

หากพรรคเพื่อไทย รวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลให้เพียงพอ และมีนโยบายที่ไม่กระทบต่อสถาบันหลักของชาติ เชื่อว่าส.ว.พร้อมสนับสนุน ส่วนที่มีข้อเสนอให้เลื่อนการโหวตนายกฯ รอบ3 วันที่27 ก.ค.นี้ ออกไป มองว่าส.ว.ไม่ขัดข้อง แต่ขอให้พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลไปพูดคุยตกลงกันให้ได้ข้อสรุปก่อนว่าจะเอาอย่างไร
กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. ให้สัมภาษณ์ประเด็นเดียวกัน ว่า ตนชัดเจนว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวหรือก้าวก่ายการจัดตั้งรัฐบาล แต่จะไม่โหวต ไม่สนับสนุนให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ อย่างไรก็ดีหากพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลโดยไม่มีพรรคก้าวไกล เรื่องดังกล่าวส.ว.ไม่เกี่ยว ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยส่งนายสุริยะเจรจากับส.ว.นั้น คงไม่มาพบตนเพราะเป็นเป็นเด็ก คงมีผู้ใหญ่ที่จะไปคุย