บริษัท บ้านปู วางกลยุทธ์เกาะกระแสสิ่งแวดล้อมหันจับธุรกิจพลังงานทดแทน-เอนเนอร์ยี เทคโนโลยี ตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานทดแทน 1,000 MW ในปี 68 มั่นใจเติบโตได้ปีละ 20%
นางสาวสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯได้มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องการทำธุรกิจให้สอดคลัองกับเทรนด์ของโลกมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากตลอด 1 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯได้มีการรุกธุรกิจประเภทพลังงานสะอาดมากขึ้นภายใต้แคมเปญจน์”กรีนเนอร์สมาร์ทเทอร์”
ขณะเดียวกัน ยังได้มีการผสนมผสานระหว่างการลดสารคาร์บอนไดออกไซด์ และการกระจายพลังงานสู่ลูกค้าปลายทางโดยตรง ซึ่งไม่ผ่านการไฟฟ้าฝ่านผลิต (กฟผ.) ที่เป็นตัวกลางในการจำหน่ายไฟมากขึ้น เช่นในโรงงาน โรงแรม และโรงพยาบาลต่าง ๆ ซึ่งบริษัทฯ ได้มีการตั้งหน่วยธุรกิจขึ้นมาผลิตโซลาร์บนหลังคาและขายต่อให้ลูกค้าโดยตรง ทำให้ขณะนี้บริษัทฯ ได้ก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทที่ให้บริการพลังงานแบบครบวงจร ตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ได้แล้ว
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญกับการผลิตพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยังต้องมีราคาไม่แพงจนเกินไป ซึ่งจะทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการใช้พลังงานได้อย่างทั่วถึง โดยจะนำไปสู่การสร้างความยั่งยืนให้กับการใช้พลังงานอีกด้วย
ปัจจุบัน บริษัทมีกำลังการผลิตพลังงานทดแทน 560 MW จากกำลังการผลิตที่มีทั้งหมด 2,300 MW โดยภายในปี 68 ตั้งเป้าจะเพิ่มกำลังการผลิตของพลังงานทดแทนเป็น 1,000 MW ซึ่งจะเป็นการเพิ่มกำลังการผลิตควบคู่ไปกับพลังงานรูปแบบเก่า โดยจะทำให้ทั้งพอร์ตโฟลิโอของบ้านปูมีกำลังการผลิตทั้งหมด 4,300 MW
อย่างไรก็ตาม แม้บริษัทฯ จะเริ่มหันมาเน้นธุรกิจพลังงานทดแทนมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่รายได้กระแสเงินสดยังคงมาจากธุรกิจรูปแบบเก่า เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน และแก๊ส เป็นต้น แต่เชื่อว่าภายในปี 65 บริษัทฯจะสามารถเพิ่มสัดส่วนกระแสเงินสดในธุรกิจพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นตามความต้องการบริโภคของผู้บริโภค
ภายในปี 68 บริษัทฯตั้งเป้าปรับสัดส่วนกระแสเงินสดจากธุรกิจต่าง ๆ ดังนี้ ธุรกิจใหม่อย่างเอนเนอร์ยี่ เทคโนโลยี เดิมมีกระแสเงินสดคิดเป็น 0% ของรายได้ทั้งหมด ตั้งเป้าจะเพิ่มเป็น 10%, ธุรกิจแก๊สจากปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้ที่ 10% ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 20%, ธุรกิจโรงไฟฟ้าปัจจุบันมีรายได้ 20% ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 30% และธุรกิจโรงไฟฟ้าถ่านหินปัจจุบันมีรายได้ 70% ตั้งเป้าลดเหลือ 40%
สำหรับการปรับลดเป้ากระแสเงินสดของธุรกิจโรงไฟฟ้าถ่านหิน ไม่ได้หมายความว่าจะมีกระแสเงินสดเข้ามาน้อยลงหรือจะไม่มีการเติบโตขึ้นเลย แต่จะเป็นการเติบโตแบบลดลง โดยเปิดโอกาสให้ธุรกิจใหม่เติบโตมากขึ้น ซึ่งคาดว่าธุรกิจเก่าจะยังเติบโตอยู่ที่ 3% ต่อปี แต่ธุรกิจใหม่จะเติบโตขึ้น 20% ต่อปี
ทั้งนี้ ธุรกิจให้บริการพลังงานมีการแข่งขันที่สูง เนื่องจากผู้ให้บริการสามารถเข้าสู่ตลาดได้โดยง่าย ซึ่งมีกำลังการผลิตไม่ถึง 5MW ก็สามารถเข้ามาให้บริการได้แล้ว แต่ถ้าหากมองจากตลาดของประเทศไทยยังเชื่อว่ามีโอกาสเติบโตน้อยอยู่ ซึ่งการเติบโตแบบก้าวกระโดดจะอยู่ในตลาดต่างประเทศ ดังนั้นบริษัทขนาดใหญ่ยังคงได้เปรียบในการแข่งขันกับผู้ให้บริการรายเล็ก ๆ อยู่เช่นกัน
ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งความแตกต่างที่จะทำให้บ้านปูมีความโดดเด่นมากกว่าผู้ให้บริการรายอื่นคือ บ้านปูจะมีการสร้างแพลตฟอร์มบริการในรูปแบบ Internet of things (IOT) ขึ้นมาให้บริการลูกค้า โดยคาดว่าอีก 2-3 ปี ข้างหน้าจะสามารถเปิดให้บริการได้อย่างสมบูรณ์แบบ