SCG ชูนวัตกรรมรุกธุรกิจซึเมนต์-ก่อสร้าง ส่ง“CPAC CONSTRUCTION SOLUTION”แก้ปัญหาให้ลูกค้าแบบครบวงจร ตั้งเป้าปั้นศูนย์ “CPAC SOLUTION CENTER” 20 สาขาทั่วไทย-ขยายเครือข่ายช่าง-ผู้รับเหมาท้องถิ่นจาก 2 พันคนเป็น 2 หมื่นคนในปี 2020 คาดรายได้ซีแพค 2.3 หมื่นล้านบาทในปีนี้

นายชนะ ภูมี Vice President – Cement and Construction Solution Business ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างเอสซีจี กล่าวว่า ภาพรวมในอุตสาหกรรมก่อสร้างในปัจจุบัน มีมูลค่าราว 1.44 ล้านล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 3% ซึ่งปัจจุบันธุรกิจรับเหมาก่อสร้างมีการแข่งขันกันสูงขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องมีการปรับตัวเพื่อเสริมขีดความสามารถทางการแข่งขันให้รับกับความเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ เอสซีจีจึงมีการพัฒนายกระดับกระบวนการทำงานของกลุ่มธุรกิจซีเมนต์และโซลูชั่นการก่อสร้าง (Cement and Construction Solution Business) ที่มีการบริหารจัดการทรัพยากรในการก่อสร้าง ทั้งวัตถุดิบ บุคลากร งบประมาณ และเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลประโยชน์ที่จับต้องได้ ผ่านกลยุทธ์ 3 ด้านคือ
1.การใช้ Construction Solution Technology ตอบโจทย์ความต้องการและการแก้ปัญหาให้ลูกค้าเจ้าของงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งช่างผู้รับเหมาบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทั้งรายใหญ่และรายย่อยและผู้เกี่ยวข้องอื่นๆได้อย่างครบวงจร มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานสูงสุด โดยซีแพค (CPAC) ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจีได้นำเทคโนโลยี และเครื่องมือการบริการที่ล้ำสมัยและได้มาตรฐานสากล เช่น เทคโนโลยีการออกแบบการตรวจสอบโครงสร้างและการขนส่งผนวกกับสินค้าคุณภาพสูง และความรู้ความเชี่ยวชาญมาพัฒนาเป็นโซลูชั่นใหม่ๆในการก่อสร้างที่ครบวงจร ภายใต้ชื่อ “CPAC Construction Solution”
นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัญหาสำคัญในการก่อสร้างคือการเกิดของเสีย (Waste) จำนวนมาก โดยเฉพาะการสำรองปริมาณวัสดุก่อสร้างเกินความจำเป็นที่นำมาซึ่งการสูญเสียทรัพยากรวัตถุดิบแรงงานคนเวลา และงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ จึงคาดว่าการใช้ Construction Solution Technology จะช่วยลดการเกิดของเสียในการก่อสร้างจากเดิมที่มีอยู่ 20% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 300,000 กว่าล้านบาทให้เหลือเพียง 10% หรือคิดเป็น 150,000 ล้านบาท จึงนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ด้วยกลยุทธ์
2.การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยตอบโจทย์การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าสูงสุด เช่น การใช้ BIM (Building Information Modeling) ซึ่งเป็นโมเดล 3 มิติ ที่รวมแบบสถาปัตย์ โครงสร้าง และงานระบบเข้าด้วยกันในการออกแบบก่อสร้างอาคาร ตั้งแต่เริ่มต้นทำให้สามารถวางแผนสั่งวัสดุต่างๆได้อย่างแม่นยำ และสามารถตรวจสอบตำแหน่ง หรือความผิดพลาดในจุดต่างๆผ่านโมเดลได้ก่อนลงมือสร้างจริง จึงช่วยลดของเสียจากการเผื่อวัสดุประหยัดพื้นที่จัดเก็บเวลา และต้นทุนการก่อสร้างรวมถึงการนำวัสดุเหลือใช้ในงานก่อสร้างเช่นเศษคอนกรีตหมุนเวียนกลับมาเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตอีกครั้ง ทำให้ของเสียกลายมาเป็นประโยชน์ที่เกิดกับทุกฝ่าย
3.การตั้ง“CPAC Solution Center” เป็นศูนย์รวมที่คนในวงการก่อสร้าง แต่ละจังหวัดสามารถมาแลกเปลี่ยนความรู้วิธีบริหารงานก่อสร้าง รวมถึงหาโซลูชั่นต่างๆในพื้นที่ ซึ่งซีแพคจะช่วยเชื่อมโยงนวัตกรรม หรือเทคโนโลยีจากผู้เกี่ยวข้องมาแก้ไขปัญหาต่างๆในงานก่อสร้างให้อย่างมีประสิทธิภาพ และครบวงจรโดยได้เปิด CPAC Solution Center แห่งแรกที่เชียงใหม่ เมื่อต้นปีที่ผ่านมาพร้อมตั้งเป้าเปิดครบ 9 สาขาทั่วทุกภาคในสิ้นปี 2562 ก่อนขยายเป็น 20 สาขาทั่วประเทศในปี 2563
ทั้งนี้ การลงทุนก่อสร้างในแต่ละสาขาใช้งบประมาณโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 200 – 300 ล้านบาทขึ้นอยู่กับขนาด โดยคาดหวังจะขยายเครือข่ายช่าง และผู้รับเหมาท้องถิ่นจาก 2,000 คนเป็น 20,000 คนในปี 2563

พร้อมกันนี้ บริษัทคาดว่ารายได้ในส่วนของธุรกิจซีแพคปี 2562 จะอยู่ที่ราว 23,000 ล้านบาท ซึ่งเติบโตใกล้เคียงกับปี 2561 หรือเติบโตตามจีดีพีของประเทศ
