“เหล็กนอก” มาแล้ว! “กรมการค้าต่างประเทศ” รับมือด้วยมาตรการ AD ที่เป็นธรรม
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯยืนยันการทบทวนมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) ของคณะกรรมการทุ่มตลาด ในสินค้าเหล็กแผ่นรีดเย็นชุบหรือเคลือบด้วยโลหะเจือของอะลูมิเนียมและสังกะสีแบบจุ่มร้อน (GL) จากเวียดนาม และสินค้าแผ่นเหล็กรีดร้อนจากบราซิล อิหร่าน และตุรกี เป็นไปตามหลักกฎหมาย เป็นกลาง โปร่งใส คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายและผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ โดยคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน มีหลักการใช้มาตรการตาม พ.ร.บ. การตอบโต้การทุ่มตลาดฯ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งกระบวนการพิจารณาถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจนภายใต้ พ.ร.บ. การตอบโต้การทุ่มตลาด ตามมาตรา 57

หากผลการทบทวนตามมาตรา 57 ปรากฏว่าสร้างผลกระทบต่อผู้ประกอบการในประเทศ กรมฯ ได้กำหนดการดำเนินการ 2 แนวทาง คือ 1) แจ้งด่วนต่อผู้ส่งออก ผู้นำเข้า และผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อตักเตือนไม่ให้มีพฤติกรรมการทุ่มตลาดมายังประเทศไทยอีก 2) กรมฯ จะเฝ้าติดตามการนำเข้าสินค้าจากประเทศต้นทาง หากมีพฤติกรรมที่ส่อแนวโน้มการทุ่มตลาดมายังประเทศไทย จะดำเนินการเปิดไต่สวนการทุ่มตลาดทันที เพื่อรักษาผลประโยชน์ประเทศ เกิดประโยชน์เที่ยงธรรมต่อทุกภาคธุรกิจให้อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
ท่องเที่ยวไทยฟื้นตัว ดันธุรกิจ “ฟู้ดทรัค” ฟื้นชีพ
นายญาณเดช ศิรินุกูลชร ประธาน TBIC Food Truck Thailand วิเคราะห์สถานการณ์ของธุรกิจรถอาหารเคลื่อนที่ หรือ ฟู้ดทรัค ในปี 2566 โดยรวมมีแนวโน้มกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยเฉพาะช่วงต้นปีและช่วงเทศกาลสำคัญๆ ที่งานอีเว้นท์และพื้นที่ตลาดมีความต้องการให้รถฟู้ดทรัคมาจอดขายในพื้นที่จำนวนมาก อีกทั้งสถานการณ์การท่องเที่ยวของไทยซึ่งเป็นหนึ่งในรายได้หลักของประเทศภาพรวมดีขึ้น กลุ่มนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวจีนทยอยเดินทางเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง บวกกับแผนการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ คาดว่าปี 2566 การขยายของธุรกิจฟู้ดทรัคจะกลับมาเติบโตร้อยละ 10 – 15 โดยประมาณการรถฟู้ดทรัคในประเทศจะเพิ่มขึ้นเป็น 3,300 คัน เพิ่มจากปี 2565 ที่มีประมาณ 3,000 คัน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างเงินหมุนเวียนจากการขายอาหาร/เครื่องดื่มภายในประเทศ ไม่ต่ำกว่า 3,600 ล้านบาท

โดยฟู้ดทรัคในไทยมีสัดส่วนแบ่งตามประเภทรถ ประกอบด้วย รถกระบะ ร้อยละ 86 รถคลาสสิค ร้อยละ 6 รถเทรลเลอร์ ร้อยละ 4 รถสามล้อ ร้อยละ 2 และ รถอื่นๆ ร้อยละ 2 ขณะที่สัดส่วนของประเภทสินค้า ประกอบด้วย เครื่องดื่ม ร้อยละ 25 อาหารอินเตอร์ ร้อยละ 23 อาหารไทย ร้อยละ 22 อาหารว่าง ร้อยละ 15 และ ของหวาน ร้อยละ 15
ผู้บริโภครอรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้ง ก่อนตัดสินใจซื้อบ้าน
นายวิทยา อภิรักษ์วิริยะ ผู้จัดการทั่วไป Think of Living และ ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ ฝั่งดีเวลลอปเปอร์ กล่าวว่า แม้ความต้องการซื้อและเช่าที่อยู่อาศัยโดยรวมจะลดลงจากไตรมาสก่อน แต่มีทิศทางเติบโตอย่างน่าสนใจ โดยความต้องการซื้อโดยรวมเพิ่มขึ้น 36% และเพิ่มขึ้นทุกประเภทที่อยู่อาศัยเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดฯ จากดีมานด์ที่ปรับเพิ่มขึ้นนี้ คาดว่าที่อยู่อาศัยคงเหลือในตลาดจะค่อย ๆ ถูกดูดซับไป โดยภาพรวมยังไม่มีแนวโน้มจะเกิดภาวะสินค้าล้นตลาด ขณะที่ความต้องการเช่าเพิ่มขึ้นถึง 124% จากช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดฯ สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าเทรนด์เช่าที่อยู่อาศัยได้รับความนิยมมากกว่าการซื้อ เนื่องจากผู้บริโภคไม่มีเงินเก็บเพียงพอที่จะใช้ในการซื้ออสังหาฯ และการเช่ายังยืดหยุ่นเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคปัจจุบันมากกว่า

อีกประเด็นที่น่าจับตามองในปีนี้คือ การเลือกตั้งครั้งใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคและนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติชะลอการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงต้นปี 2566 ออกไปก่อน เพื่อรอดูความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายที่เกี่ยวข้องกับภาคอสังหาฯ รวมถึงแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ คาดว่าตลาดอสังหาฯไทยจะมีแนวโน้มดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 โดยการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวและการกลับมาของนักท่องเที่ยวชาวจีนและชาติอื่น ๆ จะช่วยกระตุ้นให้เกิดความต้องการซื้ออสังหาฯ รวมถึงส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจฟื้นตัวดียิ่งขึ้น
สสว.เผยธุรกิจท่องเที่ยวกลัวโรคระบาดรอบใหม่ ขาดทักษะ เงินทุน และแรงงาน
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยผลการสอบถามธุรกิจ SME เกี่ยวกับความพร้อมและมุมมองของธุรกิจ SME ภาคการท่องเที่ยวในปี 2566 ซึ่งสำรวจผู้ประกอบการ จำนวน 572 ราย จาก 6 ภูมิภาค ระหว่างวันที่ 20-29 มกราคม 2566 พบว่าเกือบร้อยละ 80 ของผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยวมองว่าปี 2566 จะฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังคงมีความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโรคอีกครั้งอย่างมาก ขณะที่ความพร้อมในการให้บริการของผู้ประกอบการอยู่ในระดับปานกลางถึงมาก มีบางส่วนที่ยังไม่พร้อม เนื่องจากขาดทักษะด้านภาษาในการสื่อสาร ขาดเงินทุน และขาดแรงงาน

สำหรับปัญหาและอุปสรรคที่ SME ภาคการท่องเที่ยวกังวลมากที่สุด คือ รายได้ของผู้บริโภคยังไม่ฟื้นตัว รองลงมาคือ ต้นทุนราคาสินค้า/วัตถุดิบ/น้ำมันเชื้อเพลิงแพง และความสามารถในการแข่งขัน ตามลำดับ โดยเกือบร้อยละ 30 ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือด้านกำลังซื้อและผู้บริโภคมากที่สุด ด้วยการออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย รองลงมาคือ ด้านการตลาด ต้องการให้ช่วยโปรโมทแหล่งท่องเที่ยวเมืองรองต่าง ๆ เพื่อลดการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยว และส่วนใหญ่มองว่าควรมีการขยายโครงการเราเที่ยวด้วยกัน และสิ่งที่ต้องการให้โครงการปรับปรุงมากที่สุด คือ การเพิ่มวงเงินส่วนลด
เอสซีจี หนุน “ภูเก็ต” เจ้าภาพ Specialised Expo 2028
นางวีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการสำนักงาน Enterprise Brand Management เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจี พร้อมสนับสนุนการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ Expo 2028 Phuket Thailand เพราะเป็นงานมหกรรมใหญ่ระดับโลก รองจาก World Expo ที่มีระยะเวลาการจัดงานนานถึง 3 เดือน เป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทย ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจจากนักเดินทางทั้งคนไทยและต่างชาติ รวมถึงเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทย

ในการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก ตลอดจนโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมแห่งอนาคตร่วมกับประเทศชั้นนำระดับโลก และหลังการจัดงาน พื้นที่ทั้งหมดจะพัฒนาเป็นศูนย์บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขระดับนานาชาติครบวงจร ก่อให้เกิดการพัฒนาทั้งด้านการแพทย์ สุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดี พร้อมกันนี้ เอสซีจี ยังเตรียมความพร้อมในการสนับสนุนโชว์เคสนวัตกรรมทางการแพทย์ พลังงานสะอาด สมาร์ทลิฟวิ่ง และการจัดประชุมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Green meeting ที่สอดคล้องกับธีมงานคือ ชีวิตแห่งอนาคต แบ่งปันความรุ่งเรือง อยู่ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว เพื่อนำไปสู่การสร้างความยั่งยืนร่วมกัน ทั้งในมิติสิ่งแวดล้อม สังคมและการกำกับดูแล ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินธุรกิจของเอสซีจี