ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยผลสำรวจคนกรุง มีแผนท่องเที่ยวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีเพิ่มขึ้น จากมาตรการกระตุ้นท่องเที่่ยวภาครัฐ คาดก่อให้เกิดรายได้แก่การท่องเที่ยวในประเทศกว่า 2 แสนล้านบาท เติบโต 2.6% จากปี 2561
ในช่วงไตรมาส 4 ของทุกปี จะเป็นช่วงที่คนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ สำหรับทิศทางการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยในช่วงนี้ น่าจะมีบรรยากาศที่ดีขึ้น จากการที่ภาครัฐได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของคนไทยอย่างมาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” โดยเปิดให้ผู้ที่จะเดินทางท่องเที่ยวสนใจลงทะเบียนรับสิทธิ์ 1,000 บาท เพื่อนำไปใช้จ่ายในระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ
รวมถึงผู้ที่ได้สิทธิ์ยังสามารถนำค่าใช้จ่ายจริงจากการเดินทางท่องเที่ยวมาขอคืนเงินได้อีก 15% ของค่าใช้จ่ายไม่เกินวงเงิน 30,000 บาท (ซึ่งเริ่มใช้สิทธิ์ได้ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย.-วันที่ 30 พ.ย. 2562) และการกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวในประเทศของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่ร่วมจัดทำกับผู้ประกอบการท่องเที่ยว ได้แก่ แคมเปญ “100 บาท เที่ยวทั่วไทย” และ “วันธรรมดาราคา Shock โลก” ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2562
สำหรับจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวของคนกรุงเทพฯในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 พบว่า คนกรุงเทพฯ มีการกระจายตัวไปยังสถานที่ท่องเที่ยวที่หลากหลายขึ้น โดยภาคเหนือยังเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของคนกรุงเทพฯ โดยเฉพาะ จ.เชียงใหม่ และจ.เพชรบูรณ์ ขณะที่จังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของคนกรุงเพทฯ รองลงมา อาทิ จ.ชลบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และจ.กาญจนบุรี เป็นต้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สำรวจพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวของคนกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นฐานตลาดการท่องเที่ยวที่มีขนาดใหญ่ มีการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อน การเดินทางท่องเที่ยวระหว่างกลับภูมิลำเนา และการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อการสัมมนา ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 โดยมีจำนวนกลุ่มตัวอย่าง 550 ตัวอย่าง ซึ่งการสำรวจเน้นไปยังกลุ่มคนกรุงเทพฯ ที่เดินทางเพื่อการท่องเที่ยว เพื่อศึกษาพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยว การเลือกจุดหมายปลายทางท่องเที่ยว กิจกรรมการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว และโดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีในการวางแผนการเดินทางท่องเที่ยว เป็นต้น สำหรับผลการสำรวจสรุปได้ดังนี้
- บรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. 2562 จากผลสำรวจ พบว่า คนกรุงเทพฯ มีแผนที่จะเดินทางท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วน 76.9% ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับผลสำรวจในช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่กลุ่มตัวอย่าง 22.2% มองว่า มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว (ในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. 62) มีผลต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยว
- ภาคเหนือโดยเฉพาะ จ.เชียงใหม่ และจ.เพชรบูรณ์ ยังเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของคนกรุงเทพฯ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 อย่างไรก็ดี คนกรุงเทพฯ มีการกระจายตัวไปยังสถานที่ท่องเที่ยวที่หลากหลายขึ้น
- กลุ่มตัวอย่างคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ มองว่า สื่อดิจิทัลออนไลน์ มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกจุดหมายปลายทางท่องเที่ยว ที่พักและการใช้บริการท่องเที่ยวอื่นๆ โดยเฉพาะเพจของบุคคลทั่วไป (Micro Influencer) ที่มีการรีวิวสถานที่ท่องเที่ยว โรงแรมที่พัก ร้านอาหารและร้านขายของในแหล่งท่องเที่ยวจนเป็นที่นิยมและมีผู้ติดตามจำนวนมาก ทำให้เกิดการแชร์และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การท่องเที่ยว
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2562 นี้ การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนกรุงเทพฯ น่าจะก่อให้เกิดรายได้แก่การท่องเที่ยวในประเทศเป็นมูลค่า 60,000 ล้านบาท ทั้งนี้ผู้ประกอบการควรใช้โอกาสจากการที่ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวในการเร่งทำตลาดในช่วงนี้ ขณะที่ทั้งปี 2562 คนกรุงเทพฯ เที่ยวไทยน่าจะก่อให้เกิดรายได้แก่การท่องเที่ยวในประเทศเป็นมูลค่าประมาณ 227,300 ล้านบาท เติบโต 2.6% จากปี 2561