ครม.อนุมัติก่อหนี้ใหม่ หลัง “กองทุนน้ำมัน-รสก.” ขอกู้เพิ่ม
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติแผนการก่อหนี้ใหม่ ปรับเพิ่ม 81,242.89 ล้านบาท จากเดิม 1,052.785.47 ล้านบาท เป็น 1,134,028.36 ล้านบาท ประกอบด้วย การก่อหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นของหน่วยงานอื่นของรัฐคือ สำนักงานกองทุนน้ำมันและเชื้อเพลิง (สกนช.)

ที่ปรับเพิ่มวงเงินกู้ระยะสั้นเพื่อเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมันและเชื้อเพลิงในประเทศจาก 30,000 ล้านบาท เป็น 110,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 80,000 ล้านบาท และการก่อหนี้ใหม่เพิ่มของรัฐวิสาหกิจ 1,242.89 ล้านบาท แยกเป็นส่วนที่ก่อหนี้เพิ่มคือ การยาสูบแห่งประเทศไทย เพิ่ม 1,500 ล้านบาท, บริษัท การผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น จำกัด เพิ่ม 1,194 ล้านบาท, การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เพิ่ม 300 ล้านบาท, องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เพิ่ม 250 ล้านบาท และส่วนที่ปรับลดวงเงินกู้ของ กฟน.ลดลง 1,500 ล้านบาท และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ลดลง 501.11 ล้านบาท
สำหรับการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2566 ครั้งที่ 1 ทำให้ประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะยังอยู่ภายใต้กรอบที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด คือสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 61.14% จากกรอบตามกฎหมายไม่เกิน 70% สัดส่วนหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณอยู่ที่ 32.92% จากกรอบตามกฎหมายไม่เกิน 35%
เลื่อนเวลาบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 สำหรับรถยนต์ใหม่ออกไปอีก 1 ปี
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการปรับเปลี่ยนกำหนดเวลาบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 สำหรับรถยนต์ใหม่ ตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” เป็นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป จากเดิมภายในปี 2564 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ภาคเอกชนไม่สามารถปฏิบัติตามกำหนดเวลาภายในปี 2564 ได้ จึงจำเป็นต้องเลื่อนกำหนดเวลาบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 ออกไป

โดยการบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป จะทำให้ภาคเอกชนมีความพร้อมในทางปฏิบัติ โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เตรียมบังคับใช้กฎหมายให้การผลิตรถยนต์ใหม่ต้องเทียบเท่ามาตรฐานยูโร 5 และภาคเอกชนหลายรายสามารถผลิตรถยนต์ใหม่ให้เป็นไปตามมาตรฐานยูโร 5 แล้ว โดยบางส่วนอยู่ระหว่างลงทุนเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิต
ส่วนมาตรการจูงใจนั้น กระทรวงการคลัง ได้กำหนดให้รถกระบะดีเซลที่มีค่า PM ไม่เกิน 0.005 กรัมต่อกิโลเมตร (เทียบเท่ามาตรฐานยูโร 5) จะได้ลดภาษีสรรพสามิต นอกจากนี้ กระทรวงพลังงาน ได้ออกประกาศกำหนดคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงที่เทียบเท่ามาตรฐานยูโร 5 รองรับไว้แล้ว
แบงก์ชะลอปล่อยสินเชื่อรายย่อยปี 66 ฉุดหนี้ครัวเรือนปรับตัวลดลง
ทิศทางดอกเบี้ยของไทยที่ยังคงเป็นขาขึ้น ทำให้ประชาชนรายย่อยและภาคครัวเรือนมีความระมัดระวังในการก่อหนี้ก้อนใหม่ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อยที่อ่อนไหวต่อการขยับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อาทิ สินเชื่อรายย่อยที่เป็นหนี้ก้อนใหญ่วงเงินกู้ยืมต่อสัญญาค่อนข้างสูงและมีการผ่อนชำระหลายปี เช่น สินเชื่อเพื่อการซื้อที่อยู่อาศัย สินเชื่ออเนกประสงค์ที่มีหลักประกัน รวมถึงสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์ ขณะที่สภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึงก็อาจทำให้สถาบันการเงินยังคงระมัดระวังความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้บางกลุ่มอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สินเชื่อรายย่อยในระบบแบงก์ไทยในปี 2566 น่าจะเติบโตในกรอบประมาณ 3.7-4.8% ชะลอลงจากที่เคยเติบโตเฉลี่ยประมาณ 6.0% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ขณะที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทย อาจชะลอลงต่อเนื่องเป็นปีที่สองมาอยู่ที่กรอบประมาณ 84.0-86.5% ในปี 2566 เทียบกับตัวเลขคาดการณ์สิ้นปี 2565 ที่ 86.8% และระดับ 90.1% ในปี 2564 ดังนั้น แนวโน้มหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยที่เริ่มมีทิศทางทรงตัวหรือปรับตัวลดลง
ยกระดับ Mobile Banking ตรวจจับแอปดูดเงิน ธปท.ยันไม่กระทบการใช้งาน
น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยกรณีที่ธนาคารหลายแห่งได้ปรับปรุงระบบการรักษาความปลอดภัยของ Mobile banking เพื่อป้องกันการหลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชันดูดเงินของมิจฉาชีพ ซึ่งรูปแบบหนึ่งของการหลอกลวงประชาชน ทำโดยการหลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอม (ไฟล์ติดตั้งนามสกุล .apk) ใช้ความสามารถของ Accessibility Service ของระบบปฏิบัติการ Android ในการควบคุมเครื่องของเหยื่อ

ดังนั้น ธนาคารจึงได้พัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยบน Mobile Banking ให้มีการตรวจสอบการใช้งานโทรศัพท์มือถือ อย่างน้อย 2 เงื่อนไข คือ 1. เปิดแอปพลิเคชันที่ทำงานภายใต้ Accessibility Service และ 2. การติดตั้งแอปพลิเคชันที่ติดตั้งจากนอก Official Store เช่น Play Store ซึ่งมาตรการดังกล่าว จะไม่เกิดผลกระทบต่อการใช้งานของผู้ใช้บริการโดยทั่วไป หากมิได้มีการใช้แอปพลิเคชั่นที่ติดตั้งจากภายนอก
ดีลอยท์ ชี้ 4 ความเสี่ยงลงทุนธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา
หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศร่างแนวทางการอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Banking) ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา นายบุญสม จารุศิริธรางกูร พาร์ทเนอร์ ที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงทางการเงิน ดีลอยท์ ประเทศไทย วิเคราะห์ความสำเร็จของธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาไม่น่าจะทำได้ง่ายนัก เนื่องจากเป็นกิจการประเภทใหม่ จึงทำให้มีความเสี่ยงที่สูง โดยความเสี่ยงเหล่านั้นจะมาจาก

1. การแข่งขันที่สูงขึ้นจากธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร ที่ต้องการรักษาฐานลูกค้าเดิมของตน
2. การกำกับดูแลอย่างเข้มงวดในช่วงแรกของการดำเนินงานจาก ธปท. ทำให้คาดการณ์ว่าธนาคารไร้สาขาจะไม่สามารถใช้วิธีการทุ่มตลาดเพื่อเพิ่มจำนวนลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ทำให้โอกาสเติบโตแบบก้าวกระโดดทำได้ยาก
3. การลงทุนเริ่มต้นที่สูงทั้งจากระบบงานสารสนเทศ และเงินกองทุนขั้นต่ำจำนวณ 5,000 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย ทำให้ต้นทุนโดยรวมอาจไม่ต่ำมากเท่าที่ควร
4. การเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่เรียกว่า กลุ่มลูกค้าที่เป็นลูกค้าที่มีรายปานกลางถึงต่ำ นั้นอาจทำให้โอกาสผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้น รวมถึงการไม่มีสาขาอาจทำให้ไม่สามารถรู้ถึงตัวตนที่แท้จริงของลูกค้านั้นได้เท่าที่ควร