HomeBT NewsBig Move “ชัชวาลย์ เจียรวนนท์” ทายาทซีพีลุยธุรกิจ Remittance 9 ล้านล้านบาท

Big Move “ชัชวาลย์ เจียรวนนท์” ทายาทซีพีลุยธุรกิจ Remittance 9 ล้านล้านบาท

จับตาการเคลื่อนไหวล่าสุดของ ชัชวาลย์ เจียรวนนท์ นักการเงินสายเลือดซีพี ผู้รุกเข้าสู่ธุรกิจฟินเทค โดยเฉพาะบล็อกเชน กระโดดเข้าสู่ธุรกิจโอนเงินระหว่างประเทศ (Remittance) ที่มีมูลค่าแตะ 9 ล้านล้านบาท เฉพาะในทวีปเอเชีย แม้แต่ธนาคาร สถาบันการเงิน ยังต้องขอแจมด้วย!!

ด้วยฐานลูกค้า แรงงานและเครือข่ายธุรกิจของกลุ่มซีพีที่มีอยู่ในประเทศไทยและเอเชีย โปรเจคท์ฟินเทคของชัชวาลย์ สามารถเข้ามาต่อยอดอาณาจักรซีพีได้อย่างดี เพราะยักษ์ใหญ่ของไทยรายนี้ครองตลาดอาหาร การเกษตร ค้าปลีก เอาไว้ได้หมดแล้ว ยังขาดจิ๊กซอว์สำคัญนั่นคือธุรกิจการเงิน

หากการผสมผสานธุรกิจในเครือซีพีเกิดขึ้นได้จริง อนาคตสาขาเซเว่นอีเลฟเว่นในประเทศไทยอาจจะเป็นธนาคารในตัวเอง (ปัจจุบันเป็น Selling Agent ให้ธนาคารพาณิชย์แล้ว) หรือ ทรู จะกลายเป็นผู้ให้บริการธนาคารออนไลน์ก็เป็นได้!!

- Advertisement -

หากก้าวแรกของ  ชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ในการบุกตลาดโอนเงินระหว่างประเทศสำเร็จ อะไรๆก็สามารถเกิดขึ้นได้ต่อไป

ข้อมูลจากธนาคารโลก (World Bank) ระบุว่าธุรกิจการโอนเงินระหว่างประเทศหรือ Remittance มีมูลค่าธุรกิจ 600,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯเป็นตลาดของกลุ่มรายได้น้อยและปานกลาง 485,000 ล้านเหรียญ เฉพาะในเอเชียมีมูลค่า 300,000 ล้านเหรียญ

ข้อมูลจากธนาคารโลกเผยอีกว่าแรงงานชาวเวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ติดสิบอันดับแรกของโลกในการโอนเงินกลับประเทศมูลค่ากว่า 56,000 ล้านเหรียญ โดยตลาด Remittance ในเอเชียปี 2561 เติบโตกว่า 12.8% จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจทำให้แรงงานต่างชาติส่งเงินกลับบ้านเกิดของตัวเองมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิคมีต้นทุนในการโอนเงินระหว่างประเทศสูงเป็นอันดับสองของโลกรองจากทวีปแอฟริกาตอนเหนือ และมีความเสี่ยงในการฟอกเงิน ต้นทุนของการโอนเงินระหว่างประเทศเฉลี่ยทั้งโลกอยู่ที่ 7% แต่ในเอเชียบางธุรกรรมต้นทุนสูงขึ้นแตะ 10% เช่นการโอนเงินจากไทยไปอินเดีย ไทยไปจีน สิงคโปร์ไปปากีสถาน ธนาคารโลกคาดหวังว่าต้นทุนดังกล่าวจะลดลงเหลือ 3% ในปี 2030

ต้นทุนการโอนเงินระหว่างประเทศที่สูงขึ้น ทำให้เกิดเทคโนโลยีที่จะเข้ามาลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกรรมนั่นคือบล็อกเชน แม้แต่ธนาคารขนาดใหญ่ของโลกยังต้องทุ่มกำลังลงมาพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวเพราะเป็นที่แน่ชัดว่าเทคโนโลยีเก่ากำลังจะถูก Disrupt อย่างแน่นอน

โดยฟินเทคที่เป็นผู้เล่นรายใหญ่ในธุรกิจนี้นั่นคือ Ripple ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหรียญ XRP เงินดิจิตอลที่มีมาร์เกตแคปใหญ่อันดับที่สามของโลกรองจากบิทคอยน์และ Ethereum โดยมีกลุ่มลูกค้าคือธนาคารขนาดใหญ่ของโลก ส่วนประเทศไทยมีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นทั้งผู้ร่วมลงทุนและลูกค้า

ชัชวาลย์ เจียรวนนท์ Remittance

พันธมิตรทั่วเอเชียหนุน Lightnet

ชัชวาลย์ เจียรวรานนท์ ประธานบริษัท  Lightnet เปิดเผยว่า Lightnet ก่อตั้งขึ้นเพื่อมาเป็นศูนย์กลางการชำระเงินแห่งใหม่เพื่อให้บริการทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ต้นทุนต่ำ และรวดเร็วทันใจแก่ประชากรมากกว่า 4 พันล้านคนทั่วทั้งเอเชีย ผ่านเทคโนโลยี Blockchain บนเครือข่ายระบบปฏิบัติการจากอเมริกาในนาม Stellar Network ซึ่งเป็นนวัตกรรมด้านการจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ที่จะมาเปลี่ยนโฉมโลกการเงินออนไลน์ในอนาคต

Lightnet ตั้งเป้าที่จะปฏิรูปตลาดการส่งเงินข้ามประเทศ (Cross-border Remittance Market) เริ่มต้นจากแรงงานข้ามชาติกว่า 11 ล้านคน ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงระบบการเงินของธนาคาร ทำให้ต้องพึ่งพาการใช้ระบบการเงินแบบเก่าที่มีต้นทุนสูง ทั้งยังกระจัดกระจาย และล้าสมัยอย่าง SWIFT รวมถึงบริการที่อันตรายอย่างการเงินใต้ดิน

ตลาดแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่อยูในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งบริการเหล่านี้มีมูลค่าสูงถึง 150,000 ล้านดอลลาร์ นับว่าเป็นต้นทุนที่สิ้นเปลืองและรอการเปลี่ยนแปลงด้วยเทคโนโลยีที่ดีกว่าอย่าง Smart Contract และ Blockchain”

ตฤบดี อรุณานนท์ชัย ผู้ก่อตั้งและรองประธานบริษัท Lightnet กล่าวเสริมว่า Lightnet ตั้งเป้าภายใน 3 ปี จะมีทำธุรกรรมการเงินได้มูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาท จากเครือข่ายพันธมิตร นั่นคือเหตุผลที่ต้องสร้างการสร้าง Ecosystem แก่ตลาดท้องถิ่นในการเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้บริการได้อย่างทั่วถึง

กลุ่มนักลงทุนชั้นนำของ Ligthnet นำโดย UOB Venture Management and Hanwha Investment and Securities ซึ่งเป็นเครือบริษัทที่ใหญ่และมีอิทธิพลที่สุดในสิงคโปร์และเกาหลีตามลำดับ รวมถึงบริษัท Seven Bank (TKO: 8410) จากกลุ่มบริษัท Seven & I Holdings ผู้เป็นเจ้าของแฟรนไชส์ 7-Eleven ทั้งหมดในญี่ปุ่นและร้านสะดวกซื้ออีกประมาณ 69,200 ร้านทั่วโลก

บริษัท Uni-President Asset Holdings บริษัทด้านลงทุนของ Uni-President Enterprises Corp., ผู้เป็นเจ้าของแฟรนไชส์ 7Eleven และ Starbucks มากกว่า 9,000 สาขาในไต้หวัน จีน และฟิลิปปินส์ รวมถึงบริษัท Hashkey Capital บริษัทด้านลงทุนของเครือบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านยานยนต์และการเงินในจีนอย่าง WanXiang Group ชัชวาลย์ เจียรวนนท์

ผู้ใช้บริการ Lightnet สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายกว่า 5 แสนรายจากเครือข่ายตัวแทนผู้ให้บริการ Lightnet ยังมีแผนที่จะเปิดตัวบนเครือข่ายพันธมิตร อีกหลายประเทศ อาทิ ประเทศญี่ปุ่นประเทศเกาหลีใต้ รวมถึงกลุ่มประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นระบบการโอนเงินข้ามประเทศและชำระเงินชั้นนำขอโลก อย่าง MoneyGram, Seven Bank, Yeahka และ Ksher ภายในปี 2563”

ชัชวาลย์ เจียรวนนท์ Remittance

————————————

บิ๊กเทคเอเชียกระโดดเข้าสู่สนามธุรกิจโอนเงินข้ามประเทศ

ไม่เพียงแต่สตาร์ทอัพด้านการเงินหรือฟินเทคที่พยายามยึดตลาดการโอนเงินระหว่างประเทศ แต่บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่เข้าของ Super App ในอาเซียนและเอเชีย ต่างหมายมั้นปั้นมือจะยึดตลาดนี้ด้วยเช่นกัน

Grab ผู้ให้บริการ Ride Hailing รายใหญ่ของเอเชีย แสดงเจตนาที่จะเข้าสู่ธุรกิจการเงินอย่างชัดเจนด้วยการพัฒนา GrabPay แพลตฟอร์มการชำระเงินของตัวเอง โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้ร่วมลงทุนที่เป็นสถาบันการเงินอย่าง Western Union

นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับสถาบันการเงินชั้นนำในภูมิภาคทั้งธนาคารยูโอบีของสิงคโปร์และธนาคารกสิกรไทยในการที่จะเข้าถึงประชากรในภูมิภาคอาเซียนกว่า 600 ล้านคน

ขณะที่ยักษ์ใหญ่จากจีนอย่าง Tencent และ Alibaba ก็หมายมั่นปั้นมือกับธุรกิจ Remittance ในเอเชียด้วยเช่นกัน โดยได้พัฒนาแพลตฟอร์มการชำระเงินอย่าง WeChat Pay และ Alipay ให้กับแรงงานชาวอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ที่ทำงานอยู่ในฮ่องกงสามารถโอนเงินกลับประเทศของตนเองได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว สามารถใช้บริการได้ที่ร้านสะดวกซื้อ ที่สำคัญคือให้อัตราแลกเปลี่ยนที่ถูก

ปัจจุบันมีแรงงานชาวฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียกว่า 370,000 รายที่ทำงานอยู่ในฮ่องกง แรงงานของสองชาตินี้อยู่ในสิบอันดับแรกของชาติที่โอนเงินระหว่างประเทศมากที่สุด โดยฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นชาติที่ส่งออกแรงงานออกไปทำงานต่างประเทศมากที่สุดชาติหนึ่งของโลกมีการโอนเงินกลับประเทศปีละ 32,800 ล้านเหรียญ ส่วนแรงงานอินโดนีเซียอยู่ที่ 9,000 ล้านเหรียญ โดยเป็นการโอนออกจากฮ่องกงรวมกัน 16,900 ล้านเหรียญ

ทั้ง Tencent และ Alibaba ตั้งใจที่จะใช้ฐานลูกค้าในฮ่องกงและเอเชียเป็นจุดเริ่มต้นสู่การขยายธุรกิจ Remittance ไปในระดับโลก โดย Alibaba ได้เข้าไปถือหุ้นใน Moneygram ซึ่งเป็นบริษัทที่รับชำระเงินระหว่างประเทศมูลค่ากว่า 880 ล้านเหรียญ เพื่อหวังที่จะใช้เป็นฐานในธุรกิจการเงินของตัวเอง

นอกจากนี้ Ant Financial ฟินเทคด้านการเงินซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Alibaba ยังได้พัฒนาแพลตฟอร์มบล็อกเชนขึ้นมาเพื่อใช้ในการโอนเงินระหว่างประเทศ รวมถึงสร้างพันธมิตรกับสถาบันการเงินท้องถิ่นอื่นๆในเอเชียอย่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย โดยเริ่มต้นจากฐานลูกค้าที่เป็นนักธุรกิจชาวจีนที่จะขยายธุรกิจไปในย่านอาเซียน

หลังจากนั้นสองยักษ์ใหญ่จากจีนคงมองเป้าที่จะขยายธุรกิจไปในระดับโลกอย่างแน่นอน ต้องจับตาดูว่าสถาบันการเงินแบบดั้งเดิมจะถูก Disrupt ไปมากน้อยเพียงใดอ ชัชวาลย์ เจียรวนนท์

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ : เจ้าชายแฮร์รี่-เมแกน มีความมั่งคั่งเท่าไร??

Business Today
Business Todayhttps://businesstoday.co
Supporting Thailand's business communities./ FB Page: Business Today Thai/ Social: Business Today Thai (สำหรับ Twitter, YouTube, Telegram)/ LINE: @Business today/ เว็บที่เกี่ยวข้อง: Thailand Today: www.thailandtoday.co/ FB: Thailantoday.co (English)/ Thailand Today News: www.thailandtoday.news/ FB: Thailandtoday.news (Mandarin Chinese)

Latest

ติดตามข่าวสารอัพเดททันใจจาก Businesstoday ได้โดยกรอกอีเมลด้านล่าง

Related News