การเข้ารับตำแหน่งซีอีโอคนใหม่ของ “ขัตติยา อินทรวิชัย” แทนที่ “บัณฑูร ล่ำซำ” เป็นความท้าทายสำคัญของเธออย่างแท้จริง ท่ามกลางกระแส Digital Disruption ธนาคารกสิกรไทย มีโจทย์สำคัญที่เธอต้องผ่านไปให้ได้อยู่ด้วยกัน 6 ข้อ
1.รายได้ค่าธรรมเนียมที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
นับตั้งแต่ปี 2558 รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยของธนาคารกสิกรไทยปรับตัวลดลงมาตลอดเช่นเดียวกับธนาคารอื่นๆและได้รับผลกระทบมากที่สุดคือปี 2561 ซึ่งเป็นปีแรกที่ลดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมออนไลน์เหลือ 0% ทำให้รายได้ค่าธรรมเนียมต่ำกว่าระดับ 6,000 ล้านบาทเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี
แม้รายได้จากดอกเบี้ยยังมีแนวโน้มเติบโตขึ้นทุกปี แต่หากดูกำไรสุทธิรวมที่เคยสร้างจุดสูงสุดในปี 2557 ที่ 46,153 ล้านบาท แต่หลังจากนั้นยังไม่สามารถกลับไปอยู่ในระดับตัวเลขเดิมได้อีก โดยปี 2561 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 38,459 ล้านบาท
หากแนวโน้มดอกเบี้ยทั่วโลกเป็นขาลงในช่วงสองถึงสามปีข้างหน้า รายได้จากส่วนต่างดอกเบี้ยของธนาคารจะมีแนวโน้มปรับตัวลดลงด้วยเช่นกัน ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมก็มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน นี่คือโจทย์สำคัญของเธอในการสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น
2. พนักงานกับจำนวนสาขาที่มีอยู่
ปี 2561 จำนวนสาขาของธนาคารกสิกรไทยลดลงต่ำกว่า 1,000 สาขา เป็นไปตามแนวโน้มของอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ไทย ส่วนพนักงานมีจำนวนที่ลดลงด้วยเช่นกัน แต่หากเปรียบเทียบกับสี่ปีที่ผ่านมายังถือว่าลดลงในจำนวนที่ไม่มาก
การเติบโตของเทคโนโลยีและการใช้งานธุรกรรมบนออนไลน์ ย่อมส่งผลกระทบต่อจำนวนสาขาและพนักงานที่มีอยู่ ถึงอย่างไรผู้บริหารได้ออกมากล่าวว่ายังไม่มีแผนที่จะปรับลดพนักงานแต่อย่างไร
ขัตติยา อินทรวิชัย ประกาศเป้าหมายของธนาคารที่ประกาศในงานแถลงข่าวเมื่อต้นปีคือการคุมต้นทุนดำเนินงาน (Cost To Income Ratio) ให้ต่ำกว่า 40% จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 43%

3. คู่แข่งใหม่ที่ขนาดใกล้เคียงกัน
การควบรวมกิจการระหว่างธนาคารทหารไทยและธนาคารธนชาต ทำให้เกิดธนาคารใหม่ที่มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่ขึ้น โดยตัวเลขสิ้นปี 2561 ธนาคารธนชาตมีสินทรัพย์รวม 984,124 ล้านบาท ธนาคารทหารไทย 888,151 ล้านบาท หากนำมารวมกันจะมีสินทรัพย์รวม 1,872,275 ล้านบาท ขึ้นมาเทียบเคียงกับธนาคารกรุงศรีอยุธยาที่มีสินทรัพย์รวม 2,049,150 ล้านบาท และจะทิ้งห่างธนาคารยูโอบีที่ตามหลังมาซึ่งมีสินทรัพย์ 525,142 ล้านบาท ขณะที่ธนาคารกสิกรไทยมีสินทรัพย์รวม 2,641,150 ล้านบาท
เท่ากับว่าภูมิทัศน์ของธนาคารพาณิชย์ไทยจะมีผู้เล่นใหม่ที่ขนาดพอฟัดพอเหวี่ยงกับธนาคารขนาดใหญ่ 4 แห่ง เพิ่มเข้ามาในปีหน้า แม้ยังไม่เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับการควบรวมทหารไทยและธนชาตในตอนนี้ แต่ถือว่าการแข่งขันน่าจะมีสีสันมากขึ้นแน่นอน
4. ไทยพาณิชย์คู่ชกหมายเลขหนึ่ง
แม้ผู้บริหารทั้งสองฝ่ายจะไม่เคยกล่าวถึงกันตรงๆ แต่เป็นที่รับรู้ว่าธนาคารกสิกรไทยและธนาคารไทยพาณิชย์ มีรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่ใกล้เคียงกันมาก โดยเฉพาะการแข่งขันในด้านเทคโนโลยีเพื่อดึงกลุ่มลูกค้า เรียกได้ว่าแลกกันหมัดต่อหมัด
เช่น กสิกรไทยจับมือกับ Grab สตาร์ทอัพยักษ์ใหญ่ของอาเซียน ไทยพาณิชย์ก็ไปจับมือกับ GETS (Gojek) ยักษ์ใหญ่ของอาเซียนอีกเช่นกัน และยังตั้งงบด้านเทคโนโลยีในระดับพันล้านบาทพอๆกันอีกด้วย เรียกได้ว่าใครออกโปรดักต์ใหม่มาก่อน อีกฝ่ายก็พร้อมจะแข่งด้วยทันที
แม้ตอนนี้ผู้ใช้งานโมบายแบงก์กิ้ง กสิกรไทยยังมีจำนวนที่มากกว่าแต่ก็ไม่ได้ทิ้งห่างมาก ต้องมาดูกันว่า ขัตติยา จะรักษาตำแหน่งผู้นำไว้ได้ไหม

5. การบุกตลาด CLMV+3
ปัจจุบัน กสิกรไทย มีสาขาที่จดทะเบียนในต่างประเทศ 6 แห่ง สำนักงานผู้แทน 8 แห่ง และธนาคารที่จดทะเบียนในต่างประเทศเต็มตัวรวม 6 แห่ง ในสองประเทศคือประเทศจีนและสปป.ลาว
เป้าหมายของธนาคารคือการรุกตลาด CLMV+3 เพื่อเป็นผู้นำในด้านดิจิทัลแบงก์ในระดับภูมิภาค แต่ในยุคที่ฟินเทคเติบโตโดยเฉพาะประเทศจีนที่มีเจ้าตลาดอย่าง Alibab,Tencent ไม่ง่ายนักที่กสิกรไทยจะเจาะตลาดเข้าไป ส่วนในตลาดอาเซียนน่าจะสามารถใช้ฐานของ Grab ที่เป็นพันธมิตรทำการตลาดได้
6.การรับตำแหน่งแทน “บัณฑูรล่ำซำ”
ชื่อชั้นและผลงานของ “คุณปั้น” ที่ได้สร้างไว้ตลอด 40 ปี ที่ทำงานในธนาคารกสิกรไทย หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ผู้รับตำแหน่งผู้นำสูงสุดคนใหม่จะต้องถูกจับตามอง แม้ขัตติยาจะไม่ใช่คนอื่นไกลเป็นลูกหม้อของธนาคารฯมายาวนานตั้งแต่สมัยนักเรียนทุน แต่คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องได้รับความคาดหวังจากทั้งภายในและภายนอกองค์กร
ในยุคที่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมีความผันผวนสูง ธุรกิจธนาคารพาณิชย์กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญ ผู้นำองค์กรที่เป็นผู้เล่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมย่อมมีบทบาทสูงอย่างมากในการนำพาองค์กรขับเคลื่อนไปข้างหน้า ถือเป็นความท้าทายของ (ว่าที่) ซีอีโอหญิงคนใหม่อย่างมาก
อ่านบทความนี้พร้อมอินโฟกราฟฟิคแบบจุใจได้ในหนังสือพิมพ์ Business Today วางแผงแล้วที่ร้านซีเอ็ดทุกสาขา

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : เปิดเบื้องหลัง “ขัตติยา อินทรวิชัย” ซีอีโอ “หญิงเดี่ยว” รอบ 9 ปีของกสิกรไทย