บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี COD 29 ต.ค.นี้ ตามกำหนด เชื่อสร้างรายได้เฉลี่ยปีละ 1.3 หมื่นล้านบาท เตรียมรุกโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ สปป.ลาว ต่อเนื่อง ตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิต 5,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 68
นางมัณฑนา เอื้อกิจขจร รองกรรมการผู้จัดการ งานวางแผนธุรกิจ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP เปิดเผยว่า โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ที่ สปป.ลาว จะเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในวันที่ 29 ต.ค. นี้ หลังจากที่เริ่มลงนามบันทึกข้อตกลงพัฒนาโครงการกับรัฐบาลของ สปป.ลาว เมื่อปี 50 รวมงบประมาณการลงทุนทั้งสิ้น 1.35 แสนล้านบาท โดยมีระยะเวลาสัมปทาน 31 ปี ทุนจดทะเบียน 2.6 หมื่นล้านบาท
สำหรับโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีมีกำลังการผลิต 1,285 เมกะวัตต์ ซึ่งภายหลังเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ มีสัญญาการขายไฟให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 95% และ รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (Electricite du Laos) 5% ในอัตรา 2 บาท/หน่วย โดยคาดว่าโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 7,600 GWh
ประเมินว่าโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีจะสามารถสร้างรายได้ปีละ 1.3 หมื่นล้านบาท โดยบริษัทฯ จะได้อัตราส่วนแบ่งรายได้จากโครงการนี้เฉลี่ย 12-15% ต่อปี เนื่องจากบริษัทฯ มีสัดส่วนการถือหุ้นในโครงการดังกล่าว 37.5% โดยถือว่าเป็นสัดส่วนการถือหุ้นมากที่สุด ส่วนผู้ถือหุ้นหลักอีก 4 ราย ได้แก่ บริษัท นที ซินเนอร์ยี่ จำกัด 25.0%, รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว 20.0%, บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) 12.5% และบริษัท พีที จำกัด 5.0%
อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าว มีหนี้สินจากการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน 2 ก้อน ได้แก่เงินบาทจำนวน 6.2 หมื่นล้านบาท และเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จำนวน 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยคาดว่าดอกเบี้ยจากการกู้ยืมจะลดเหลือ 6.1% ภายหลังการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ และบริษัทฯจะเริ่มคืนเงินกู้ในช่วงปลายปี 63 – ต้นปี 64
ทั้งนี้ ในปี 61 บริษัทฯ มีกำไรขั้นต้น 4,584 ล้านบาท เติบโตขึ้น 29.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้ 9,115 ล้านบาท เติบโตขึ้น 31.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งบริษัทฯ มีงบลงทุนตั้งต้นในแต่ละปีที่ 500 ล้านบาท โดยจะปรับเพิ่มขึ้นตามความเหมาะสมของการลงทุนในแต่ละปี
ด้าน นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวปิดท้ายว่า สำหรับแผนการเติบโตของบริษัทฯ ในอนาคตยังคงเน้นไปที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำเช่นเดิม โดยในอนาคตจะมีการเปิดโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ สปป.ลาว เพิ่มอีกอย่างน้อย 1-2 แห่ง รวมถึงที่เมียนมาร์ที่กำลังอยู่ในช่วงศึกษาข้อมูลต่าง ๆ โดยคาดว่าจะใช้พื้นที่บริเวณแม่น้ำสาละวิน เนื่องจากมีทำเลใกล้กับประเทศไทย และเป็นพื้นที่ที่มีน้ำมากเพียงพอจะทำโรงฟ้าได้ ส่วนธุรกิจโซลาร์ รูฟท็อป ยังคงไม่เน้นหนักมาก แต่จะเน้นขายตรงให้กับฐานลูกค้าที่เป็นพันธมิตรกับบริษัทฯ เป็นหลัก
ทั้งนี้ ปัจจุบัน บริษัทฯ มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 2,167 เมกะวัตต์ โดยภายในปี 68 บริษัทฯ ตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 5,000 เมกะวัตต์