กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงนามบันทึกความเข้าใจ( MOU) กับ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ท็อปคอน คอร์ปอเรชั่น และ บริษัท บริษัท เซี่ยงไฮ้ จั๊วอั้นซินฮุยอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยี จำกัด ภายใต้โครงการแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะ(Smart Agriculture) เพื่อใช้เทคโนโลยีในกระบวนการผลิตอย่างครบวงจร
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ด้วยการนำแนวคิด “เกษตรอัจฉริยะ” หรือ “Smart Agriculture” คือการเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture หรือ Precision Farming) ซึ่งเป็นการทำการเกษตรที่จะต้องมีการวิเคราะห์สภาพพื้นที่ มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพ (Efficiency) และเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ (Productivity)ทำน้อยได้มาก
เกษตรอัจฉริยะจะมีการใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรกลเกษตรอัจฉริยะ ควบคุมกระบวนการผลิตในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การปลูก ดูแลรักษาเก็บเกี่ยว ขนส่ง ตลอดจนการแปรรูป เพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัยในภาคการเกษตรที่เพิ่มมากขึ้น การขาดแคลนแรงงาน ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต ตลอดจนแนวโน้มการบริโภคของผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งการเตรียมความพร้อมของภาคการเกษตรของประเทศไทยกว่า 7 ล้านครัวเรือน ให้มีศักยภาพในการแข่งขันบนเวทีโลก ตามนโยบาย Thailand 4.0
จากการรายงานของประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ จะเห็นได้ว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แสวงหาความร่วมมือและเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อบูรณาการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะ สำหรับเป็นต้นแบบให้พี่น้องเกษตรกรได้เลือกนำเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะที่เหมาะสมไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง และควรนำเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะที่ได้จากแปลงเรียนรู้เหล่านี้ไปขยายผลไปสู่แปลงใหญ่ที่มีศักยภาพ
ขณะนี้มีเป็นจำนวนมากกว่า 6,000 แปลงทั่วประเทศ โดยควรดำเนินการในรูปแบบประชารัฐ โดยบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน หรือแม้แต่ผู้ประกอบการ Start up เกษตรอัจฉริยะ
กระทรวงเกษตรฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการทำการเกษตรในยุคดิจิทัล ที่เป็นการใช้ข้อมูลจากเซนเซอร์ทางการเกษตรต่าง ๆ ในการวิเคราะห์ ประมวลผล คาดการณ์ ตัดสินใจ โดยนำระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาช่วยสนับสนุน เพื่อการสั่งการและควบคุมการทำงานของเครื่องจักรกลการเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งได้มีการดำเนินการพัฒนาต้นแบบ Big Data Platform ด้านเกษตร จากข้อมูลที่ได้จากเซนเซอร์ทางการเกษตรและนักวิจัยในแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะ ซึ่งควรนำไปแนะนำและขยายให้เกษตรกรแปลงใหญ่ในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ และเชื่อมโยงไปสู่ระบบการขนส่งสินค้าการเกษตร และการตลาดโดยเฉพาะตลาดออนไลน์ในอนาคต” ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าว
ทั้งนี้ การดำเนินการภายใต้บันทึกความเข้าใจดังกล่าว มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้มีแปลงเรียนรู้การผลิตข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรด และมะเขือเทศ ที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะที่เหมาะสม สามารถเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน ลดการใช้แรงงานลดปัจจัยการผลิต และประหยัดเวลา สำหรับใช้เป็นต้นแบบและแหล่งเรียนรู้ของเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้สนใจทั่วไป
ทั้งนี้ จะมีการใช้ Big Data Platform ด้านเกษตรอัจฉริยะ เพื่อสามารถนำข้อมูลมาใช้ในการบริหารจัดการแปลงปลูกพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีระบบช่วยในการตัดสินใจสำหรับการผลิตให้แก่เกษตรกร การคาดการณ์ การเตือนภัย การประเมินผลผลิต รวมถึงสามารถช่วยสนับสนุนให้ภาครัฐใช้ข้อมูลในการวางแผนการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตร ทั้งยังช่วยกำหนดทิศทางภาคการเกษตรของประเทศไทยต่อไปในอนาคตด้วย