แถลงตั้งรัฐบาล 11 พรรค 314 เสียง แบ่งกระทรวงเรียบร้อย
เมื่อเวลา 13.30 น. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย 10 พรรคการเมือง ประกอบด้วย พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคเสรีรวมไทย พรรคพลังสังคมใหม่ พรรคท้องที่ไทย และพรรคใหม่ แถลงข่าวร่วมจัดตั้งรัฐบาล โดยรวมเสียง 314 เสียง เพื่อ โหวตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในการประชุมร่วมรัฐบาลวันที่ 22 ส.ค.

พรรคเพื่อไทยได้ดำเนินการรวบรวมพรรคต่างๆ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลและโควตาเก้าอี้รัฐมนตรี ดังนี้ 1.พรรคภูมิใจไทย (71 ที่นั่ง) ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการ 4 กระทรวง รัฐมนตรีช่วย 4 ตำแหน่ง พรรคพลังประชารัฐ (40 ที่นั่ง) ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการ 2 กระทรวง รัฐมนตรีช่วย 2 ตำแหน่ง
พรรครวมไทยสร้างชาติ (36 ที่นั่ง) ทำหน้าที่ รัฐมนตรีว่าการ 2 กระทรวง รัฐมนตรีช่วย 2 ตำแหน่ง พรรคชาติไทยพัฒนา (10 ที่นั่ง) ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการ 1 กระทรวง พรรคประชาชาติ (9 ที่นั่ง) ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการ 1 กระทรวง พรรคเพื่อไทย (141 ที่นั่ง) ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการ 8 กระทรวง รัฐมนตรีช่วย และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีรวม 9 ตำแหน่ง
พรรคอื่นๆอีกจำนวน 5 พรรค ได้แก่พรรคชาติพัฒนากล้า 2 ที่นั่ง พรรคเพื่อไทยรวมพลัง 2 ที่นั่ง พรรคเสรีรวมไทย 1 ที่นั่งพรรคท้องที่ไทย 1 ที่นั่ง พรรคพลังสังคมใหม่ 1 ที่นั่ง ซึ่งพรรคเล็กต้องไปตกลงเรื่องเก้าอี้อีกที
พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็น แกนนำจัดตั้งรัฐบาล ได้เชิญหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรคหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายของแต่ละพรรคมาตกลงเรื่องการร่วมมือและแบ่งงานกันทำ โดยทุกพรรคบรรลุข้อตกลงร่วมกันจะนำนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่หาเสียงไว้เป็นนโยบายหลักในการบริหารประเทศ เช่น digital wallet ที่ดินทำกิน ขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ 600 บาทภายในปี 2570 เงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท เกณฑ์ทหารโดยสมัครใจ เพิ่มราคาพืชผลเกษตร แก้ปัญหาความขัดแย้งและสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กัญชาทางการแพทย์และสุขภาพ แก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ และยังคงไว้ในส่วนของหมวดที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์
ทั้งนี้พรรคร่วมจะนำนโยบายเข้ามาบูรณาการร่วม พร้อมปรับ เสริม หรือประสานนโยบายของ “พรรคร่วมรัฐบาล” ให้เป็นนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด และนำมาจัดทำเป็นนโยบายร่วมกัน เพื่อแถลงต่อรัฐสภาต่อไป
“ธนกร” รอถามหัวหน้าพรรคเก้าอี้รัฐมนตรี “รทสช.” ได้เก้าอี้อะไรบ้าง
ธนกร วังบุญคงชนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงความเคลื่อนไหวของ รทสช. ในการร่วมรัฐบาล ว่า เรื่องนี้ผู้ใหญ่ของพรรคน่าจะมีการพูดคุยกับผู้ใหญ่กับพรรคเพื่อไทยจบแล้ว และวันเดียวกัน รทสช.จะมีการประชุม สส.ทั้ง 36 คน รวมถึงกรรมการบริหารพรรค เชื่อว่าหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค คงมาพูดคุยแจ้งความคืบหน้ากับพวกเราเกี่ยวกับการร่วมรัฐบาล

ในส่วนของตำแหน่งรัฐมนตรี ยังไม่แน่ชัดใช่หรือไม่ว่า รทสช.ได้อะไรบ้าง ธนกร กล่าวว่า เชื่อว่าหัวหน้าพรรคคงทราบแล้ว แต่ตนยังไม่ทราบ เพราะหัวหน้าพรรคได้แจ้งกับพวกเราล่าสุดว่า ไม่มีการต่อรองเจรจาใดๆ ทั้งสิ้น ตำแหน่งอะไรก็ได้ เพียงแต่ขอทำงานให้กับประชาชนอย่างเต็มที่ เราพร้อม จะเห็นว่าที่ผ่านมาการเจรจาร่วมรัฐบาลของเราไม่มีปัญหา เนื่องจากเราไม่เคยไปต่อรอง อีกทั้งบุคลิกของพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค ยึดมั่นในชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์อยู่แล้ว
ส่วนการวางตัวคนที่จะเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลครั้งหน้าไว้หรือยัง นายธนกร กล่าวว่า ไม่ทราบ อยู่ที่ผู้ใหญ่และกรรมการบริหารพรรคจะพูดคุยกัน ซึ่งพรรคเองมีบุคลากรที่เหมาะสมหลายคน สามารถทำงานได้เลย อยู่ที่กรรมการบริหารพรรคเป็นหลัก
“สว.เสรี” ขอตรวจสอบคุณสมบัติ “เศรษฐา” ก่อนตัดสินใจโหวตนายกฯ
เสรี สุวรรณภานนท์ สว. กล่าวถึงกรณีความคืบหน้าตรวจสอบคุณสมบัติของนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯพรรคเพื่อไทย ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชนวุฒิสภาว่า ในส่วนของกมธ. ได้รับเรื่องจากเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐซึ่งกมธ.ได้ขอเอกสารจากเจ้าหน้าที่ที่ดิน และในวันนี้จะมาพิจารณากันอีกครั้ง ต้องดูตามข้อกฎหมายว่าการกระทำผิดข้อกฎหมายหรือไม่ แต่ถ้าเป็นเรื่องของภาษีอากรต้องนำเจ้าหน้าที่สรรพากรเข้ามา อย่าไปกังวลและอย่าเป็นห่วงในเรื่องนี้ เพราะต้องพิจารณาหลายเรื่อง

เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของพฤติกรรมก่อนหน้าที่จะได้พิจารณาเรื่องคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ถึงบุคคลที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯคงต้องดูเรื่องที่ผ่านมา รวมถึงดูหลายๆเรื่องที่ปรากฏ
ส่วนในวันที่ 22 ส.ค. สว. อาจจะยังไม่ให้ความเห็นชอบเศรษฐาหรือไม่ เสรี กล่าวว่า ช่วงนี้คงมีความเห็นที่หลากหลาย และหลายคนคงดูจากข้อมูลที่ตนเองได้รับมา แต่อย่างไรก็ตามตนคิดว่าในการตัดสินใจต้องดูในวันประชุมรัฐสภา ไม่ใช่เฉพาะเรื่องที่จะมาบอกว่าใครเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ซึ่งยังมีประเด็นว่าสุดท้ายแล้ววันพรุ่งนี้จะส่งชื่อใครกันแน่ แต่ในเบื้องต้นเข้าใจว่าเป็นเศรษฐาอยู่แล้ว ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ เพราะยังไม่รู้ว่าจะเสนอชื่อใครเข้ามา และมติในที่ประชุมจะว่าอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคที่จะไปจัดตั้งรัฐบาลกัน ตกลงกันได้ชัดเจนหรือยัง ฉะนั้นจึงไม่ใช่แค่เสียงของ สว. ซึ่งเป็นเรื่องการลงคะแนนของทั้ง สส.และ สว. ดังนั้นคะแนนที่จะได้รับต้องรวมทั้ง 2 สภา
โดยการตัดสินใจจะมี 2 ส่วนใหญ่ๆ เรื่องที่ 1 คือ เรื่องแนวนโยบายหรือทิศทางของการจะไปบริหารประเทศว่าหากเป็นนายกฯแล้วในรัฐบาลชุดนี้จะไปแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวด 1 หมวด 2 เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ เพราะ สว.ก็ยึดหลักในเรื่องเหล่านี้ โดยวินิจฉัยตัดสินใจไม่เห็นชอบ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลในเรื่องเหล่านี้มาแล้ว
“ณัฐวุฒิ” ลาออก “เพื่อไทย” ยุติบทบาททางการเมืองร่วมกับพรรค
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์รายการ “คุยนอกจอ” นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา หลังจากโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ตอนหนึ่งระบุ ว่า “ข้าพเจ้าเพียงรอเวลา และเวลาของข้าพเจ้า มาถึงแล้ว” ณัฐวุฒิ กล่าวว่า ตนยุติบทบาทผู้อำนวยการครัวเพื่อไทย เรื่องนี้ได้บอกกับผู้หลักผู้ใหญ่ของพรรค ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม เมื่อสถานการณ์อาจจะมีแนวโน้มว่าจะมีการจับมือกับพรรคการเมืองบางพรรค ที่จะมาจัดตั้งรัฐบาล ด้วยความเข้าใจ พท.ไม่ได้โกรธเคือง ไม่ได้มีอะไรขัดข้องหมองใจกัน

ทั้งนี้ตนได้บอกผู้หลักผู้ใหญ่ภายในวันนั้นว่า ถ้ามันถึงจุดนั้น ตนก็คงจะอยู่ในพรรคไม่ได้ แล้วเหตุการณ์ก็เดินมาเรื่อยๆ จนถึงวันที่ 12 สิงหาคม ตนได้ติดต่อเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรค พท. ว่าจะอยู่ในพรรค หรืออยู่ในกระบวนการของรัฐบาลไม่ได้ นอกจากนี้ ได้บอกแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย บอกผู้หลักผู้ใหญ่ บอกทุกคนในพรรค รวมทั้งได้โทรเรียนท่านนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ด้วย เพราะว่าท่านเป็นคนที่ผมเคารพนับถือ และท่านเป็นคนที่ก่อตั้งพรรคการเมืองนี้ พร้อมกับเรียนนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ด้วยก็บอกทุกคนไว้ตั้งแต่หลายวันก่อน เพียงแต่ผมรอเวลาให้พรรคการเมืองที่ผมรัก ให้บุคคลการเมืองที่ผมรัก เดินมาอยู่ในจุดที่เป็นสถานการณ์ที่ไม่ได้กำลังยากลำบากนัก อย่างน้อยที่สุด กำลังเดินไปสู่การโหวตนายกรัฐมนตรี
เมื่อถามอีกว่า ถือว่าตัดขาด ณัฐวุฒิกล่าวว่า อย่าใช้คำนั้น ใช้คำว่ายุติบทบาท แล้วไม่ร่วมกิจกรรมกับพรรค และรัฐบาล และไม่ได้เกี่ยวข้องแล้ว
“ทัศนีย์” ไขก๊อก ส.ส.เพื่อไทย ค้านร่วมพรรคลุง
ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ได้โพสต์หนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค.66 เป็นต้นไป ทั้งนี้คาดว่าเป็นการแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งรัฐบาลสลายขั้วของพรรคเพื่อไทย ที่ดึง พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ เข้าร่วม โดยทัศนีย์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กด้วยว่า ขอบคุณพรรคเพื่อไทย ที่ให้โอกาสทางการเมืองตลอดระยะเวลายาวนาน ครั้งนี้เป็นการตัดสินใจที่ยากมากที่สุดครั้งหนึ่งของชีวิต และเข้าใจว่า พรรคมีทางเลือกที่น้อยมากและต้องใช้ต้นทุนทุกอย่างที่มี ก็คงได้แต่ให้กำลังใจทำเพื่อประชาชนอย่างที่หวังไว้ ขอบคุณผู้ใหญ่ทุกท่านในพรรคเพื่อไทยด้วยใจ

ทั้งนี้ทัศนีย์ เคยเป็นผู้หนึ่งที่ถูกจับกุมจากการส่งจดหมายประชามติรัฐธรรมนูญปี 2560 และถูกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ควบคุมตัวที่มณฑลทหารบกที่ 11 เป็นเวลา 7 วัน ก่อนส่งไปดำเนินคดีที่ จ.เชียงใหม่ ในข้อหาผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (ความผิดฐานยุยงปลุกปั่น), มาตรา 209 (ความผิดฐานอั้งยี่), มาตรา 210 (ความผิดฐานเป็นซ่องโจร) และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 61 วรรคสอง ก่อนที่ศาลจะพิพากษายกฟ้องในเวลาต่อมา ในช่วงที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและเริ่มเจรจากับขั้วรัฐบาลเดิม น.ส.ทัศนีย์ เคยโพสต์ข้อความระบุว่า “เอาน้ำดีไปรวมน้ำเสีย ไม่นานจะกลายเป็นน้ำเน่า