“ก้าวไกล” แถลงส่งไม้ต่อ “เพื่อไทย ยึด MOU 8 พรรคเดินหน้าตั้งรัฐบาล
ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล แถลงข่าวเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลหลังจากนี้ว่า การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 เป็นการประกาศเจตจำนงของประชาชนที่ชัดเจนว่า ต้องการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล ด้วยการลงคะแนน 14 ล้านเสียงจนชนะ เป็นอันดับ 1 และอันดับ 2 ดังนั้นเป้าหมายสูงสุดของเรา ในฐานะพรรคอันดับ 1 คือการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ให้สำเร็จเพื่อหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลเดิม แต่ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา สถานการณ์ทุกอย่างชี้ชัดว่าทุกองคาพยพของฝ่ายอนุรักษ์นิยม ทั้งการเมืองจารีต ทุนผูกขาด และสถาบันองค์กรต่างๆที่เป็นบริวารแวดล้อม ทั้งหมด ไม่ยอมให้ก้าวไกล เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยเอาเรื่องมาตรา 112 มาบังหน้า และอ้างความจงรักภักดีมาปะทะกับการเลือกตั้งของประชาชน

นอกจากนี้ยังมีการเคลื่อนไหว ผ่านคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) และศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อหวังตัดสิทธิทางการเมืองของแกนนำพรรค และยุบพรรคก้าวไกลให้ได้ ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นว่า ส.ว.จึงฝืนมติมหาชน ไม่โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีตามเสียงส่วนใหญ่ของสภาฯ มิหนำซ้ำยังกล้าทำลายหลักการ ตีความข้อบังคับของรัฐสภา ให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เปรียบเสมือนการล้มล้างการปกครอง หรือฉีกรัฐธรรมนูญ ผ่านกฎหมู่ เพียงเพื่อต้องการขัดขวางไม่ให้เสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นนายกฯในครั้งที่ 2
สิ่งสำคัญในวันนี้จึงไม่ใช่เรื่อง นายพิธา จะได้เป็นนายกฯ หรือไม่ แต่คือเรื่องประเทศไทย จะกลับสู่ประชาธิปไตยได้หรือไม่ หยุดการสืบทอดอำนาจได้หรือไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้ พรรคก้าวไกลจะเปิดโอกาสให้ประเทศ ให้พรรคอันดับ 2 คือ พรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ของพันธมิตร 8 พรรคที่เราได้เคยทำเอ็มโอยูร่วมกันเอาไว้ ดังนั้นในการประชุมรัฐสภาครั้งต่อไป พรรคก้าวไกลจะเสนอชื่อ แคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทยเป็นนายกฯคนที่ 30 เช่นเดียวกับที่พรรคเพื่อไทยเคยสนับสนุนพรรคก้าวไกลนี่เป็นคำแถลงทั้งหมดในวันนี้
“เพื่อไทย” ออกแถลงการณ์ขอบคุณ “ก้าวไกล” ส่งมอบภารกิจจัดตั้งรัฐบาล
วันนี้ (21 ก.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 13.30 น. ที่พรรคเพื่อไทย ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้อ่านแถลงการณ์ของพรรค ภายหลังจากที่พรรคก้าวไกลมีการแถลงให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

โดยมีรายละเอียดดังนี้ 1. พรรคเพื่อไทยขอขอบคุณพรรคก้าวไกล ที่ส่งมอบภารกิจในการจัดตั้งรัฐบาลให้กับ พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นไปตามวิถีทางทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ภายใต้เงื่อนไขของการร่วมรัฐบาลจาก 8 พรรคการเมืองเดิม ตามที่พรรคก้าวไกลได้แถลงต่อสื่อมวลชนไปแล้ว เบื้องต้นพรรคเพื่อไทยจะได้หารือกับ 8 พรรคการเมืองเดิม เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและกําหนดแนวทางในการจัดตั้งรัฐบาลต่อไป
- พรรคเพื่อไทย เห็นว่า ภายใต้ข้อตกลงของ 8 พรรคการเมืองเดิม พรรคการเมืองทั้ง 8 พรรค สามารถรวมเสียงได้ 312 เสียง ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาไม่เห็นชอบ เนื่องจากมีเงื่อนไขสําคัญที่เกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงส่งผลให้ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้
- พรรคเพื่อไทยจึงมีความจําเป็นต้องหาเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภาเพิ่มเติม เพื่อให้ได้เสียงเกินกว่า 375 เสียง เบื้องต้นพรรคเพื่อไทยจะขอเสียงสนับสุนนจาก สมาชิกวุฒิสภา และจากพรรคการเมืองอื่นๆ เพื่อให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ในที่สุด ทั้งนี้ 4. หากผลการดําเนินเป็นประการใดจะได้แจ้งให้ 8 พรรคการเมือง และสาธารณชนทราบต่อไปโดยเร็ว
“ธนกร” ชี้โอกาส “ก้าวไกล”เป็นรัฐบาลยาก เหตุไม่ถอยปมแก้ ม.112
ธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ว่า วันนี้ทุกอย่างเดินไปตามกลไกของรัฐธรรมนูญในการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี เมื่อครั้งแรกไม่ได้ ก็เป็นครั้งที่ 2 และเมื่อมาถึงครั้งที่ 3 ก็ต้องเปิดโอกาสให้พรรคอันดับที่ 2 จัดตั้งไปตามกลไกหากอันดับ 2 ไม่ได้ก็ต้องมาที่อันดับที่ 3 เป็นธรรมเนียมทางการเมืองที่ให้เกียรติผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดอยู่แล้ว แต่กระบวนการต่าง ๆ เข้าใจว่าประธานสภาคงเร่งดำเนินการอยู่ เพราะวันนี้ประชาชนทั้งประเทศรวมถึงภาคเอกชน ภาคธุรกิจต่างๆ ก็รอรัฐบาลใหม่อยู่ ดังนั้นจึงต้องเร่งให้ได้รัฐบาลใหม่โดยเร็ว

การเดินเกมกระบวนการต่างๆทางการเมืองเข้าใจว่าเป็นสิทธิ์ของทุกพรรคที่จะดำเนินการได้ แต่วันนี้พรรคก้าวไกลก็เห็นอยู่แล้วว่าสมาชิกรัฐสภาทั้งครั้งที่ 1 และ2 ก็ไม่สนับสนุนพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีเพราะพรรคก้าวไกลมีนโยบายชัดเจน เรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และยังเดินหน้าต่อ ไม่ยอมลดเพดาน ซึ่งสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้
ธนกรกล่าวย้ำด้วยว่าวันนี้การเลือกตั้งของไทยเราไม่ใช่ระบบประธานาธิบดี เป็นระบบรัฐสภากลไกการเลือกนายกก็ต้องมาจะส.ส. และส.ว. ที่เป็นคนเลือกตามรัฐธรรมนูญหากโหวตว่าไม่ผ่านก็ถือว่าจบไปแต่แกนนำพรรคก้าวไกลเห็นหลายคนก็ชอบอ้างประชาชน ซึ่งของพรรครวมไทยสร้างชาติเกือบ 5 ล้านเสียงที่เป็นเสียงประชาชนเราก็ให้ความสำคัญแต่ต้องเข้าใจระบบการเลือกตั้งว่าไม่ใช่ระบบเลือกประธานาธิบดี เป็นคนละเรื่องกัน
“สุพันธุ์”ย้ำ 8 พรรคต้องจับมือตั้งรัฐบาลประชาธิปไตย ปิดทางตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว
สุพันธุ์ มงคลสุธี รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึง กระแสข่าวการตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยร่วมกับพรรคการเมืองอื่นๆ นอก MOU ของ8 พรรคว่า ผลการประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมาทำให้หลายคนไม่พอใจ และมีกระแสสนับสนุนให้พรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน ขณะที่สำนักข่าวต่างๆ ก็ทำนายสูตรการจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่มีพรรคก้าวไกลบ้าง ร่วมกับพรรคฝ่ายรัฐบาลเดิมบ้าง ซึ่งส่วนตัวมองว่ากำลังตกอยู่ในภาวะความโกรธและตกเป็นเครื่องมือในการปลุกปั่นให้ 8 พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย แตกคอกันเอง และสุดท้ายก็จะไปไม่ถึงเป้าหมาย

ดังนั้นตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่ 8 พรรคร่วมต้องจับมือกันให้แน่น เพื่อตั้งรัฐบาลประชาชนให้สำเร็จ เพราะเราสามารถมีเสียงข้างมาก ชนะการเลือกตั้งมาแล้ว อีกก้าวเดียวคือการจัดตั้งรัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหา ดูแลปากท้องคุณภาพชีวิตให้ประชาชน และคืนความเป็นประชาธิปไตยกลับมาให้คนไทย และทำตามสิ่งที่ได้สัญญาไว้กับประชาชนตอนหาเสียงเลือกตั้งให้สำเร็จ เราต้องไม่ลืมเป้าหมายใหญ่ที่มีร่วมกันคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปลดล็อกให้บ้านเมืองไปต่อได้ เพื่อวางรากฐานการเมืองที่ดีภายใต้ระบอบประชาธิปไตยให้สำเร็จ รวมถึงปิดวงจรสืบทอดอำนาจเผด็จการให้สำเร็จ
“ประชาธิปัตย์” นัดถกกรรมการบริหารพรรค จ่อเคาะวันเลือกหัวหน้า-กรรมการชุดใหม่
รายงานจากพรรคประชาธิปัตย์แจ้งว่า บรรดาแกนนำและ ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ได้มีการหารือกันอย่างไม่เป็นทางการ อาจจะต้องเลื่อนการประชุมใหญ่วิสามัญของพรรคประชาธิปัตย์ ครั้งที่ 2/2566 เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ออกไปเป็นวันที่ 30 กรกฎาคม จากเดิมที่รักษาการคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์มีมติเห็นชอบกำหนดวันประชุมเป็นวันที่ 23 กรกฎาคมนี้

โดยในวันนี้ (21 ก.ค. 66) คณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ชุดรักษาการจะมีการประชุมกันเพื่อมีมติว่าเลื่อน หรือไม่เลื่อนการประชุมใหญ่วิสามัญต่อไป รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า การกำหนดวันประชุมใหญ่วิสามัญครั้งนี้ สืบเนื่องจากการประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 1/2566 เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่และกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ชุดใหม่ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา องค์ประชุมไม่ครบ เนื่องจากมีการเดินออกจากห้องประชุม ภายหลังญัตติของนายสาธิต ปิตุเตชะ รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รับผิดชอบภาคกลาง ที่ขอยกเว้นข้อบังคับให้น้ำหนักการลงคะแนนของ ส.ส.ปัจจุบัน 70% เป็น 1 สิทธิ์ 1 เสียง เพื่อเอื้อให้กับอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลงสมัครเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ผ่านการเห็นชอบต่อที่ประชุมใหญ่ จนไม่สามารถเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ได้