HomeBT Newsย่อข่าวธุรกิจในประเทศ 21 มิถุนายน 2566

ย่อข่าวธุรกิจในประเทศ 21 มิถุนายน 2566


ครม.เห็นชอบ MOU ไทย-คอซอวอ เพิ่มโอกาสส่งออกสินค้าไทย

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2566 ว่า ครม.เห็นชอบบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการหารือทวิภาคีระหว่างกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการต่างประเทศและกิจการโพ้นทะเลสาธารณรัฐคอซอวอ โดยจะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจในช่วงการเยือนไทยของนายเครชนิก อาห์เมตี รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการต่างประเทศและกิจการโพ้นทะเลคอซอวอ ระหว่างวันที่ 22 -24 มิ.ย. 2566 นับเป็นกลไกความร่วมมือและการหารือทวิภาคีที่เป็นรูปธรรมกลไกแรกระหว่างกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศ

- Advertisement -


บันทึกความเข้าในฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และเพิ่มพูนความร่วมมือในสาขาที่ตกลงร่วมกัน อาทิ การเมือง เศรษฐกิจ กงสุล วัฒนธรรม การท่องเที่ยว เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ รวมถึงประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ โดยยึด 3 หลักการ คือ 1) ยึดถือหลักการความเป็นเอกราชและความเสมอภาคของอธิปไตย 2) การไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น และ 3) ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในสาขาที่ตกลงร่วมกัน ส่วนกลไกดำเนินงาน จะมีการจัดประชุมทุกสองปีหรือตามที่ตกลงร่วมกัน โดยสถานที่จะสลับกันจัดขึ้นในไทยและในคอซอวอ


นายกฯ ยินดีความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-จีน คึกคักต่อเนื่อง

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยกำลังจะเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้ประกอบการชาวจีนโลก ครั้งที่ 16 (The World Chinese Entrepreneurs Convention : WCEC) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 – 26 มิถุนายน 2566 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ คาดว่าจะมีผู้ประกอบการชาวจีนจากทั่วโลกกว่า 4,000 คน เดินทางเข้าร่วมประชุม เจรจา สำรวจลู่ทางการค้าการลงทุนในประเทศไทย


โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า WCEC เป็นเวทีการรวมตัวของนักธุรกิจชาวจีนจากทั่วโลกซึ่งกำหนดจัดขึ้นทุก 2 ปี โดยมีหอการค้าสิงคโปร์-จีน หอการค้าฮ่องกง-จีน และ หอการค้าไทย-จีน เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งและร่วมผลักดันการจัดการประชุม ซึ่งการประชุม WCEC ได้จัดขึ้นในประเทศและเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ หมุนเวียนกันไปเช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ไทย แคนาดา ออสเตรเลีย จีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เมียนมา สหราชอาณาจักร เป็นต้น และในการประชุมครั้งที่ 16 นี้ จะเป็นการจัดประชุมครั้งแรกภายหลังเผชิญกับความท้าทายของโควิด-19


IMD จัดอันดับขีดความสามารถการแข่งขัน ปี 2566 ไทยอันดับ 30

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยสถาบันการจัดการนานาชาติ (International Institute for Management Development: IMD) ประจำปี 2566 ไทย อยู่อันดับที่ 30 ดีขึ้น 3 อันดับจากปีก่อน


โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในปี 2566 ของ IMD พบว่า ลำดับของ ประเทศไทย ดีขึ้น 3 อันดับจากเดิมอยู่ในอันดับที่ 33 ในปี 2565 อยู่ที่อันดับ 30 โดยผลการจัดอันดับปัจจัยหลักทั้ง 4 กลุ่ม ได้แก่
1.) สมรรถนะทางเศรษฐกิจ อยู่ที่อันดับ 16 ดีขึ้น 18 อันดับ (ปี 2565 อันดับ 34)
2.) ประสิทธิภาพภาครัฐ อยู่ที่อันดับ 24 ดีขึ้น 7 อันดับ (ปี 2565 อันดับ 31)
3.) ประสิทธิภาพภาคธุรกิจ อยู่ที่อันดับ 23 ดีขึ้น 7 อันดับ (ปี 2565 อันดับ 30) และ
4.) โครงสร้างพื้นฐาน อยู่ที่อันดับ 43 ดีขึ้น 1 อันดับ (ปี 2565 อันดับ 44)


นายกฯ หนุนสินค้าเกษตร-อาหารไทยได้มาตรฐานสากล เพิ่มศักยภาพส่งออก

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มุ่งยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรและความปลอดภัยให้ได้มาตรฐานระดับสากล พัฒนาระบบการตรวจสอบสินค้าเกษตรก่อนส่งออก ปรับปรุงอาคารตรวจสอบรับรองสินค้าพืชแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ด้วยความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมขยายศักยภาพการส่งออกสินค้าเกษตรไทยตามมาตรฐาน GAP GMP


โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับ กระทรวงคมนาคม พัฒนาระบบการตรวจสอบสินค้าเกษตรก่อนส่งออก โดยดำเนินการปรับปรุงอาคารตรวจสอบรับรองสินค้าพืชแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) กรมวิชาการเกษตร อาคารใหม่ ณ ด่านตรวจพืชท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อาคารคลังสินค้า 4 เขตปลอดอากร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานสินค้าทางการเกษตรก่อนส่งออกไปยังประเทศปลายทาง ซึ่งช่วยการแก้ปัญหาทั้งระบบ ลดเวลาในการตรวจสอบตามกระบวนการส่งออกให้รวมอยู่จุดเดียว และมีมาตรฐานในการตรวจสอบคุณภาพสินค้าเกษตรที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศคู่ค้า


ก.อุตฯ สั่งโรงงานรายงานข้อมูลกากอุตสาหกรรมภายใน 30 มิ.ย. ฝ่าฝืนปรับ 2 หมื่นบาท

นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่ากระทรวงอุตสาหกรรม มีแนวทางควบคุมผู้ก่อกำเนิดของเสียเป็นผลจากนโยบายของ ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มอบให้กระทรวงอุตสาหกรรมขับเคลื่อนงานภายใต้นโยบาย MIND ใช้หัวและใจ ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน มุ่งสู่ความสำเร็จใน 4 มิติ ได้แก่ ความสำเร็จทางธุรกิจ การดูแลสังคม การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การกระจายรายได้ให้กับชุมชนและให้ความสำคัญในการยกระดับทุกองค์ประกอบของภาคอุตสาหกรรม ควบคู่กับการสร้างความเข้มแข็งและกระจายรายได้สู่ชุมชน เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย “อุตสาหกรรมดี อยู่คู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน” โดยเฉพาะประเด็นการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในมิติของการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม


นายวิษณุ กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ปรับปรุงกฎหมายฉบับล่าสุด คือ “ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566” นำหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายหรือเป็นผู้รับผิดชอบ (Polluter Pays Principle: PPP) มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ โดยกำหนดความรับผิดตั้งแต่ต้นทางโรงงานผู้ก่อกำเนิด ไปจนกว่าสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจะได้รับการจัดการจนแล้วเสร็จ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2566 เป็นต้นไป

Business Today
Business Todayhttps://businesstoday.co
Supporting Thailand's business communities./ FB Page: Business Today Thai/ Social: Business Today Thai (สำหรับ Twitter, YouTube, Telegram)/ LINE: @Business today/ เว็บที่เกี่ยวข้อง: Thailand Today: www.thailandtoday.co/ FB: Thailantoday.co (English)/ Thailand Today News: www.thailandtoday.news/ FB: Thailandtoday.news (Mandarin Chinese)

Latest

ติดตามข่าวสารอัพเดททันใจจาก Businesstoday ได้โดยกรอกอีเมลด้านล่าง

Related News