ครม. เคาะ “ชิม ช๊อป ใช้” แจก 1 พัน ให้ไปเที่ยวผ่านอีวอลเลท บวกรับสิทธิ์แคชแบ็กคืนสูงสุด 4,500 บาท
สำหรับมาตรการสนับสนุนท่องเที่ยว “ชิม ช๊อป ใช้” ข้ามจังหวัด เป็นมาตรการกระตุ้นการลงทุนและการบริโภคในประเทศ ที่กระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 3.16 แสนล้านบาท โดยคาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.55% เพื่อรักษาระดับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศทั้งปีไม่ให้ต่ำกว่า 3%
สำหรับมาตรการดังกล่าวจะให้สิทธิ์ประชาชนอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ที่ลงลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชันของธนาคารกรุงไทย ซึ่งจะได้รับเงินสำหรับท่องเที่ยวผ่านอีวอลเลท 1,000 บาท/คน
นอกจากนี้ยังสนับค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยว เช่น การซื้อสินค้าท้องถิ่น รับประทานอาหาร ค่าที่พัก สำหรับวงเงินการใช้จ่ายรวมทั้งหมดไม่เกิน 30,000 บาท โดยได้เงินคืน 15% สูงสุดไม่เกิน 4,500 บาท
ด้านนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่า หลัง ครม. เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวแล้ว จะใช้เวลาเตรียมระบบและเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนได้ในปลายเดือนก.ย.-พ.ย.นี้ ให้คนเข้ามาลงทะเบียนในระบบ 10 ล้านคน
เช็คขั้นตอนรับสิทธิ์ ต้องเดินทางภายใน 14 วัน
สำหรับขั้นตอนในการลงทะเบียนรับสิทธ์ คุณสมบัติ ต้องเป็นคนไทย มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป และต้องไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
1. ผู้ต้องการใช้สิทธิ์ต้องลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ หรือแอพพลิเคชั่นด้วยหมายเลขบัตรประชาชน พร้อมกับเลือก 1 จังหวัดที่จะเดินทางไปซึ่งไม่ซ้ำกับที่อยู่ตามบัตรประชาชน และรอ SMS ยืนยันการลงทะเบียน (ประมาณ 2 วัน)
2. ต้องดาวน์โหลดและสมัครแอพพลิเคชัน “เป๋าตัง” ซึ่งเป็นระบบใช้จ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่รัฐบาลสร้างขึ้นใหม่ เพื่อรองรับการโอนและใช้จ่ายเงิน 1,000 บาท รวมถึงรับเงินแคชแบ็กคืน 15%
3. หลังลงทะเบียน และได้รับสิทธิแล้ว ผู้มีสิทธิจะต้องเดินทางไปเที่ยวในจังหวัดที่เลือกไว้ภายใน 14 วัน หากใช้ไม่ทันจะถูกตัดสิทธิ และดึงเงินกลับคืนทันที พร้อมนำสิทธิไปให้คนต่อไป เพื่อเป็นการันตีว่าจะมีคนเดินทางไปใช้จ่ายจริงแน่นอน
4. ต้องใช้จ่ายผ่านแอพฯ “เป๋าตัง” จะใช้จ่ายค่ากับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการได้เท่านั้น เช่น ค่าที่พัก ค่าอาหาร ซื้อสินค้าท้องถิ่น ไม่สามารถกดเป็นเงินสดออกมาได้
ส่วนวิธีการรับเงินแคชแบ็กคืน 15% ของวงเงิน 30,000 บาท ในส่วนนี้ต้องโอนเงินของตัวเองเข้าแอพฯ “เป๋าตัง” ก่อน เหมือนการเติมเงินในบัตรล่วงหน้า และและนำไปใช้จ่ายค่าสินค้าและบริการตามร้านค้าที่กำหนด จากนั้นระบบจะคืนเงินให้ 15% แต่ไม่เกิน 4,500 ของวงเงินใช้จ่ายจริงในช่วงเดือนธ.ค. 2562
ขณะเดียวกัน ภาครัฐจะมีการเปิดรับสมัครร้านค้าเข้าร่วมโครงการ ฯ และติดตั้งแอพพลิเคชั่น “ถุงเงิน” เพื่อรับค่าสินค้าและบริการ โดยจะต้องเป็นร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้านขายสินค้าท้องถิ่น เช่น สินค้าโอทอป วิสาหกิจชุมชน ร้านธงฟ้าประชา รวมถึงที่พักโรงแรม โฮมสเตย์ ที่อยู่ในบัญชีของกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา โดย ททท.จะมีการรวบรวมจัดทำแพ็คเกจโปรโมตการท่องเที่ยว ลด แลก แจก แถมครั้งใหญ่ เพื่อกระตุ้นให้คนไทยเดินทาง ช่วงการใช้มาตรการดังกล่าว”
โรงแรมที่รับลูกค้าคนไทย ได้ประโยชน์สูงสุด
บล.บัวหลวง ระบุในบทวิทเคราะห์ว่า มาตรการดังกล่าวแม้จำนวนเงินไม่มากนัก แต่จะเป็นผลบวกโดยเฉพาะเมืองรอง โดยมาตรการกระตุ้นดังกล่าวจะส่งผลต่อผู้ประกอบการโรงแรมที่มีสัดส่วนลูกค้าคนไทยสูง เรียงลำดับได้แก่ VRANDA ลูกค้าคนไทยประมาณ 30%, ERW 20%, และ CENTEL 18%
โดยมาตรการดังกล่าวจะเป็นผลบวกต่อหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวไทย ได้แก่ AOT, CENTEL, ERW และ VRANDA, และ ร้านอาหารที่มีสาขาต่างจังหวัดมากได้แก่ M โดยมูลค่าหุ้นในกลุ่มดังกล่าวอยู่ในระดับต่ำมากโดยเฉพาะหุ้นท่องเที่ยว
ดังนั้นจึงคาดการ Rebound ของราคาหุ้น CENTEL, ERW และ VRANDA โดดเด่น โดยปัจจัยกระตุ้นราคาหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวในลำดับถัดไปได้แก่ ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดจะเริ่มฟื้นตัว YoY ตั้งแต่เดือน ก.ค. (เทียบทรงตัว YoY ใน 1H9)โดยเฉพาะตั้งแต่ ส.ค. 2019 เป็นต้นไป เนื่องจากฐานต่ำมากหลังเรือล่มที่ภูเก็ตไปเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2018
นอกจากนี้ยังเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะมีมาตรการสนับสนุนกลุ่มท่องเที่ยวไทยอย่างต่อเนื่องในอนาคต โดยเฉพาะการต่อมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า ของ 21 ประเทศ ออกไปหลังหมดเขต 31 ต.ค 2019 หรืออาจจะพิจารณามาตรการ “ยกเว้นวีซ่า” แก่นักท่องเที่ยวชาวจีนและอินเดียที่เดินทางมาไทย มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2019– 31 ต.ค. 2020 หรือเป็นระยะเวลา 1 ปี
เชื่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วยเพิ่ม GDP 0.55%
นอกจากมาตรการด้านการท่องเที่ยวแล้ว ที่ประชุม ครม. ยังเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ประกอบด้วย
มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง โดยจัดสินเชื่อฉุกเฉิน 50,000 บาท/คน ปลอดดอกเบี้ยปีแรก ปีต่อปี MRR 7%, สินเชื่อฟื้นฟูความเสียหายจากภัยแล้ง 500,000 บาท/คน ดอกเบี้ย MRR -2%, ขยายระยะเวลาชำระหนี้เงินกู้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และ สนับสนุนต้นทุนการผลิตข้าวปีการผลิต 62/63 ที่ 500-800 บาท/ไร่ ไม่เกิน 20 ไร่
มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ ให้หักค่าใช้จ่ายการซื้อเครื่องจักรจากการลงทุนหักภาษี 1.5 เท่า ภายใน 5 ปี และให้สินเชื่อผ่อนปรนกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ระยะเวลากู้ 7 ปี ขณะเดียวกัน สถาบันการเงินรัฐ ให้เร่งปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอี ธนาคารกรุงไทย และธนาคารออมสิน รวม 1 แสนล้านบาท และ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ปล่อยสินเชื่อบ้าน 52,000 ล้านบาท และให้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ลดค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อให้เอสเอ็มอีในช่วง 2 ปีแรก
มาตรการดูแลค่าครองชีพผ่านกลไกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในช่วง 2 เดือน (ส.ค.-ก.ย.) เพิ่มเงินผู้ถือบัตรเป็น 500 บาท/คน/เดือน, เพิ่มเงินผู้สูงอายุอีก 500 บาท/คน/เดือน และให้เงินดูแลเด็กแรกเกิดเพิ่ม 300 บาท/คน/เดือน
และพักชำระหนี้เงินต้นของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (กทบ.) ที่จ่ายคืนผ่าน ธ.ก.ส.และออมสิน 1 ปี (ต.ค. 62-ก.ย. 63) เพื่อให้ กทบ.มีงบประมาณปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น ซึ่ง กทบ. 50,732 แห่งมียอดหนี้คงค้างที่กู้จาก ธ.ก.ส.และออมสิน 67,000 ล้านบาท
เอเชียพลัส เชื่อรัฐบาลออกมาตรการอื่นเสริม
บล.เอเชีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3.16 แสนล้านบาท มุ่งไปที่ 3 กลุ่ม คือ การบริโภคครัวเรือน ท่องเที่ยว และการลงทุนเอกชน แต่คาดว่าเม็ดเงินที่อัดฉีดเข้าระบบเพียง 3-4 หมื่นล้านบาท (จากวงเงินทั้งหมด 3.1 แสนล้านบาท) ซึ่งไม่น่าเพียงพอต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่ารัฐบาลจะเร่งออกมาตรการอื่นๆ เช่น ช็อปช่วยชาติ การลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลง 10% เป็นต้น