สังคมไทยต้องเปลี่ยนมุมมองต่อคนพิการ เลิกมองเป็น”คนด้อยโอกาส” แนะช่วยกันหาทางออกดึงศักยภาพของผู้พิการ ภาคธุรกิจควรสร้างโอกาส และอาชีพให้กับผู้ด้อยโอกาสในประเทศ
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)จัดงาน SET Social Impact Day 2019 ภายในงานมีการจัดเสวนาหัวข้อ”ออกแบบโอกาสให้คนด้อยโอกาส” ซึ่งในวงเสวนาประกอบด้วย นายปราโมทย์ เตียสุวรรณ์ กรรมการผู้จัดการ(สายการผลิต) บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน), นางสาวภัทราวดี มีชูธน ศิลปินแห่งชาติ ผู้ผลักดันโครงการ The Broken Violin เสน่ห์ รอยร้าว, นายอัครินทร์ ปูรี เทพกีต้าร์ทำมือ ผู้สร้างจุดเปลี่ยนให้ผู้ก้าวพลาด, นายคริสโตเฟอร์ เบญจกุล นักแสดงพลเมืองดีผู้เป็นต้นแบบคนสู้ชีวิต และนายชูศักดิ์ จันทยานนท์ ประธาน บริษัท ออทิสติกไทย วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
สถานการณ์ในปัจจุบันของประเทศไทยมีจำนวนผู้ด้อยโอกาสในประเทศสูงถึง 14 ล้านคน ซึ่งคนเหล่านี้มักไม่ได้รับโอกาสในการทำงาน โดยมักจะถูกมองว่าเป็นภาระของสังคม แต่จากผลสำรวจของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่าส่วนใหญ่แล้วคนพิการในสังคมไทยไม่ได้ต้องการความช่วยเหลือ เพียงแต่พวกเขาอยากช่วยเหลือตัวเองได้และถูกมองว่าเป็นมนุษย์ปกติคนหนึ่ง จึงเป็นที่มาของการจัดเสวนาในหัวข้อดังกล่าวถึงวิธีการสร้างโอกาสให้ผู้ด้อยโอกาส
นายปราโมทย์ กล่าวว่า “ถ้าจะนิยามคนพิการสำหรับตนเอง จะขอนิยามว่าคนเหล่านั้นไม่ใช่คนพิการ แต่เป็นคนที่ไม่สะดวกเท่านั้น ไม่สะดวกในการมองเห็น ได้ยิน และการเดิน”
ถ้าเราสามารถแยกแยะได้ เราจะสามารถดึงศักยภาพของผู้พิการออกมาได้ โดยที่บริษัท แพรนด้าฯ ในยุคก่อตั้งนั้นก็มีคนพิการเข้ามาทำงานอยู่ไม่น้อย โดยปัจจุบันอัตราส่วนพนักงานในบริษัทคิดเป็นคนปกติ 62 คน ต่อคนพิการ 1 คน โดยเป็นอัตราส่วนที่มากกว่ากฏหมายกำหนด
โดยบริษัท แพรนด้า พยายามดึงผู้พิการเข้ามาทำงานในบริษัทอยู่เรื่อยๆ ซึ่งเรามองว่าไม่ใช่หน้าที่ที่ทำตามกฏหมายกำหนด แต่เป็นการทำเพื่อให้สังคมได้ประโยชน์ เพราะเราเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้มีขีดความสามารถเฉพาะทางที่แตกต่างกันออกไป
โดยตนเองยังเคยเป็นผู้ร่วมก่อตั้งโรงเรียนโสตศึกษา ที่ จ.นครปฐม ซึ่งเป็นโครงการในความดูแลของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และต่อมาโรงเรียนโสตศึกษาก้ได้รับการขยายไปยังจังหวัดต่างๆ และสามารถทำให้ผู้พิการหูหนวกมีช่องทางในการทำงานเลี้ยงชีพโดยไม่เป็นภาระสังคม
สำหรับหลักการที่ใช้ดูแลผู้พิการของตนเองมีด้วยกัน 4 ข้อดังนี้
1.ให้โอกาสในการได้ทำสิ่งต่างๆ เพื่อให้ผู้พิการได้มีสิทธิคนหาตัวเอง
2.ให้ความสะดวกสบายต่างๆ
3.มีผู้บริการที่มองเห็นศักยภาพของผู้พิการแต่ละคนว่ามีความถนัดด้านใด
4.เมื่อได้ครบทั้ง 3 ข้อ ผู้พิการจะต้องไม่มีแต้มต่อ และไม่มีข้ออ้างใดๆ ในการทำงานหรือการดำเนินชีวิต เพราะเราต้องการคืนสภาพความเป็นคนปกติให้กับผู้พิการ และพวกเขาจะใช้ชีวิตได้อย่างภาคภูมิใจที่ได้เป็นพลังให้กับผู้อื่นไม่ใช่ภาระอย่างที่หลายๆคนคิด
โดยบริษัท แพรนด้า ตั้งเป้าความสามารถในการทำงานของผู้พิการไว้ที่ 80% ของคนปกติ แต่ถ้าผู้พิการทำงานได้แบบ 100% ของคนปกติ ก็ถือเป็นการสร้างสุดยอดฝีมือขึ้นมาได้อีก 1 คน
สิ่งสำคัญที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญคือใช้คนให้ตรงกับงาน ซึ่งที่ผ่านมาในแผนกที่พนักงานต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีเครื่องจักรเสียงดังก็ส่งผลให้พนักงงานและบริษัทด้วยเช่นกัน เนื่องจากหลายครั้งพนักงานมักทนเสียงดังไม่ไหว และลาออกหลังทำงานได้เพียง 1-2 เดือนอยู่เรื่อยๆ
แต่เมื่อมีความคิดที่เอาผู้พิการหูหนวกเข้าไปทำงานในแผนกดังกล่าวปรากฏว่า ผู้พิการกลับทำงานได้รวดเร็วกว่าคนปกติ เพราะไม่ประสบปัญหาเสียงดัง และออกมาพักบ่อยเหมือนคนปกติ นี่จึงเป็นอีกเหตุผลที่ตนเองกล้ายืนยันว่าถ้าเราจัดงานให้ตรงกับความสามารถของผู้พิการ ก็จะสามารถสร้างให้ผู้พิการเหล่านั้นกลายเป็นกำลังหลักไม่ใช่ภาระอีกต่อไป
ด้าน นายคริสโตเฟอร์ กล่าวต่อว่า “สำหรับตนเองนั้นไม่มีคนปกติ หรือคนพิการ เพราะคนทั้ง 2 ประเภทก็คือคนปกติเหมือนกันนั่นแหละ”
สำหรับตนเองนั้นเคยเป็นผู้พิการมาก่อน หลังจากที่ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ทำให้ไม่สามารถเดินได้ ต้องกลายเป็นผู้พิการนั่งรถวิลแชร์ แต่พอหัดเดินจะรู้สึกเจ็บร่างกายไปหมด วึ่งตนเองก็ไม่ยอมแพ้เพราะไม่อยากเป็นภาระของใคร และต้องนั่งรถวิลแชร์ไปตลอดชีวิต
“กำลังใจจากคนในครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้พิการเป็นอย่างมาก โดยคำว่า You Can Do It เป็นคำง่ายๆ ที่เปลี่ยนให้ตนเองกลับมาฮึดสู้จนกลับมาเดินได้อย่างคนปกติอีกครั้ง สิ่งสำคัญที่สุดคืออยากให้คนทั่วไปเปิดโอกาสให้คนพิการมากขึ้น แล้วจะรู้ว่าคนพิการทำอะไรได้หลายอย่าง”
โดยหลักการอยู่กับคนพิการนั้นต้องเข้าใจเขาก่อน และรู้ว่าความสามารถของเขาคืออะไร ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องค่อยๆเรียนรู้ไป สำหรับคนที่จะเข้ามาคลุกคลีกับคนพิการต้องเปิดใจและยอมรับคนพิการให้ได้ อย่างผู้พิการออทิสติก ก็จะมีความเหมือนเด็ก ดังนั้นก็ต้องเรียนรู้วิธีอยู่ร่วมกับเขาอย่างคนทั่วไป
สำหรับตนเองนั้นเปิดร้านเบเกอร์รี่ ก็จะมีการนำผู้พิการด้านต่างๆ เข้ามาทำงานที่ร้านของตนเองด้วยเช่นกัน โดยจะมีการแบ่งทักษะว่าใครถนัดด้านอะไร แล้วเลือกใช้เขาให้ถูกกับงาน ที่สำคัญต้องมีความเชื่อใจเขาว่าเขาก็เป็นเช่นคนปกติหนึ่งคน ซึ่งเชื่อว่าจะได้เห็นความสามารถของผู้พิการอย่างแน่นอน
ขณะที่ นายอัครินทร์ เปิดเผยว่า ตนเองเคยติดคุกมาถึง 9 ครั้ง ด้วยระยะเวลา 15 ปี โดยคนที่ทำผิดซ้ำๆ ก็คือคนด้อยโอกาสอีก 1 กลุ่ม แต่เป็นกลุ่มคนที่จะถูกหวาดระแวงจากสังคม และไม่ค่อยได้รับความเมตตาเหมือนเช่นผู้พิการ ทำให้คนกลุ่มนี้จะยืนอยู่ในสังคมยากกว่าคนทั่วไป
“อย่างที่เคยบอกตนเองเคยกระทำความผิดซ้ำๆ ถึง 9 ครั้ง และยังโดนคนอื่นตราหน้าว่าไม่มีทางได้ดี แต่ในที่สุดตนเองก็สามารถกลับตัวมาใช้ชีวิตได้อย่างแกติในสังคม และยังสามารถช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสคนอื่นได้อีกด้วย”
สำหรับคนกลุ่มนี้ สิ่งที่เราต้องให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรกคือต้องเข้าไปฟื้นฟูสภาพจิตใจของเขาเสียก่อน และทำให้เขาไว้วางใจ ก็จะสามารถทำให้คนกลุ่มนี้สามารถกลับมายืนในสังคมได้ โดยปัจจุบันก็มีคนที่กระทำความผิดซ้ำจำนวนไม่น้อยที่สามารถพลิกชีวิตตัวเอง และยังสามารถกลับมาช่วยเหลือคนอื่นในสังคมได้อีกด้วย
โดยปัจจุบันตนเองเป็นสื่อกลางที่จะคอยช่วยเหลือด้านจัดหางานให้กับกลุ่มนักโทษพ้นคดีไปทำงานกับผู้ประกอบการรายย่อยที่มีความเมตตา และต้องการจะช่วยเหลือคนกลุ่มนี้เช่นกัน โดยเชื่อว่าถ้าเราให้ความไว้วางใจและโอกาสกับคนเหล่านี้ เขาก็จะสามารถเปลี่ยนตัวเองให้ดีขึ้นและกลายเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจที่จะส่งต่อความช่วยเหลือให้ผู้อื่นอย่างเช่นที่ตนเองได้รับมาเช่นกัน
ด้าน นางสาวภัทราวดี กล่าวเสริมว่า “ตนเองนั้นทำงานด้านศิลปศาสตร์มากว่า 50 ปี ซึ่งได้ทำงานร่วมกับคนมากมายเช่นคนพิการ นักโทษพ้นคดี และอื่นๆ โดยตลอดทั้งชีวิตพบว่ามนุษย์ทุกคนจะเจอจุดต่ำสุดในชีวิตกันทุกคน หมายความว่าเราทุกคนล้วนแล้วแต่มีรอยร้าวในชีวิตกันทั้งนั้น ต่างกันแค่เพียงมากน้อยเท่านั้น ซึ่งเป็นบทเรียนที่จะทำให้เราเติบโตและก้าวต่อไปอย่างมีสติ”
สำหรับการทำโครงการ The Broken Violin ที่มอบโอกาสต่างๆให้ผู้ด้อยโอกาส เป็นสิ่งที่เราก็ได้เรียนรู้จากผู้ด้อยโอกาสด้วยเช่นกันว่าประเทศยังขาดสิ่งใด และยังต้องการอะไร สิ่งสำคัญที่โครงการ The Broken Violin พยายามทำคือนำศิลปะไปใส่ไว้ให้กับคนด้อยโอกาส เพราะศิลปะจะช่วยเยียวยาจิตใจของมนุษย์ให้อ่อนโยนมากขึ้น ในทางกลับกันเขายังได้ความสามารถด้านต่างๆติดตัวเพื่อไปประกอบอาชีพได้อีกด้วย
ส่วน นายชูศักดิ์ หล่นความคิดเห็นปิดท้ายว่า ตนเองนั้นอยู่กับเด้กออทิสติกมากว่า 30 ปี เนื่องจากลูกชายของตนเองก็เป็นเด็กออทิสติก แต่ด้วยหัวใจก็ยังมองว่าเด็กออทิสติกทุกคนก็เป็นคนปกติคนหนึ่งเท่านั้น แต่ก็ต้องยอมรับว่าออทิสติกเป็นเรื่องของพัฒนาการช้า
แต่ถึงกระนั้นเด็กออทิสติกส่วนใหญ่จะมีความสามารถพิเศษด้านความจำที่เป็นเลิศ บางคนมีความสามารถด้านคอมพิวเตอร์กราฟฟิก โดยไม่ได้ผ่านกระบวนการศึกษาในระบบมาด้วยซ้ำ ดังนั้นเราต้องพยายามทำให้เขาสามารถพึ่งพาตัวเองจากทักษะที่มีสร้างงานขึ้นมา
เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ตนเองได้ทำโครงการที่นำเด้กออทิสติกมาฝึกอบรมด้านต่างๆ และสามารถป้อนเด็กเหล่านั้นเข้าไปทำงานยังสถานประกอบการต่างๆ ได้ราวปีละร้อยกว่าคน แต่เราก็ยังมีเด็กออทิสติกที่อยู่ในโครงการกว่าหมื่นคน ซึ่งเป็นกลุ่มที่เปราะบาง จึงได้ก่อตั้งบริษัทออทิสติกไทย วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ขึ้นมาเพื่อคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ
โดยจะมีการฝึกอบรมด้านต่างๆ และนำผลงานของเด็กเหล่านี้ไปขาย ซึ่งผลงานศิลปะบางชิ้นขายได้ในราคาหลักแสนบาทก็มี และยังมีการอบรมให้เป็นบาริสต้าในแบรนด์ ฟอร์ ออล์ คอฟฟี่ ที่มีสาขา 4 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งสามารถสร้างรายได้ 15,000-16,000 บาท/เดือน ให้กับด็กออทิสติก จนบางคนกลายเป็นกำลังหลักในการหารายได้เข้าครอบครัว และยังสามารถเลี้ยงดูพ่อแม่ได้อีกดวย