หลังข่าว แฮร์รี่ เมแกน ได้ประกาศถอนตัวออกจากสมาชิก ราชวงศ์อังกฤษ ทางสำนักพระราชวังยังได้ออกมาประกาศถอดยศทั้งคู่ไปแล้วเรียบร้อยสร้างความตกตะลึงไปทั่วโลก
วันนี้ Business Today ขอเกาะกระแสจากฝั่งอังกฤษด้วยการอัปเดต สินค้า 10 แบรนด์ดังของเมืองผู้ดีที่หลายคนอาจจะเคยช้อปปิ้งสินค้าต่างๆ กันมาแล้วอย่างคุ้นชิน ขณะเดียวกันก็มีหลายๆ คนอาจจะยังไม่ทราบว่าแบรนด์เหล่านี้เป็นของประเทศอังกฤษ แม้แบรนด์ต่างๆ ที่ว่าจะมาเข้ามาเปิดช้อปรุกตลาดในไทยกวาดรายได้ไปแล้วอย่างถล่มทลายตลอดหลายปีที่ผ่านมา
1. Harrods
แบรนด์สินค้าของห้างสุดหรูของอังกฤษที่ใช้ชื่อเดียวกันอย่าง Harrods ห้างนี้ก่อตั้งมานานนับตั้งแต่ปี 1824 มีชื่อเสียงมานานกว่า 190 ปี ปัจจุบันแบรนด์นี้ได้เข้ามาจำหน่ายสินค้าและบริการในประเทศไทย โดยนอกจากจะมีร้านจำหน่ายสินค้าต่างๆ แล้ว ยังมีส่วนของร้านอาหารและคาเฟ่
2. Burberry
แบรนด์หรูระดับ Hi-End ที่มีทั้งเสื้อผ้า นาฬิกา กระเป๋า รองเท้า และน้ำหอม แบรนด์นี้ถือเป็นแบรนด์แฟชั่นที่อยู่คงทนมานานนับตั้งแต่ปี 1856 เอกลักษณ์ของแบรนด์ที่เป็น signature ให้จดจำได้ง่ายและรู้กันดีในหมู่คนวงการแฟชั่น คือ ลวดลายตาราง Burberry Check
3. Reebok
ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้า รองเท้า และอุปกรณ์กีฬาระดับโลกสัญชาติอังกฤษที่มีอายุ 125 ปี ก่อตั้งขึ้นในปี 1895 นับจากอดีตถึงปัจจุบันแบรนด์นี้มีการปรับเปลี่ยนโลโก้มาแล้วถึง 3 ครั้ง โดยโลโก้ใหม่มีการปรับให้ดูทันสมัยมากขึ้นด้วยรูปตราสามเหลี่ยม
4. Triumph
แบรนด์รถมอเตอร์ไซค์ที่ใหญ่ที่สุดของอังกฤษ ก่อตั้งขึ้นในปี 1902 ยอดขายส่วนใหญ่กว่า 80% มาจากตลาดต่างประเทศ ในปี 2017 Triumph ทำยอดขายทั่วโลกได้ถึง 63,404 คัน คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 19,940 ล้านบาท
ปัจจุบัน triumph มีโรงงานที่เป็นฐานการผลิตอยู่ 3 แห่ง คือ ในประเทศอังกฤษ ไทย และ บราซิล โดยในประเทศไทย ดาราพระเอกดัง อย่าง เวียร์ ศุกลวัฒน์ ยังเป็น 1 ในตัวแทนผู้จำหน่ายรถแบรนด์นี้ในสาขาย่านรังสิต
5. Fred Perry
แบรนด์นี้เป็นที่นิยมมากในหมู่วัยรุ่นชายที่นิยมสวมใส่เสื้อเชิ้ตโปโลแบบนักกีฬาเทนนิส โลโก้สุดฮิตของแบรนด์ที่คล้ายกับช่อมะกอก หรือ พวงหรีด เรียกว่า LAUREL WREATH ถือเป็นเอกลักษณ์ให้จดจำได้ง่ายเพราะสินค้าทุกชิ้นจะมีตราโลโก้ติดอยู่ เจ้าของแบรนด์นี้ คือ อดีตนักเทนนิสมือหนึ่งของโลกชาวอังกฤษ Frederick John Perry ที่ก่อตั้งแบรนด์ขึ้นในปี 1940
6. Mini
ต้นกำเนิดของรถยนต์ขนาดเล็กชื่อดังสัญชาติอังกฤษ อย่าง มินิ เกิดขึ้นในปี 1959 แต่ปัจจุบันแบรนด์นี้ มีเจ้าของเป็นสัญชาติเยอรมัน อย่าง BMW Group ที่เข้ามาเทคโอเวอร์
7. Paul Smith
ดีไซเนอร์รุ่นใหญ่คนดังของอังกฤษที่ใช้ชื่อตัวเองเป็นชื่อเดียวกับแบรนด์เสื้อผ้าและของใช้ต่างๆ นับตั้งแต่ปี 1970 เอกลักษณ์โดดเด่นของแบรนด์นี้ ที่เห็นแล้วจำได้เลยทันที คือ เส้นลายทางที่มีสีสันสดใส
8. Cath Kidston
สาวๆ ที่ชื่นชอบในลวดลายสีสันสดใสและยังมีคงกลิ่นไอของสไตล์วินเทจย้อนยุค น่าจะรู้จักกับแบรนด์นี้เป็นอย่างดี
Cath Kidston เริ่มต้นขึ้นในปี 1993 มีชื่อเสียงโด่งดังจากการขายผ้า, วอลเปเปอร์ติดผนังสไตล์วินเทจ และของตกแต่งบ้านที่เพ้นท์เป็นลวดลายจากความทรงจำที่แสนอบอุ่นในวัยเยาว์
แบรนด์นี้เคยฮิตมากสำหรับคนที่เดินทางไปประเทศอังกฤษเพราะมักจะต้องช้อปปิ้งติดไม้ติดมือกลับมาด้วยซะส่วนใหญ่ แต่เมื่อแบรนด์มีการขยายสาขามาไทย กระแสฮิตของแบรนด์นี้กลับไม่เปรี้ยงตามคาด เพราะราคาที่ค่อนข้างแพงหากเทียบกับซื้อที่เมืองนอก แถมยังมีของปลอมก๊อปปี้สินค้าลอกเลียนแบบออกมาจำหน่ายมากมาย ทางบริษัทในไทยจึงต้องแก้ปัญหาด้วยการจัดโปรโมชั่นลดราคาดึงดูดใจแทบตลอดทั้งปี ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ลดระดับลงมาด้วย นี่จึงเป็นผลให้บริษัทผู้ดูแลแบรนด์ในประเทศไทยต้องเร่งปรับกลยุทธ์การบริหารและการจำหน่ายในปีนี้กันใหม่เพื่อแก้วิกฤติของธุรกิจให้ยอดขายกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น
9. Jo Malone
แบรนด์โคโลญและเครื่องหอม ก่อตั้งขึ้นในปี 1994 ภาพลักษณ์ที่ดูเรียบหรู คลาสสิค พร้อมกับเอกลักษณ์ของเครื่องหอมแต่ละกลิ่นที่ดึงดูดใจทำให้แบรนด์นี้กลายเป็น 1 ในแบรนด์ขึ้นชื่อที่มีกลิ่นหอมระดับโลกได้อย่างรวดเร็ว
10. Super Dry
แบรนด์แฟชั่นเสื้อผ้าไลฟ์สไตล์ ก่อตั้งขึ้นในปี 2003 โดย Julian Dunkerton and James Holder จุดเด่นของแบรนด์นี้ คือ การตัดเย็บอย่างดีสไตล์อังกฤษผสมผสานเข้ากับลวดลายกราฟิกที่มีกลิ่นอายตะวันออกของญี่ปุ่นจนกลายเป็นเอกลักษณ์ที่สร้างชื่อให้กับแบรนด์
ปี 2005 เจมส์ได้นำเอาสัญลักษณ์ของเมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่นมาออกแบบเป็นเสื้อยืด collection พิเศษ จำนวน 6 ลาย ความสวยงามของดีไซน์ที่โดดเด่นกลายเป็นที่ประทับใจของอดีตนักเตะแข้งทองคนดัง อย่าง เดวิด เบคแฮม และเซเลบริตี้ของอังกฤษคนอื่นๆ ที่นำเสื้อมาสวมใส่จนทำให้แบรนด์นี้โด่งดัง
และนี่คือทั้งหมดของ 10 แบรนด์ดังสัญชาติอังกฤษที่ได้เข้ามารุกตลาดขยายสาขาในประเทศไทย โดยหลายแบรนด์ก็ยังคงได้รับความนิยมจากกลุ่มลูกค้าในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ขณะที่หลายแบรนด์ที่มาจากประเทศเดียวกันก็ต้องมีการปรับปรุงกลยุทธ์เชิงธุรกิจให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าในปัจจุบันท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและการแข่งขันสูงในตลาดสินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์
บทความที่เกี่ยวข้อง: