มาถึงช่วงโค้งสุดท้ายปลายปี 2564 กันแล้ว หลาย ๆ คนกำลังมองหาตัวช่วยในการลดหย่อนภาษีประจำปี ซึ่งมีอยู่หลากหลายหมวดที่สามารถเลือกนำมาลดหย่อนภาษีได้ โดยเฉพาะตัวเลือกด้านประกันชีวิตก็เป็นตัวช่วยยอดฮิตในแต่ละปีเช่นเดียวกัน เพราะนอกจากจะคุ้มครองค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลหรือสุขภาพของเราแล้ว ยังสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย
มาดูกันว่า ประกันแบบใดบ้างที่สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษี ให้เราได้เงินภาษีคืนแบบเป็นเงินก้อนให้ได้นำไปใช้จ่าย เก็บออม หรือจะลงทุนได้ต่อ โดยค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มประกัน มีรายละเอียด ดังนี้
–ประกันชีวิตและประกันสะสมทรัพย์ สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท มีเงื่อนไข ต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป ต้องทำประกันกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทยเท่านั้น
–ประกันสุขภาพ นำมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 25,000 บาท ซึ่งเมื่อรวมกับประกันชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท
–ประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้ และไม่เกิน 200,000 บาท มีเงื่อนไขคล้ายกับประกันชีวิต คือ ต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป ต้องทำประกันกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย
ซึ่งเงินก้อนนี้ของประกันชีวิตแบบบำนาญ เมื่อนำไปรวมกับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำนเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน เงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ เงินที่ซื้อหน่วยลงทุนรวมเพื่อการออม หรือเอสเอสเอฟ และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรืออาร์เอ็มเอฟ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
–ประกันสังคม สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง โดยปกติไม่เกิน 9,000 บาท แต่ในปี 2564 ได้มีมาตรการจากภาครัฐช่วยเรื่องลดรายจ่าย จึงได้ปรับลดอัตราเงินนำส่งเงินสะสมประกันสังคม ทำให้เงินนำส่งลดลงตามไปด้วย จากข้อมูล ณ เดือนต.ค.2564 เงินนำส่งที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีปี 2564(มาตรการสิ้นสุดเดือน พ.ย.2564 ยกเว้นจะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น) มีดังนี้
-ผู้ประกันตน มาตรา 33 ไม่เกิน 5,100 บาท
-ผู้ประกันตน มาตรา 39 ไม่เกิน 3,003 บาท
-ผู้ประกันตน มาตรา 40 ไม่เกิน 700-3,000 บาท
–ประกันสุขภาพของบิดามารดา ไม่เกิน 15,000 บาท เบี้ยประกันสุขภาพที่ซื้อให้บิดามารดา สามารถนำมาลดหย่อนภาษีของตนเองได้ไม่เกิน 15,000 บาท แต่มีเงื่อนไขที่ว่า ต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย และบิดามารดาต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อคนต่อปี ส่วนกรณีมีบุตรหลายคนช่วยกันชำระค่าเบี้ยให้บิดามารดา จะต้องนำมาเฉลี่ยหักลดหย่อนภาษี รวมแล้วต้องไม่เกิน 15,000 บาท
สิ่งสำคัญที่สุด รายการลดหย่อนภาษีในแต่ละปี จะไม่สามารถได้เงินภาษีคืนเกินกว่าที่จ่ายภาษีไปได้ ฉะนั้นแล้ว ต้องลองคำนวณ บวก ลบ คูณ หาร รายจ่ายของภาษีที่เราจ่ายไปก่อนว่ามีเท่าไร และนำมาคำนวณดูว่า รายการที่เราจะนำมาลดหย่อนภาษีนั้น เพียงพอหรือยัง หากยังขาดเหลืออะไรเท่าไร ค่อยมองหาตัวช่วยที่เหมาะสมมาอุดรูรั่ว เพื่อให้เราได้เงินคืนจากภาษีที่จ่ายไปได้มากที่สุด