หลังจาก YouTube ได้เข้ามาเปิดบริการในเมืองไทยอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2557 ได้มีความเปลี่ยนแปลงมากมายที่เกิดขึ้นจากแพลตฟอร์มนี้
ไม่ว่าจะเป็นการมีจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งสอดคล้องไปกับจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีผู้ใช้งาน YouTube ชาวไทยมากถึง 90% จากจำนวนประชากรออนไลน์ทั้งหมด
การใช้งาน YouTube ในปัจจุบันยังมีหลายสิ่งที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานในต่างจังหวัดที่เพิ่มสูงขึ้น มีคอนเทนต์ที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง เช่น การค้นหาเกี่ยวกับการเรียน การปลูก หรือการซ่อม บน YouTube ล้วนแล้วแต่มาจากจังหวัดที่เป็นเมืองรอง ซึ่งสอดคล้องกับ ผลวิจัยเชิงลึก Hunt 2019 ของ Mindshare ที่พบว่าผู้บริโภคไทยในหัวเมืองรอง เรียนดนตรี กีฬา ทำอาหาร เรียนภาษาอังกฤษ ผ่าน YouTube

อีกทั้งยังมีการเพิ่มจำนวนของครีเอเตอร์ซึ่งสร้างคอนเทนต์อันมีคุณค่าเผยแพร่ให้กับผู้อื่นจนสร้างผู้ติดตามมากมาย ดังที่เห็นได้ว่าปัจจุบันมีช่อง YouTube ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 10 ล้านคนมากถึง 6 ช่อง และมีครีเอเตอร์ที่เป็นคนธรรมดาคนแรกที่สามารถสร้างผู้ติดตามได้มากกว่า 10 ล้านคนภายในระยะเวลาเพียง 2 ปีเท่านั้น

“เป็นไลน์แมนซื้อแต่ของสีเหลือง 1 วัน(ซื้อให้ครบ 10,000 แคล)” หนึ่งในวีดีโอจากช่อง Kaykai Salaider
YouTube กับการช่วยคนไทยสร้างช่วงเวลาไพร์มไทม์ส่วนตัว
เราสามารถดูคอนเทนต์ทั้งสาระและบันเทิงได้เมื่อเราต้องการโดยไม่จำเป็นจะต้องเหมือนผู้อื่น เพราะคอนเทนต์ใน YouTube นั้นมีมากมายที่ตอบความต้องการของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจ ข่าวสาร บันเทิง รวมไปถึง การแก้ไขปัญหาต่างๆ และนั่นคือปรากฏการณ์สำคัญที่ YouTube ได้สร้างให้กับสังคมไทย เพื่อให้ทุกๆ คนสามารถสร้างช่วงเวลาไพร์มไทม์ส่วนตัวขึ้นมาได้
หากเป็นสมัยก่อนแล้ว ช่วงเวลาไพร์มไทม์คือช่วงเวลาที่เราเฝ้าติดตามดูคอนเทนต์ที่เราตั้งหน้าตั้งตารอ และก็คงจะเสียดายหากต้องพลาดช่วงเวลาดังกล่าวไป แต่บนแพลตฟอร์ม YouTube แต่ละคนสามารถมีช่วงเวลาไพร์มไทม์ในการดูคอนเทนต์ที่ตัวเองชื่นชอบเมื่อไรก็ได้ ที่ไหนก็ได้ เวลาไหนก็ได้
ภาพรวมข้างต้นน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการแสดงให้เห็นว่า YouTube เข้ามามีบทบาทสำคัญกับพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวไทยในปัจจุบัน ซึ่งเป็นโอกาสที่แบรนด์จะใช้ YouTube ในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ