ครม.ไฟเขียวเปิดสถานบริการเมืองการบิน 24 ชั่วโมง เพิ่มศักยภาพรองรับธุรกิจ-ท่องเที่ยว
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 18 ก.ค. 2566 ได้อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการ (ฉบับที่…) พ.ศ….. ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ซึ่งสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฯ เป็นการกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการทุกประเภทที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะกำหนดโดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) และตั้งอยู่ในพื้นที่เมืองการบิน ภายในเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก ให้เปิดบริการได้ 24 ชั่วโมง

โดยขณะนี้ กระทรวงมหาดไทยอยู่ระหว่างดำเนินการยกร่าง พ.ร.ฎ. ออกตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถาบริการในอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง โดยมีพื้นที่เมืองการบินในเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออกรวมอยู่ในอำเภอดังกล่าวด้วย
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าวจะเป็นกฎหมายที่สนับสนุนให้ในพื้นที่เมืองการบินภาคตะวันออกสามารถดำเนินกิจกรรมสันทนาการที่จำเป็นและเหมาะสม ให้พื้นที่มีศักยภาพรองรับนักธุรกิจ ผู้เดินทาง นักท่องเที่ยวและผู้ใช้บริการสนามบินอู่ตะเภา
ครม.รับทราบผลการสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีงบ 65 เบิกจ่ายงบ 1.3 แสนล้าน
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 18 ก.ค. 2566 ได้รับทราบรายงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2565 ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นำเสนอ โดยมีข้อมูลการดำเนินการในด้านต่างๆ ดังนี้

ในด้านการเบิกจ่ายงบประมาณ มีการเบิกจ่ายงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้กับหน่วยบริการให้ผู้มีสิทธิรวม 130,480.54 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 92.84 ของงบประมาณทั้งหมด 140,550.19 ล้านบาท ด้านความครอบคลุมสิทธิหลักประกันสุขภาพ พบว่าสิทธิกองทุน สปสช. ครอบคลุมคนไทย 47.46 ล้านคน มีการลงทุนเลือกหน่วยบริการประจำ 47.18 ล้านคน คิดเป็นความครอบคลุมที่ร้อยละ 99.40
ทั้งนี้ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2565 มีหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้นมีทั้งสิ้น 15,847 แห่ง ประกอบด้วยหน่วยปฐมภูมิ 12,185 แห่ง หน่วยบริการประจำ 1,213 แห่ง หน่วยบริการรับส่งต่อทั่วไป 1,085 แห่ง หน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้าน 4,633 แห่ง
ครม.เคาะสลากกินแบ่งรัฐบาล L6 และ N3 เพิ่มทางเลือกประชาชนซื้อสลากถูกกฎหมาย
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 ว่า ตามที่ ครม.ได้มีมติ เมื่อ 14 มี.ค.66 เห็นชอบหลักการการออกผลิตภัณฑ์สลากกินแบ่งรัฐบาล ได้แก่ 1.สลาก L6 (Lottery 6 – เลข 6 หลัก มีทั้งแบบใบและแบบดิจิทัล) และ 2.สลาก N3 (Numbers 3 – เลข 3 หลัก จำหน่ายเฉพาะแบบดิจิทัล ผู้ซื้อกำหนดตัวเลขเองได้)

เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางจำหน่ายสลากรูปแบบดิจิทัลและทางเลือกในการซื้อสลากแบบถูกกฎหมายมากขึ้น ทั้งนี้ สำนักงานสลากฯ ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและศึกษาผลกระทบทางสังคมเรียบร้อยแล้ว โดยมีกลุ่มผู้ซื้อ กลุ่มผู้ขายสลาก และกลุ่มผู้ขายสลากที่เป็นผู้ด้อยโอกาสและคนพิการ เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นจำนวน 14,398 คน ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วย
วันนี้ ครม. จึงมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงและร่างประกาศเกี่ยวกับการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลแบบ L6 และ N3 รวม 3 ฉบับ คือ 1.ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการสมทบเงินรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลตัวเลขสามหลัก (Numbers 3 : N3) พ.ศ. …. 2.ร่างประกาศสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เรื่อง กำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาลหกหลัก (Lottery 6 : L6) 3.ร่างประกาศสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เรื่อง กำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาลตัวเลขสามหลัก (Numbers 3 : N3) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
ครม.รับทราบผลการดำเนินการคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย
น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 18 กรกฎาคม 2566 ว่า ที่ประชุมครม. มีมติรับทราบรายงานสรุปผลการดำเนินการคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2564 – มีนาคม 2566 ที่ได้เน้นการดำเนินการใน 2 ลักษณะ ได้แก่ (1) การปรับโครงสร้างหนี้/ไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สิน เพื่อไม่ให้เกิดการฟ้องร้องคดีจำนวนมากและการผิดนัดชำระหนี้ในวงกว้าง และ (2) การกำหนดมาตรการระยะเร่งด่วน (Quick Win) ที่ไม่สร้างภาระด้านงบประมาณแต่ช่วยลดภาระการจ่ายหนี้ของประชาชนได้ และ ครม. ยังมีมติให้รับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปทบทวนแนวทางการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินในระยะต่อไปให้เกิดความเหมาะสมก่อนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป

ความคืบหน้าผลการดำเนินการที่สำคัญ 3 ด้าน คือ 1.ช่วยเหลือลูกหนี้ให้เข้าถึงกลไกการแก้ไขหนี้สิน 2.ปรับปรุงกฎหมาย และ 3.เพิ่มเติมแหล่งสินเชื่อที่เป็นธรรม โดยแต่ละด้าน มีความคืบหน้าโดยสรุปดังนี้
- การช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มต่าง ๆ ให้สามารถเข้าถึงกลไกการแก้ไขหนี้สินได้ง่ายและเป็นธรรมยิ่งขึ้น อาทิเช่น (1) ช่วยเหลือลูกหนี้ กยศ. 4.6 ล้านราย และผู้ค้ำประกัน 2.8 ล้านรายได้รับประโยชน์จากเงื่อนไขที่ผ่อนปรนขึ้นจากการปรับปรุง พ.ร.บ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 (2) การแก้ไขหนี้สินข้าราชการในกลุ่มข้าราชการครูและตำรวจให้สามารถเข้าถึงกลไกการปรับโครงสร้างหนี้ เช่น การลดอัตราดอกเบี้ย การผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ การรับโอนสินทรัพย์เพื่อชำระหนี้ การปรับลักษณะของหนี้จากหนี้ระยะสั้นเป็นหนี้ระยะยาว การให้สินเชื่อเพิ่มเติมแก่ลูกหนี้ การขยายระยะเวลาชำระหนี้ และการให้ระยะเวลาปลอดเงินต้นและ/หรือดอกเบี้ยโดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์เป็นกลไกหลัก มีข้าราชการได้รับการแก้ไข/ปรับโครงสร้างหนี้ รวม 18,362 ราย และ (3) การจัดมหกรรมการแก้ไขหนี้สิน เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศสามารถเข้าถึงกลไกการไกล่เกลี่ยและการปรับโครงสร้างหนี้ได้อย่างทั่วถึง ทั้งหนี้ครัวเรือน (กยศ. บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อรถยนต์) และหนี้สินครู
- การปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่สำคัญเพื่อสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เอื้อให้ลูกหนี้สามารถเข้าถึงกลไกการไกล่เกลี่ยหนี้สิน และกำกับให้ธุรกิจสินเชื่อดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบยิ่งขึ้น โดยได้ขับเคลื่อนกฎหมาย กฎ และระเบียบที่สำคัญ รวม 13 ฉบับ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 กฎหมายเพื่อกำกับธุรกิจดูแลที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อ 5 ฉบับ เน้นการกำกับดูแลสินเชื่อที่ยังไม่มีการกำกับดูแล โดยให้ความสำคัญกับสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ การให้สินเชื่อของสหกรณ์ออมทรัพย์ และการทวงถามหนี้ให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น
กลุ่มที่ 2 กฎหมายเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาหนี้สินและลดภาระที่จะเกิดขึ้นต่อกระบวนการยุติธรรม 5 ฉบับ เน้นการปรับปรุงกติกา เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกลไกการไกล่เกลี่ยและการปรับโครงสร้างหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพรวมทั้งลดภาระที่จะเกิดขึ้น เช่น หนี้ กยศ. ลดเบี้ยปรับจากเดิมร้อยละ 7.5 เหลือเพียงร้อยละ 0.5 ต่อปี และกำหนดลำดับการหักชำระหนี้โดยหักเงินต้นก่อนทำให้เงินต้นลดลงได้มากกว่ากรณีที่หักชำระเบี้ยปรับและดอกเบี้ยก่อน และให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ได้ และยังมีการประกาศใช้กฎหมายเพื่อกำหนดแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
กลุ่มที่ 3 กฎหมายเพื่อบรรเทาปัญหาสำหรับประชาชนในภาวะวิกฤต 3 ฉบับ เน้นการบรรเทาปัญหาของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
- การเพิ่มเติมแหล่งสินเชื่อที่เป็นธรรมให้กับประชาชน ได้เร่งจัดหาแหล่งสินเชื่อดอกเบี้ยที่เหมาะสมเพื่อเสริมสภาพคล่องและลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบ อาทิเช่น จัดตั้งบริษัท มีที่ มีเงิน จำกัด โดยธนาคารออมสินร่วมทุนกับองค์กรที่มีภาครัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อีก 2 แห่งเพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อยให้สามารถนำที่ดินที่เป็นหลักประกันการกู้เงิน ในแบบจำนองหรือขายฝาก คิดอัตราดอกเบี้ยปีแรกร้อยละ 6.99-8.99 ต่อปี แบบลดต้นลดดอก พร้อมปลอดชำระเงินต้นนาน 1 ปี เพื่อบรรเทาปัญหาหนี้สิน ลดความเหลื่อมล้ำทางการเงิน เป็นช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนดอกเบี้ยที่ถูกลง และลดดอกเบี้ยของสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (PICO Finance) สำหรับหนี้สินที่มีหลักประกัน จากร้อยละ 36 เป็นไม่เกินร้อยละ 33 คิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก (Effective Rate)
EXIM BANK ชี้แจงกรณีเงินกู้บริษัทลูก STARK อยู่ระหว่างติดตาม-หารือกับทุกฝ่าย
ตามที่ปรากฏข่าว EXIM BANK ปล่อยกู้บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK) นั้น

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ขอชี้แจงว่า EXIM BANK ได้ปล่อยกู้ให้แก่บริษัทลูกของ STARK ดังกล่าวโดยสอดคล้องกับพันธกิจของธนาคาร เพื่อสนับสนุนวงเงินนำเข้าวัตถุดิบสำหรับผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิลทั้งที่จำหน่ายในประเทศไทยเพื่อการพัฒนาประเทศและส่งออก ซึ่งที่ผ่านมาการใช้วงเงินเป็นปกติ เมื่อบริษัทแม่ประสบปัญหา ธนาคารจึงอยู่ระหว่างการติดตามและประชุมหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาต่อไป รวมทั้งธนาคารได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรองของสถาบันการเงินเฉพาะกิจครบถ้วนแล้ว