HomeBT NewsBusiness Today Thai Politics 19 กรกฎาคม 2566 / ภาคเช้า

Business Today Thai Politics 19 กรกฎาคม 2566 / ภาคเช้า



เพื่อไทยมอบ “สุทิน” เสนอชื่อ “พิธา” โหวตนายกฯรอบ 2

ประชุม ส.ส.พรรค มีกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา มีแกนนำของพรรคหลายคนเข้าร่วมประชุมนำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค ประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรค และแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย ประกอบด้วยเศรษฐา ทวีสิน, ชัยเกษม นิติสิริ และ แพทองธาร ชินวัตร ร่วมประชุม

- Advertisement -


โดยใช้เวลาประชุมเกือบ 2 ชั่วโมง น.พ.ชลน่าน แถลงภายหลังการประชุมฯว่าที่ประชุมมีมติสำคัญกรณีประธานรัฐสภานัดหมายสมาชิกนัดประชุมวันที่ 19 ก.ค. โดยมีวาระให้ความเห็นชอบบุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่งนายกฯ โดยที่ประชุมพรรคเห็นชอบกับการเสนอชื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกลเป็นนายกฯ คนที่ 30 โดย 8 พรรคร่วม ขอให้พรรคเพื่อไทยเป็นผู้เสนอชื่อ จึงได้มอบหมายให้ สุทิน คลังแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอชื่อ และหากมีสมาชิกรัฐสภาตั้งญัตติถามว่า การโหวต พิธา เป็นการเสนอญัตติซ้ำหรือไม่ และขอให้ลงคะแนน เราจะเห็นค้านผู้เสนอญัตตินี้ เพราะเห็นว่าการเลือกนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ซึ่งสามารถเสนอชื่อซ้ำได้ โดย ส.ส.141 เสียงของพรรคเพื่อไทยพร้อมขานชื่อให้พิธา

เมื่อถามว่า หากไม่สามารถโหวตนายพิธาได้อีก ทางพรรคร่วมจะดำเนินการอย่างไรต่อ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ต้องรอดูว่าพรรคแกนนำอันดับหนึ่งว่าเขาจะดำเนินการอย่างไร และเขาจะแถลงว่าเมื่อรัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบ และให้พรรคอันดับสองมาดำเนินการ ซึ่งถ้าหากเขาประกาศออกมาแบบนั้น ก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพรรคอันดับหนึ่ง และการพูดคุยกันใน 8 พรรคร่วม


ตำรวจรักษาความปลอดภัยรอบศาลรัฐธรรมนูญเข้ม ช่วงวินิจฉัยปมหุ้นสื่อ “พิธา”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ (19 ก.ค.) เวลา 09:30 น. ศาลรัฐธรรมนูญจะมีการพิจารณาคำร้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพ ส.ส.ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกฯพรรคก้าวไกล สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(3) หรือไม่นั้น


ศาลรัฐธรรมนูญมีการออกประกาศเรื่องอาณาบริเวณหรือพื้นที่ที่กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ และสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติงานรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยโดยระบุว่า หน่วยงานทางความมั่นคงได้แจ้งต่อสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ว่า จะมีสถานการณ์ที่มีสิ่งบอกเหตุหรือข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าอาจจะมีเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยและความไม่สงบเรียบร้อยเกิดขึ้น เพื่อให้กระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงกำหนดให้อาณาบริเวณหรือพื้นที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 ปี อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เป็นพื้นที่ชั้นนอกในการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อย และเป็นพื้นที่ควบคุมตามระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยในที่ทำการศาล 2562 ห้ามผู้ใดเข้ามาในพื้นที่ควบคุมเว้นแต่ผู้ได้รับอนุญาตให้มาปฏิบัติงานหรือติดต่อราชการและต้องผ่านการตรวจบุคคลสิ่งของที่นำมาตามวิธีการของเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่ด้านการรักษาความปลอดภัย โดยประกาศดังกล่าวให้ใช้บังคับตั้งแต่วันนี้เวลา 18:00 น. ถึง 20 ก.ค.เวลา 24:00 น.

กองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้มีการจัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจมาดูแลความเรียบร้อยบริเวณโดยรอบสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกัน ก็มีการนำแผงเหล็กมากั้นบริเวณด้านหน้าห่างจากทางเข้าสำนักงานศาลรัฐธรรรมนูญราว 50 เมตร พร้อมกันนี้ ได้มีการนำรถฉีดน้ำแรงดันสูง หรือ จีโน่ และรถเติมน้ำ พร้อมรถบรรทุกควบคุมผู้ต้องหาขนาดใหญ่ 2 คัน มาจอดสแตนด์บายไว้ เพื่อรอรับมือสถานการณ์หากมีผู้ประท้วงจำนวนมาก


ผบ.เหล่าทัพ – ผบ.ตร. ร่วมประชุมสภาฯ โหวตเลือกนายกฯ รอบ 2 งดออกเสียง

รายงานข่าวจากฝ่ายความมั่นคงระบุว่าในการโหวตนายกฯ รอบ2 ในวันนี้ผู้บัญชาการเหล่าทัพเตรียมเข้าร่วมประชุมรัฐสภา ในฐานะสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โดยตำแหน่งอย่างพร้อมเพรียงกัน โดยพล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติ์ประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)


อย่างไรก็ตามพล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ลาการประชุม เดินทางไปราชการที่ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีกำหนดการเดินทางไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว โดยทิศทางการโหวตของผู้บัญชาการเหล่าทัพจะงดออกเสียงในการโหวตนายกฯครั้งนี้ รายงานข่าวระบุด้วยว่าในการโหวตเลือกนายกฯ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 ก.ค.66 ปลัดกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการเหล่าทัพ ได้ลาประชุมต่อประธานวุฒิสภา ด้วยเหตุผลติดภารกิจที่มีกำหนดการเดินทางไปต่างจังหวัด และต่างประเทศอยู่แล้ว


ศาลอาญาคดีทุจริตรับเรื่องฟ้อง “กกต.” ใช้อำนาจกลั่นแกล้ง “ก้าวไกล”

เมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำสั่งให้รับคดีไว้เพื่อตรวจฟ้อง ของยงยุทธ เสาแก้วสถิต ทนายความ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กับพวกรวม 7 คน (กกต.อีก 5 คน พร้อมด้วยนายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.) เป็นจำเลย โดยกล่าวหาว่า มีความผิดฐานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมีคำสั่งให้นัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษา ในวันที่ 8 ส.ค. 2566 เวลา 09.30 น.


โดยคำฟ้องของโจทก์มีสาระสำคัญคือ การกล่าวหาจำเลยทั้ง 7 สรุปได้ว่า เจตนาร่วมกันออกประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง 2566 ทั่วประเทศ ออกแบบัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ ที่แตกต่างกันจากการเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมา พิมพ์บัตรเกินกว่าจำเลยประชาชนมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากกว่า 7 ล้านใบ ทำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศไม่เข้าใจ หรือสับสนวุ่นวาย รวมทั้งออกระเบียบ ประกาศต่าง ๆ ในลักษณะทำทุกวิถีทางเพื่อช่วยให้พรรครัฐบาลเดิมชนะการเลือกตั้ง

โดยกกต.มีหน้าที่ต้องตรวจสอบคุณสมบัติของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกคนตามกฎหมาย แต่จำเลยทั้ง 7 หาได้ทำตามอำนาจหน้าที่ของพวกตนไม่ จนปล่อยล่วงเลยมาถึงวันเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มายื่นคำร้องต่อจำเลยทั้ง 7 กล่าวหาว่าพิธา ถือหุ้นสื่อบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น itv จำนวนเพียงประมาณ 42,000 หุ้น

จึงอาจขาดคุณสมบัติที่จะเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง เป็นการเจตนาร่วมกันกลั่นแกล้งพิธา ด้วยการประชุม วินิจฉัย ลงมติ หรือมีความเห็นร่วมกันส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลการเมืองอย่างเร่งรีบ เพื่อให้วินิจฉัยว่าพิธาไม่มีคุณสมบัติหรือขาดคุณสมบัติที่จะสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เพราะถือหุ้นสื่อ และขอให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง โดยจำเลยทั้ง 7 มิได้ดำเนินการสืบสวน ไต่สวน และวินิจฉัยให้ละเอียดรอบคอบเสียก่อนตามขั้นตอนของกฎหมาย อันเป็นการดำเนินการก่อหรือขณะวันโหวตเลือกพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 13 ก.ค. 2566 เพื่อลดความน่าเชื่อถือของพิธา และพรรคก้าวไกลต่อสมาชิกรัฐสภา จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริตทำให้บุคคลอื่นคือโจทก์ และพิธาได้รับความเสียหายจึงต้องมีการยื่นคำฟ้องมายังศาลฯ


“ชาดา” ชี้เงื่อนไข ภูมิใจไทยจับมือเพื่อไทยต้องไม่มีก้าวไกลร่วมรัฐบาล

ชาดา ไทยเศรษฐ์ รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และส.ส.จังหวัดอุทัยธานี กล่าวว่าตอนนี้ยังเป็นไปได้ที่พรรคภูมิใจไทย จะเสนอชื่ออนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะในพรรคยังไม่มีการคุยกัน และขอย้ำว่า พรรคภูมิใจไทยไม่ตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย เพราะเป็นการดูถูกคะแนนประชาชน และจะไม่ยุ่งกับพรรคที่แก้ไขมาตรา 112


เมื่อถามว่า หากกรณีพรรคเพื่อไทย พลิกขั้วเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ยังจับมือ กับพรรคก้าวไกลอยู่ พรรคภูมิใจไทยจะสามารถร่วมได้หรือไม่ ชาดา กล่าวว่า ถ้าตรงไหนมีพรรคที่แก้มาตรา 112 อยู่ จะอยู่ตรงไหนส่วนเล็กส่วนใหญ่ ก็ไม่ร่วมแน่นอน ซึ่งถ้าพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาล พรรคภูมิใจไทยก็ไม่ร่วมรัฐบาลด้วย

Business Today
Business Todayhttps://businesstoday.co
Supporting Thailand's business communities./ FB Page: Business Today Thai/ Social: Business Today Thai (สำหรับ Twitter, YouTube, Telegram)/ LINE: @Business today/ เว็บที่เกี่ยวข้อง: Thailand Today: www.thailandtoday.co/ FB: Thailantoday.co (English)/ Thailand Today News: www.thailandtoday.news/ FB: Thailandtoday.news (Mandarin Chinese)

Latest

ติดตามข่าวสารอัพเดททันใจจาก Businesstoday ได้โดยกรอกอีเมลด้านล่าง

Related News