นายยาซุชิ โมริยามะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค กันยงวัฒนา จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้ปีงบประมาณ 2563 ไว้ที่ 16,700 ล้านาบาท เติบโตขึ้น 8% จากปีงบประมาณ 2562 ที่คาดว่าจะปิดตัวเลขรายได้อยู่ที่ 15,500 ล้านบาท หรือเติบโตมากกว่า 7% เมื่อเทียบกับปีงบประมาณก่อนหน้า
สำหรับในปีงบประมาณ 2563 บริษัทใช้งบประมาณทางการตลาดรวม 1,050 ล้านบาท ขณะที่กลยุทธ์การเติบโตในปีงบประมาณนี้คือ 1.ด้านผลิตภัณฑ์ ที่จะมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ 3 กลุ่มลงสู่ตลาด ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ, ตู้เย็น และ พัดลม ซึ่งมาพร้อมเทคโนโลยีกรองและตรวจจับฝุ่นขนาดเล็ก (PM 2.5) และ 2.ด้านการตลาด ซึ่งจะใช้ Big Data นำข้อมูลมาวิเคราะห์ลูกค้าเพื่อนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์รวมถึงการวางแผนการขายและการคำนวนปริมาณสต๊อกสินค้า พร้อมกันการใช้ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง
ขณะที่ ภาพรวมตลาดเครื่องปรับอากาศในประเทศไทยปีงบประมาณ 2563 คาดว่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ราว 31,000-32,000 ล้านบาท เติบโตขึ้นราว 6% เมื่อเทียบกับปีงบประมาณก่อนหน้าที่อยู่ที่ 30,000 ล้านบาท โดยปัจจัยการเติบโตมาจากสภาวะอากาศที่ร้อนขึ้นเป็นปัจจัยบวกหลักที่ส่งผลให้ตลาดเติบโต ส่วนทางด้านปัจจัยลบด้านอื่นๆ อาทิ อัตราการบริโภคภายในประเทศชะลอตัว, การส่งออกชะลอตัว และคาดการณ์อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เติบโตต่ำ รวมไปถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 เหล่านี้มีความกังวลว่าอาจจะมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท
“เมื่อพิจารณาระหว่างปัจจัยลบและปัจจัยบวกแล้วนั้นยังเชื่อว่าทั้งภาพรวมตลาดเครื่องปรับอากาศและเป้าหมายรายได้ของบริษัทในปีงบประมาณ 2563 จะสามารถบรรลุตามที่คาดการณ์ไว้ได้ ซึ่งบริษัทยังคงเชื่อมั่นว่าจะสามารถครองอันดับ 1 ของส่วนแบ่งตลาดเครื่องปรับอากาศไว้ได้อย่างต่อเนื่องแน่นอน”
อย่างไรก็ตาม จากสภาวะอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นควัน PM 2.5 ต่อเนื่องต่อติดกัน ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาการทำตลาดในผลิตภัณฑ์เครื่องฟอกอากาศในประเทศไทย ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการศึกษาข้อมูลตลาดอยู่คาดว่าจะทราบผลในเร็ววันนี้
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณนี้จะมีการยกระดับการบริการหลังการขายและพัฒนาช่องทางการติดต่อ Hotline 1325 พร้อมเปิดบริการซ่อมเครื่องปรับอากาศภายในบ้านแบบด่วนพิเศษภายใน 24 ชั่วโมง ภายใต้ชื่อ “Express Team Service” ให้บริการในเขตพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล อีกทั้งการเปิดศูนย์กระจาย (สมาร์ทฮับ) แห่งแรกที่ จ.ลำปาง โดยให้บริการครอบคลุมพื้นที่ 12 จังหวัดในเขตภาคเหนือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกระจายสินค้าถึงมือผู้รับได้รวดเร็วขึ้น โดยหลังจากนั้นมีแผนที่จะขยายสมาร์ทฮับดังกล่าวไปยังภูมิภาคอื่นๆในอนาคตอันใกล้