สำนักข่าวซินหัว สื่อทางการของจีน เผยแพร่ผบการศึกษาที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยมิชิแกน (UM) เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (15 ม.ค.) ชี้ว่าเราสามารถทำนายสิ่งที่วัยรุ่นจะกินเป็นมื้อค่ำได้ จากวิธีที่สมองของพวกเขาตอบสนองต่อโฆษณาอาหารฟาสต์ฟู้ดทางโทรทัศน์
ตัวอย่างการศึกษาในวัยรุ่น 171 คนอายุระหว่าง 13-16 ปี ซึ่งดูโฆษณาอาหารฟาสต์ฟู้ดที่ไม่ดีต่อสุขภาพ อันประกอบด้วย ชีสเบอร์เกอร์ และมันฝรั่งทอด รวมถึงดูโฆษณาอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากกว่า เช่น สลัด แซนด์วิชไก่ย่าง และยังดูโฆษณาที่ไม่ใช่อาหาร โดยขณะที่พวกเขากำลังดูโฆษณาอยู่นั้น ผู้วิจัยจะใช้เครื่องแสกนสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและคลื่นวิทยุ (FMRI) บันทึกการทำงานของสมอง
โดยผู้เข้าร่วมทดลองจะสามารถสั่งอาหารที่ปรากฏในโฆษณาซึ่งมีโภชนาการแตกต่างกันในร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดจำลองมาทานได้
การศึกษาพบว่า วัยรุ่นที่สมองด้านการให้รางวัลมีการตอบสนองค่อนข้างมากเมื่อดูโฆษณาอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่นชีสเบอร์เกอร์และมิลค์เชคจากร้านฟาสต์ฟู้ด จะกินอาหารขยะมากขึ้นในร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดจำลอง
น่าแปลกใจว่า วัยรุ่นที่มีการตอบสนองทางสมองส่วนการให้รางวัล ความจำ และการจดจ่อทางสายตา ต่อโฆษณาอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากกว่า เช่น สลัดและสมูทตี้จากร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด ก็มีแนวโน้มที่จะทานอาหารขยะมากขึ้นเช่นกัน
การศึกษายังพบว่า การกระตุ้นประสาทในสมองส่วนการให้ “รางวัล” อาจส่งผลให้บริโภคอาหารโดยรวมมากขึ้น และโฆษณาเชิงสุขภาพจากร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดไม่อาจกระตุ้นการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพได้ ตลอดจนพบว่าโลโก้ร้านอาหารและแรงกระตุ้นจากแบรนด์ก็มีผลกับการที่อาหารฟาสต์ฟู้ดมีอำนาจเหนือกว่า
นอกจากนี้ วัยรุ่นที่มีการตอบสนองของสมองน้อยกว่าขณะจดจ่อมองภาพโฆษณาอาหารฟาสต์ฟู้ด เลือกบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น
แอชลีย์ เกียร์ฮาร์ดต์ (Ashley Gearhardt) รองศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยมิชิแกนและผู้เขียนบทความวิจัยหลักกล่าวว่า “ความสามารถของโฆษณาอาหารฟาสต์ฟู้ดที่ส่งผลกับระบบสมองเหล่านี้ อาจอยู่นอกเหนือจุดที่สติควบคุมได้ เป็นปัญหาท้าทายสำหรับวัยรุ่นที่ต้องป้องกันตนเองจากผลลัพธ์เชิงลบของการตลาด”
เกียร์ฮาร์ดต์เสนอว่า การลดปริมาณโฆษณาอาหารโดยรวมที่จะผ่านตาวัยรุ่นเป็นเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาสุขภาพ
อนึ่ง การค้นพบดังกล่าวตีพิมพ์ในวารสารดิอเมริกันจอร์นัลออฟคลินิกคอลนูทรีชั่น (The American Journal of Clinical Nutrition)