แผนกลยุทธ์ ‘ไทยออยล์’
วิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อุตสาหกรรมปิโตเลียมเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ถูก disrupt จากการเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลก รวมถึงการพัฒนาของเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานทำให้เกิดผลกระทบด้านการแข่งขันทางธุรกิจ ทำให้ไทยออยล์มีการวางแผนกลยุทธ์เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
1.Strengthen the core (ธุรกิจการกลั่นน้ำมัน และธุรกิจไฟฟ้า)
– เพิ่มกำลังการผลิต และอัพเกรดผลิตภัณฑ์โดยโครงการ CFP
– มีรายได้ที่มั่นคงจากธุรกิจไฟฟ้า
– การบริหารสินทรัพย์และการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ

2. Value Chain Enhancement (ธุรกิจเคมี) ดำเนินการขยายห่วงโซ่การผลิต ผ่านความร่วมมือและการร่วมลงทุน
– โครงการ CFP ไม่ใช่ปลายทางแต่บริษัทฯ ยังมีแนวคิดที่จะขยายธุรกิจต่อไปหลังจากโครงการ CFP แล้วเสร็จ
– อะโรเมติกส์
– โอเลฟินส์
– ผลิตพิเศษมูลค่าสูง (High Value Specialty Product)
3.Seed the Options (ธุรกิจนวัตกรรม) ดำเนินการเข้าสู่ธุรกิจใหม่ผ่านทางวิจัยและพัฒนา (Research and Development) การร่วมลงทุนกับสตาร์ทอัพ (Corporate Venture Capital & Start-ups) ในธุรกิจที่เกี่ยวกับ
-เทคโนโลยีด้านการผลิต (Manufacturing Technology)
-เทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมและพัฒนาคุณภาพชีวิต (Green & Human Technology)
-เทคโนโลยีเปลี่ยนธุรกิจปิโตรเลียม (Hydrocarbon Disruption Technology)

ภาพรวมผลประกอบการครึ่งปีแรก 2562 และภาพรวมปี 2563
ภัทรลดา สง่าแสง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ด้านการเงินและบัญชี บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 พบว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวประกอบกับราคาน้ำมันเบนซิน(ULG) ที่ปรับตัวลดลงส่งผลกดดันค่าการกลั่นในภูมิภาค อีกทั้งในไตรมาสที่ 2 และ 3 บริษัทฯ หยุดบำรุงใหญ่หอกลั่นที่ 3 (CDU3) และหน่วยกลั่นที่เกี่ยวข้องส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการกลั่นปรับตัวลง ทั้งนี้การซ่อมบำรุงได้เสร็จสิ้น และช่วงกลางไตรมาสที่ 3 และ 4 อัตราการใช้กำลังการกลั่นกลับมาอยู่ในระดับปกติ
ขณะที่ปลายไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี 2562 และตลอดปี 2563 บริษัทฯ คาดว่า ค่าการกลั่นจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันในภูมิภาคที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง รวมทั้งเข้าสู่ฤดูหนาวและฤดูกาลท่องเที่ยว ประกอบกับการบังคับใช้กฎระเบียบควบคุมการปล่อยกำมะถันของเรือเดินทะเล (IMO) ส่งผลให้ส่วนต่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปโดยเฉพาะดีเซล และค่าการกลั่นในภาพรวมปรับสูงขึ้น
แผนการลงทุนในอนาคตของบริษัทฯ และแผนการจัดหาเงินทุน
ในปี 2562-2566 บริษัทฯ มีแผนลงทุนเป็นจำนวนเงินทั้งหมดประมาณ 4,834 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ประกอบด้วยโครงการปรับปรุงหน่วยผลิตต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ, โครงการลงทุนด้านโลจิสติกส์และสาธารณูปโภค 299 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มทุน GPSC 574 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และโครงการพลังงานสะอาด (CFP) 3,961 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยบริษัทฯ มีแผนการจัดหาเงินทุนโดยใช้เงินสดที่บริษัทมีอยู่ประกอบกับเงินสดจากการดำเนินงานในอนาคตและการจัดหาเงินผ่านการกู้ยืม และ/หรือออกหุ้นกู้เพิ่มเติมโดยพิจารณาตามสภาวะตลาดตราสารหนี้ที่เหมาะสม
ขณะที่กลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา บริษัทฯ ประสบความสำเร็จในการออกและเสนอขายหุ้นกู้สกุลเหรียญสหรัฐอเมริกาไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิจำนวนรวม 565 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยหุ้นดังกล่าวได้รับการจัดลำดับความน่าเชื่อถือจาก Standard and Poor’s และ Moody’s ที่ระดับ BBB+ และ Baa1 ตามลำดับโดยมีอายุ 30 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 3.50 ต่อปี อีกทั้งเป็นหุ้นกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำที่สุดของบริษัทที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับ BBB (Investment Grade) จากภูมิภาคเอเชียในรอบปีที่ผ่านมา

สถานการณ์ตลาดไตรมาส 4/2562 และปี 2563
สำหรับสถานการณ์ไตรมาสที่ 4/2562 ฉัตรฐาพงศ์ วังธนากร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ด้านการพาณิชย์องค์กร บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำหรับตลาดน้ำมันดิบ ราคามีแนวโน้มอ่อนตัวลง เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ปี 2562 จากสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาประกอบกับกำลังการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น จากการเปิดดำเนินการของท่อขนส่งน้ำมัน Gray Oak (900KBD) ในสหรัฐฯ ช่วงปลายปี รวมทั้งกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรปรับลดกำลังการผลิตลง เพื่อรักษาสมดุลของอุปทานน้ำมันดิบในตลาดโลก
ขณะที่ตลาดอะโรมาติกส์ ทางด้านตลาดสารพาราไซลีน คาดว่าตลาดยังคงอ่อนตัวเนื่องจากอุปทานขึ้นใหม่ในจีนไตรมาสที่ 2 ที่มีกำลังการผลิต 4.6 ล้านตันต่อปี และไตรมาสที่ 4 ที่จีนและบรูไนมีกำลังการผลิต 0.6 ล้านตันต่อปี ส่งผลให้อุปทานล้นตลาดอย่างต่อเนื่อง ส่วนตลาดสารเบนซิน คาดว่าตลาดจะทรงตัวในระดับต่ำ เนื่องจากอุปทานใหม่ในเอเชียและตะวันออกกลาง ทั้งในไตรมาสที่ 2 และอุปทานที่จะเปิดใหม่ในไตรมาสที่ 4 หากนำไตรมาสที่ 4 เทียบกับไตรมาสที่ 3 พบว่าจะมีอุปทานเพิ่มขึ้น 0.2 ล้านตันและอุปสงค์หดตัว 0.1 ล้านตัน
สำหรับตลาดน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน คาดว่าจะปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ โดยได้รับปัจจัยกดดันจากอุปสงค์น้ำมันหล่อลื่นที่ปรับตัวลดลงหลังเข้าสู่ช่วงหน้าหนาว ประกอบกับอุปทานปรับเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากจีนและสิงคโปร์ ขณะที่การปิดซ่อมบำรุงของโรงงานผลิตน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานในครึ่งปีหลังมีจำนวนต่ำกว่าในครึ่งปีแรก
ส่วน สถานการณ์ตลาดในปี 2563 ตลาดน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบทรงตัวเมื่อเทียบกับปี 2562 โดยคาดว่าอุปสงค์น้ำมันในปี 2563 เติบโต 1.0-1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่อุปทานเติบโตเพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ และยุโรป 1.3 และ 0.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ ทั้งนี้กลุ่มโอเปกจะยังคงปรับลดกำลังการผลิตเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา
สำหรับตลาดอะโรมาติกส์ ทางด้านตลาดสารพาราไซลีน คาดว่าตลาดอ่อนตัวต่อเนื่องจากอุปทานล้นตลาดในปี 2562 และอุปทานใหม่ปี 2563 โดยเฉพาะประเทศจีน ส่วนกำลังการผลิตใหม่ในเอเชียและตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น 7.9 ล้านตันต่อปี ทำให้อัตราการผลิตปรับลดลงจาก 80.4% เป็น 73.7% ส่วนตลาดสารเบนซีน คาดว่าตลาดจะทรงตัวในระดับต่ำ เนื่องจากอุปทานใหม่ในเอเชียและตะวันออกกลาง โดยในปี 2563 จะมีอุปทานเพิ่มขึ้น 3.2 ล้านตันต่อปี ส่งผลให้อัตราการผลิตปรับลดลงจาก 75.2% เป็น 73.7%
ขณะที่ตลาดน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน คาดว่าจะปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปี 2562 จากอุปทานที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เมื่อเปรียบเทียบกับอุปสงค์ที่เติบโตค่อนข้างน้อย