จากปัญหา “หนี้ครัวเรือน” ของไทยซึ่งตัวเลขจาก “สภาพัฒน์ฯ” ในไตรมาส 2/62 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 78.7% ต่อผลผลิตมวลรวมในประเทศ (จีดีพี) แบ่งเป็น กลุ่มหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล 34% หนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย 33% หนี้สินเชื่อเพื่อธุรกิจ 18% หนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ 12% และหนี้บัตรเครดิต 3% ส่งผลให้เกิดความกังวลเรื่องการก่อหนี้เกินตัวของคนไทย
- (อ่านข่าว >> คนไทย “หนี้” พุ่ง เฉลี่ย 195,000 บาท ต่อหัว)
- (อ่านข่าว >> เปิดโครงสร้าง “หนี้ครัวเรือน” ทำไม “คลัง” ชี้ว่าไม่รุนแรง)
“แบงก์” มั่นใจ “หนี้ครัวเรือน” ยังรับมือได้
“นายปรีดี ดาวฉาย” ประธานสมาคมธนาคารไทย ระบุว่าสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยของรายได้ที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าค่าใช้จ่าย และปัจจุบันที่สังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจากเทคโนโลยีที่เข้ามาและความทันสมัยของนวัตกรรมต่างๆ ทำให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ระดับหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันถือว่ายังเป็นระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ และยังไม่ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยและผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์ แต่หากหนี้ครัวเรือนปรับเพิ่มขึ้นไปแตะที่ระดับ 84% จะถือว่าเป็นระดับที่มีความเสี่ยงที่จะสร้างผลกระทบค่อนข้างมาก โดยในส่วนนี้ สมาคมธนาคารไทยได้ตระหนักถึงการควบคุมการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง ซึ่งได้มีการลงนามระหว่างธนาคารพาณิชย์และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อแบบรับผิดชอบ (Responsible Loan) ไปแล้ว
เตรียมทบทวน “โปรโมชั่นผ่อน 0%” ที่ไม่จำเป็น
โดยล่าสุด “สมาคมธนาคารไทย” และ “ธนาคารพาณิชย์” ได้มีการลงนาม ระหว่าง “ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)” เกี่ยวกับการปล่อย สินเชื่อแบบรับผิดชอบ (Responsible Loan) ซึ่งจะทำให้ธนาคารตระหนักถึงความรับผิด ชอบในการให้สินเชื่อตั้งแต่รายใหญ่ถึงรายเล็ก โดยจะต้องพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ในการให้สินเชื่อมากขึ้น จะไม่สนับสนุนการสร้างหนี้โดยไม่จำเป็น
โดยเฉพาะจะลดโปรโมชั่นเที่ยวก่อน จ่ายทีหลัง, แบ่งจ่ายเบา 0% นาน 4 เดือน หรือผ่อนมือถือ 0% นาน 10 เดือน เป็นต้น โดยเชื่อว่าการคัดกรองดังกล่าวน่าจะเป็นผลดีลดภาวะการก่อหนี้ครัวเรือนได้ ทั้งนี้ หากธนาคารพาณิชย์ใดมีความพร้อมก็สามารถทำได้ทันที
“จะมีการทบทวนแนวทางการปล่อยสินเชื่อในประเภทดังกล่าว รวมถึงการออกโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นในส่วนของการจับจ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็นเพื่อความสุขสำราญ ซึ่งโปรโมชั่นเหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัจจัยให้มีการก่อหนี้เพิ่มขึ้น” นายปรีดีกล่าว
นายปรีดี ระบุว่า ธนาคารพาณิชย์จะต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบในการให้สินเชื่อ ทั้งสินเชื่อรายใหญ่ไปจนถึงสินเชื่อรายย่อย อีกทั้งการให้สินเชื่อนั้นจะต้องไม่ก่อให้เกิดปัญหากระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการให้ธนาคารพาณิชย์มีความรับผิดชอบในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น อันจะส่งผลดีต่อการช่วยลดการก่อหนี้ภาคครัวเรือน
โดยสินเชื่อบางประเภทที่ให้อัตราดอกเบี้ย 0% ยังสามารถทำได้ตามปกติ เพราะการให้อัตราดอกเบี้ย 0% ของสินเชื่อบางประเภท ถือเป็นการช่วยเหลือลูกค้าและลดต้นทุนให้กับลูกค้าได้ในกลุ่มสินเชื่อเพื่อความจำเป็น ซึ่งการทบทวนแนวทางในเรื่องนี้จะพิจารณาจากความเหมาะสมของสินเชื่อแต่ละประเภท ส่วนในแง่ผลกระทบในการระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อนั้น อาจจะส่งผลต่อการเติบโตของสินเชื่อในระบบบ้างเพียงเล็กน้อย แต่ถือว่าเป็นสิ่งดีที่จะช่วยลดหนี้ครัวเรือนลดลงได้