จับตา “เพื่อไทย”นัดคุย “รทสช.” วันนี้ จ่อแถลงร่วมตั้งรัฐบาล
รายงานจากพรรคเพื่อไทย แจ้งว่า ในวันนี้ทีมเจรจาจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย ประกอบด้วย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค นัดหารือกับพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ เพื่อทำความเข้าใจถึงแนวทางการเข้าร่วมรัฐบาล โดยนัดหมายกันที่รัฐสภา

อย่างไรก็ตามเบื้องต้นพรรคเพื่อไทย แจ้งว่า จะเป็นการพูดคุยเพื่อหาข้อสรุปด้วยกันในการเข้าร่วมรัฐบาลเพื่อไทย และโหวตนายกรัฐมนตรีที่จะมีขึ้นในวันที่ 22 ส.ค. ส่วนจะแถลงข่าวร่วมกันเลยหรือไม่ ขอประเมินความคืบหน้าในการพูดคุยอีกครั้งหนึ่ง
“ภูมิใจไทย” รอ “เพื่อไทย” นัดถกร่วมรัฐบาล เชื่อได้ข้อสรุปเร็วๆนี้
อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยกล่าวว่า ไม่ทราบกรณีที่พรรคเพื่อไทยเตรียมหารือกับพรรครวมไทยสร้างชาติในการจัดตั้งรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนของพรรคภูมิใจไทยจะพูดคุยกับพรรคเพื่อไทยเมื่อไหร่ อนุทิน กล่าวว่านัดคุยกันอยู่ คงคุยกับทุกพรรคให้เรียบร้อยก่อน เชื่อว่าเร็วๆนี้จะนัดหมายกันและได้ข้อสรุป
ด้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมกล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยเตรียมเชิญพรรครวมไทยสร้างชาติ ร่วมจัดตั้งรัฐบาล ว่า ไม่ได้คุยกันเรื่องนี้ ขอให้แยกแยะ เป็นเรื่องของหน้าที่
ขณะนี้ นายกฯ ยังเดินหน้าทำงานในหน้าที่ต่อในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ใช่หรือไม่ก็ พูดไปหลายครั้งแล้ว ประเทศชาติเดินหน้าทุกวัน มีปัญหาทุกวัน ก็ต้องทำงานตรงนั้นดีกว่า ทำไมต้องไปขัดแย้งกัน ก็ขอสื่อแล้วกันอย่าไปขยายความขัดแย้งอีกเลยพอแล้ว
“สนธิญา” ยื่น “กกต.” ฟ้อง “พิธา” บิดเบือนข้อมูลตัดเบี้ยสูงอายุ
สนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ยื่นร้องต่อ กกต.ขอให้ตรวจสอบการกระทำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เข้าข่ายใส่ร้ายด้วยความเท็จจงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครและพรรคการเมืองตามมาตรา 73(5) พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.หรือไม่

เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่เขตเลือกตั้งที่ 3 จ.ระยอง พิธา กล่าวหารัฐบาลรักษาการ โดยให้สัมภาษณ์บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอแกลง จ.ระยอง เกี่ยวกับกรณีรัฐบาลรักษาการปรับลดเกณฑ์เบี้ยผู้สูงอายุลดลงกว่า 5 ล้านคน ประหยัดงบประมาณ 3 หมื่นล้านบาท เท่ากับเรือดำน้ำ 1 ลำ ตนเห็นว่า การพูดลักษณะดังกล่าวมีส่วนทำให้การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 3 จังหวัดระยอง ที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่สุจริตเที่ยงธรรม
ม็อบ We Fair บุกกระทรวงการคลัง ค้านตัดเบี้ยสูงอายุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ, เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) และเครือข่ายสลัมสี่กาด ประมาณ 60-70 คน ได้เดินทางมาเรียกร้องยื่นหนังสือคัดค้านการตัดสิทธิเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุผู้มีฐานะร่ำรวย ต่อปลัดกระทรวงการคลัง จากการประกาศปรับระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพ ผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2566 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค.66 หลังจากนั้นจะเดินทางไปยังกระทรวงมหาดไทยต่อร้องเรียนต่อไป

ทั้งนี้ ได้มีการแถลงการณ์ประชาชนต่อการตัดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ว่า ในห้วงยามที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวดี รัฐบาลทหารยังคงรักษาการณ์ในช่วงดูกรุ่นของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ กระทรวงมหาดไทยอาศัยจังหวะฝุ่นตลบนี้ออกหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเพิ่มคุณสมบัติ การเป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพเข้ามาเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการรับสวัสดิการเบี้ยยังชีพของผู้สูงอายุทั้งที่กว่าทศวรรษ สวัสดิการรายเดือนของผู้สูงวัยถูกปรับให้ก้าวหน้าขึ้น เปลี่ยนจากการสงเคราะห์คนยากไร้มาให้สิทธิอย่างถ้วนทั่วทุกคน ขอเพียงให้มีอายุ 60 ปี และไม่ได้รับสวัสดิการ หรือบำนาญอื่นใดจากรัฐในลักษณะเดียวกัน
แต่จากการดำเนินงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการคลัง และกระทรวงมหาดไทย ภายใต้การนำของรัฐบาลทหาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ไม่เคยเชื่อมั่นในระบบสวัสดิการถ้วนหน้า กลับลิดรอน ลดทอนด้อยค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยการให้พิสูจน์ความยากจนเสมอมา แต่ทว่าขี้ขลาด ไม่เคยแสดงความองอาจ และความกล้าหาญที่จะลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของพลเมืองในประเทศนี้ให้อยู่ดีกินดีเลยสักครั้ง
โดยขอเรียกร้องให้
- กระทรวงมหาดไทย ให้ยกเลิกระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2566 แล้วกลับไปใช้ระเบียบเดิม ซึ่งคงสิทธิถ้วนหน้า โดยไม่ต้องพิสูจน์ความยากจน และตัดสิทธิการรับสวัสดิการซ้ำช้อนไว้แล้ว
- คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ต้องออกมาปกป้องสิทธิของผู้สูงอายุทุกคน ไม่ให้ถูกลิดรอนต่ำลงไปกว่าที่เดยเป็น ด้วยการไม่สนองตอบต่อหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2566
- กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ยกระดับการเปลี่ยนเบี้ยยังชีพให้เป็นบำนาญถ้วนหน้า ด้วยการออกเป็นกฎหมายรองรับ ไม่ใช่ใช้หลักนโยบายการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามมติคณะรัฐมนตรี
- กระทรวงการคลัง ทำหน้าที่ของตัวเองในการศึกษาตัดงบรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และหาแหล่งรายได้ใหม่ ๆ เข้ารัฐ เพื่อเพิ่มรายได้มาเติมเต็มการจัดสวัสดิการให้กับประชาชนแบบถ้วนหน้า เช่น การศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่ง ภาษีลากลอย ภาษีกำไรจากการซื้อขายหุ้น เป็นต้น
- รัฐบาลใหม่ ต้องผลักตันให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีเรื่องรัฐสวัสดิการเป็นสิทธิแบบถ้วนหน้าบรรจุในกฎหมายให้ชัดเจน
รัฐบาลชวนเกษตรกรขึ้นทะเบียน รับความช่วยเหลือจากรัฐ
รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเชิญชวนเกษตรกรขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์ e-Form ทางเว็บไซด์ efarmer.doae.go.th โดยทำการลงทะเบียนและกรอกข้อมูลที่สำคัญต่างๆ จากนั้น รอการตรวจสอบข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ประมาณ 5 วันทำการ จึงจะสามารถดำเนินการการขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรได้ รวมถึงสามารถปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรผ่านแอปพลิเคชัน Farmbook ได้ทั้งระบบ iOS และ Android

ในปี 2566 กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการเพิ่มช่องทางการขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรผ่านระบบออนไลน์ด้วยเครื่องมือ e-Form เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่เกษตรกร และตอบโจทย์ในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสนับสนุนในการปฏิบัติงาน ทำให้ในปัจจุบันเกษตรกรทุกรายที่เพาะปลูกหรือประกอบกิจกรรมทางการเกษตร เช่น ปลูกข้าว ปลูกผัก ปลูกผลไม้ ปลูกพืชแบบสวนผสม ทำนาเกลือสมุทร และเพาะเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจ สามารถขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรได้ 2 ทาง คือ แจ้งกับเจ้าหน้าที่ และดำเนินการด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์
สำหรับผู้ที่ขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรกับเจ้าหน้าที่ ต้องยื่นแบบ ทบก.01 พร้อมด้วยบัตรประชาชนตัวจริง และสำเนาหลักฐานถือครองที่ดิน ณ สำนักงานเกษตรอำเภอที่ตั้งแปลงปลูกหรือจุดนัดหมายที่สำนักงานเกษตรอำเภอนั้น ๆ กำหนด หรือผ่านผู้นำชุมชนหรือตัวแทนอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถแจ้งขึ้นทะเบียนเกษตรกรได้เมื่อทำการเพาะปลูกแล้ว 15 วัน หากเป็นไม้ผลหรือไม้ยืนต้น ให้แจ้งขึ้นทะเบียนเกษตรกรได้เมื่อทำการเพาะปลูกแล้ว 30 วัน และปรับปรุงข้อมูลทุกปีให้เป็นปัจจุบัน สำหรับเกษตรกรรายย่อยที่มีเนื้อที่การเพาะปลูกขั้นต่ำแต่ละชนิดไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด สามารถขึ้นทะเบียนเกษตรกรได้ โดยเกษตรกรต้องยืนยันว่ามีรายได้ที่คาดว่าจะได้รับจากการประกอบการเกษตรตามที่แจ้งขึ้นทะเบียนดังกล่าวในรอบปีเพาะปลูกนั้นๆ เกิน 8,000 บาท ขึ้นไป