คลังเตรียมผลักดันเงินเข้าระบบ ไม่กระทบเงินสวัสดิการกลุ่มเปราะบาง
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เนื่องด้วยขณะนี้อยู่ในช่วงรอยต่อการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล และหลายฝ่ายโดยเฉพาะภาคธุรกิจได้แสดงความกังวลว่าจะเกิดความล่าช้าในการบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมต่อข้อกังวลดังกล่าวกระทรวงการคลังได้เตรียมแผนการดูแลเศรษฐกิจไว้แล้ว ซึ่งเป็นไปตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ร่วมกันขับเคลื่อนงานตามภารกิจแม้จะเป็นช่วงรัฐบาลรักษาการ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจต้องรักษาความต่อเนื่องของการฟื้นตัว ทางด้านงบประมาณก็ให้ใช้จ่ายให้เป็นไปตามที่กฎหมายให้ทำได้ และไม่กระทบต่อสวัสดิการของประชาชนกลุ่มเปราะบาง

โดยในส่วนงบรายจ่ายประจำนี้ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2562 เปิดทางให้สามารถใช้จ่ายได้ กล่าวคือ หากปีใดเกิดกรณี พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายล่าช้าก็สามารถใช้ พ.ร.บ.งบประมาณปีก่อนหน้า(ในกรณีนี้คือใช้พ.ร.บ.งบประมาณปี66) ไปพลางก่อนได้ ซึ่งการสามารถใช้จ่ายงบรายจ่ายประจำได้นี้จะรวมถึงงบสวัสดิการต่างๆ เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ด้วย
“กระทรวงการคลังย้ำว่า ถึงแม้เกิดกรณี พ.ร.บ.งบประมาณ 2567 ล่าช้า ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อการจ่ายเงินเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เนื่องจากเป็นงบรายจ่ายประจำและมีเงินกองทุนสวัสดิการแห่งรัฐอยู่แล้ว ส่วนที่จะชะลอไว้รอรัฐบาลใหม่จะมีเพียงส่วนของงบลงทุนใหม่เท่านั้น”
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ส่วนที่ 2 ที่กระทรวงการคลังเตรียมไว้คือ การเร่งรัดให้รัฐวิสาหกิจประมาณ 50 แห่งเร่งเบิกจ่ายเพื่อการลงทุน จากงบลงทุนของทุกแห่งรวมกันประมาณ 5 แสนล้านบาท คาดว่าจะมีส่วนที่สามารถขยับการลงทุนให้เร็วขึ้นและเบิกจ่ายได้ก่อน (Front Load) ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท
ส่วนที่ 3 ให้สถาบันการเงินของรัฐเร่งรัดการปล่อยสินเชื่อตามโครงการที่เคยได้รับอนุมัติให้ดำเนินการไปแล้ว ซึ่งยังเหลือวงเงินประมาณ 70,000 ล้านบาท
รัฐเพิ่มความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติ คาดผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจีนสนเข้าลงทุน
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเดินหน้าส่งเสริมการลงทุน และสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC ได้จัดกิจกรรมและพบปะนักลงทุน ทั้งในและต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญ มั่นใจจะเป็นโอกาสเพิ่มตัวเลขการค้าการลงทุนในไทย

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า EEC หารือกับหน่วยงานสำคัญด้านการลงทุน รวมถึงพบปะกับผู้บริหารระดับสูงจากฝรั่งเศส ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญ อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อาทิ กลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งทุกบริษัทได้แสดงความสนใจในการเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC ของประเทศไทย โดย EEC ได้นำเสนอข้อมูลและโอกาสการลงทุน พร้อมแสดงจุดเด่นในพื้นที่ EEC เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลัก ที่รองรับการคมนาคมขนส่งอย่างไร้รอยต่อ ทั้งทางบก เรือ อากาศ ซึ่งจะเป็นประตูเชื่อมโยงการเดินทางและขนส่งได้ทั่วโลก รวมทั้งยังสร้างระบบเชื่อมโยงทางธุรกิจ (ecosystem) และเตรียมการพัฒนาทักษะบุคลากรที่มีคุณภาพ เพื่อจูงใจและสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดการลงทุน
ไทยที่ 1 ส่งผลไม้ไปจีน ส่วนแบ่งตลาดในจีน 41.3%
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่ได้รับทราบว่า ไทยเป็นแหล่งนำเข้าผลไม้อันดับ 1 ของจีน และมีส่วนแบ่งในตลาดผลไม้ของจีนถึงร้อยละ 41.3 สะท้อนศักยภาพสินค้าไทย พร้อมแนะผู้ประกอบการคงคุณภาพ มาตรฐานของผลไม้ เตรียมความพร้อมเพื่อส่งออกไปยังตลาดจีนในรายมณฑล รวมถึงตลาดอื่น ๆ ที่น่าสนใจเพิ่มเติม

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ไทยถือเป็นอันดับ 1 ในการส่งออกผลไม้ไปยังจีน โดยในปี 2565 ไทยมีส่วนแบ่งในตลาดผลไม้ของจีนถึงร้อยละ 41.3 ซึ่งปัจจุบันสำนักงานศุลกากรจีน (GACC) อนุญาตให้นำเข้าผลไม้จากไทยกว่า 22 ชนิด ได้แก่ มะขาม น้อยหน่า มะละกอ มะเฟือง ฝรั่ง เงาะ ลองกอง ละมุด เสาวรส ส้มเปลือกล่อน ส้ม ส้มโอ สับปะรด กล้วย มะพร้าว ขนุน ลำไย ทุเรียน มะม่วง ลิ้นจี่ มังคุด และชมพู่ โดยผลไม้สดที่ไทยครองตลาดสำคัญในจีน ได้แก่ ทุเรียน ส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 95.3 ลำไย ร้อยละ 99.3 มังคุด ร้อยละ 86.8 มะพร้าว ร้อยละ 69.2 น้อยหน่า ร้อยละ 100 ชมพู่ ร้อยละ 100 และเงาะ ร้อยละ 82.4
ไทยรับโหวตอันดับ 6 ประเทศน่าอยู่และเหมาะทำงานมากที่สุดในโลก
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่ได้รับทราบว่า ไทยได้รับการจัดให้อยู่อันดับที่ 6 ประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางที่น่าอยู่และเหมาะให้ชาวต่างชาติมาทำงานมากที่สุดในโลก จาก 53 อันดับ ทั่วโลก จากรายงาน Expat Insider 2023 (https://cms.in-cdn.net/cdn/file/cms-media/public/2023-07/Expat-Insider-2023-Survey.pdf) ซึ่งจัดทำโดยเว็ปไซต์ InterNations ซึ่งมีเครือข่าย Expat เป็นสมาชิกกว่า 5 ล้านคนทั่วโลก

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รายงาน Expat Insider 2023 ได้จัดให้ไทยอยู่ในลำดับที่ 6 ประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางที่น่าอยู่และเหมาะให้ชาวต่างชาติมาทำงานมากที่สุดในโลก จากทั้งหมด 53 ประเทศ ซึ่งสำรวจผ่านความคิดเห็นจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็น Expat 12,065 คน ใน 172 ประเทศและดินแดน ทั้งนี้ ไทยมีอันดับประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางที่น่าอยู่และเหมาะให้ชาวต่างชาติมาทำงานมากที่สุดในโลกที่ดีขึ้น โดยในปี 2022 ไทยอยู่อันดับที่ 8 และ ในปี 2021 ไทยอยู่อันดับที่ 12 สำหรับปี 2023 นี้ 3 อันดับแรกได้แก่ 1 เม็กซิโก 2 สเปน และ 3 ปานามา
ดัชนีผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง คาดเป้าท่องเที่ยวฟื้น 100% ปี 67 ดันดัชนีพุ่งอีก
นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีและพอใจผลการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนมิถุนายน 2566 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่าปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 55.7 เป็น 56.7 โดยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 40 เดือนนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา

เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่การท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ทำให้ประชาชนรู้สึกผ่อนคลายเรื่องค่าครองชีพลง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวดีขึ้นทุกรายการอย่างมีนัยสำคัญ
นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องทุกรายการ สะท้อนการเติบโตของเศรษฐกิจ เพราะเมื่อผู้บริโภคมีความเชื่อมั่น จะมีการใช้จ่าย และการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งเมื่อพิจารณา ปัจจัยเรื่องการท่องเที่ยว ที่เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จะพบว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือททท.วางเป้าหมายปี 2567 การท่องเที่ยวฟื้นตัว 100% เท่ากับปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด คาดว่าจะสร้างรายได้รวมการ ท่องเที่ยว 3,098,606 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 16% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งเชื่อมั่นว่า ปัจจัยดังกล่าวจะฉุดดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคให้เพิ่มมากขึ้น