“เพื่อไทย” เตรียมดัน “เศรษฐา” ชิงนายกฯ หากโหวตนายกฯอีกรอบไม่ผ่าน
รายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทย แจ้งว่า การโหวตนายกรัฐมนตรีในรอบต่อไปหาก พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกฯจากพรรคก้าวไกล แพ้ผลโหวตในรัฐสภา ทางแกนนำพรรคเพื่อไทยคิดว่าทำให้พรรคก้าวไกลเต็มที่แล้ว เมื่อไปไม่ได้ควรจะเป็นสิทธิของพรรคอันดับ 2 ที่จะขึ้นมาเป็นพรรคแกนนำแทน

โดยพรรคเพื่อไทยมีแคนดิเดตนายกฯ คือ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย แต่ยังไม่พร้อมที่จะขึ้นมาในขณะนี้ ดังนั้นพรรคเพื่อไทยจะเสนอชื่อเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯพรรคเพื่อไทยอีกรายหนึ่ง ขึ้นมาแทน โดยเศรษฐา ได้ตั้งเงื่อนไขจะต้องนำพรรคก้าวไกล เข้าร่วมรัฐบาลด้วย เพื่อลดกระแสจากด้อมส้มในอนาคต
ส่วนเศรษฐาแคนดิเดตนายกฯในฐานะประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พรรคจะดันเป็นนายกฯว่าตนยังไม่ทราบเรื่องกรณีกระแสข่าวพรรคเพื่อไทยเตรียมดันเสนอชื่อว่าตนไม่ได้อยู่ในวงการเจรจาระหว่างพรรคเพื่อไทยและก้าวไกลที่มีการหารือกันไปแล้ว
โดยกระแสข่าวที่ออกไปนั้นไม่ได้มาจากตนเอง หรือหากจะมีการเสนอชื่อตนเองหรือไม่นั้น จะต้องมีการพูดคุยกันก่อน และยืนยันไม่มีการคุยกันเรื่องนี้
“อดุลย์” แนะเพื่อไทยสลับขั้วดัน”ประวิตร”เป็นนายกฯ ลดขัดแย้ง
อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ อดีตกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวถึงผลการโหวตเลือกนายกฯ และการจัดตั้งรัฐบาลว่า ผลการลงมติโหวตเลือกนายกฯ ไม่เหนือความคาดหมาย เพราะรู้กันดีอยู่แล้วว่า สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) จะไม่โหวตให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล ทำให้การจัดตั้งรัฐบาล ครั้งนี้มีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ความแตกแยกทางการเมือง

เนื่องจากพรรคที่ได้เสียงอันดับหนึ่งจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ เมื่อมีการสลับขั้วก็จะเกิดการชุมนุมต่อต้านจากอีกฝ่าย หากปล่อยให้ดำเนินการไปเช่นนี้ สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งรุนแรงถึงขั้น “นองเลือด” อีก จึงถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องรอมชอมสามัคคีกัน เพื่อทำให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริง
พรรคเพื่อไทยควรสลับขั้วมาจับมือกับ พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) และ พรรคภูมิใจไทย ร่วมเป็นแกนนำ โดยให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะเชื่อว่าจะได้รับเสียงโหวตจาก ส.ว.จนครบ และเพื่อให้สามารถเริ่มกระบวนการปรองดองสมานฉันท์ในสังคมได้ทันที ตามแนวทาง “ก้าวข้ามความขัดแย้ง”
หลังจากนั้นออกกฎหมายเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ นิรโทษกรรมคดีทางการเมือง ส่วนคดีที่เกี่ยวกับ ม.112 เป็นพระราชอำนาจ ที่พระองค์ทรงมีพระเมตตาต่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่าอยู่แล้ว จากนั้นร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้เป็นประชาธิปไตย ปฏิรูปประเทศทุกด้าน
ถก 8 พรรค นัดเคลียร์ปมแก้ม.112 เพื่อไทยส่งสัญญาณก้าวไกล”ลดเพดาน”
ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการประชุม 8 พรรคร่วม เย็นวันที่ 17 ก.ค.ว่า ก่อนไปหารือกับ 8 พรรคร่วม พรรคเพื่อไทยคงมีการหารือภายใน ถึงสถานการณ์การเมืองหลายๆ เรื่อง เช่น การแสดงท่าทีของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล ที่พูดถึงสองสมรภูมิที่จำเป็นต้องต่อสู่หลังจากนี้ คือการโหวตนายกฯครั้งที่ 2 ในทำนองว่า 8 พรรคจะเสนอชื่อพิธาอีกครั้ง

โดยขอให้ทุกฝ่ายร่วมต่อสู่เพื่อเปลี่ยนใจส.ว. และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ซึ่งประเด็นแรกหากฟังการอภิปรายวันที่ 13 ก.ค.เห็นชัดว่า ส.ว.ไม่ติดขัดในการเลือกพิธา แต่กังวลเรื่องท่าทีพรรคก้าวไกล เกี่ยวกับประเด็น ม.112 ซึ่งมองว่า ก่อนการหารือกับ 8 พรรคร่วม เย็นวันที่ 17 ก.ค. พรรคก้าวไกล ควรมีความชัดเจนในประเด็นนี้มาบอกพรรคร่วมด้วยกัน
ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม. 272 ไม่ได้อยู่ในข้อตกลงเอ็มโอยู และก่อนเสนอประเด็นนี้พรรคก้าวไกล ก็ไม่ได้หารือกับ 8 พรรคร่วม เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เราเคยเสนอแก้ ม.272 ไปแล้วในรัฐบาลที่ผ่านมา เราก็ทำไม่สำเร็จ
ส่วนกรณีเสนอชื่อพิธา ครั้งที่ 2 สามารถเสนอได้หรือไม่ เพราะมีหลายฝ่ายออกมาตีความว่า หากเสนอไปถือเป็นการเสนอญัตติเดิมที่สภาฯเคยตีตกไปแล้ว ในสมัยประชุมเดียวกันตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาที่ 41 เรื่องนี้เป็นประเด็นข้อกฎหมาย ซึ่งทราบว่า ประธานรัฐสภา ได้หารือทีมนักกฎหมายของรัฐสภา เพื่อหาความชัดเจนถึงเรื่องดังกล่าว และวันที่ 18 ก.ค. ช่วงเช้าประธานรัฐสภาเรียกประชุมวิป 3 ฝ่าย ซึ่งจะได้ความชัดเจนประเด็นดังกล่าว ก่อนการโหวตนายกฯ วันที่ 19 ก.ค. แน่นอน
ปชป.นัดประชุมใหญ่ 23 ก.ค.รอบสอง เลือกหัวหน้าพรรค
ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า พรรค ปชป.จะจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2566 ในวันอาทิตย์ที่ 23 กรกฎาคม 2566 เวลา 8.30 น. ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ

โดยมีวาระการประชุมที่สำคัญ ที่ได้เลื่อนมาคือ การเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ และคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรค
องค์ประชุมทั้งหมดของที่ประชุมใหญ่ได้มีการกำหนดองค์ประชุมไว้ 19 กลุ่ม ตามข้อบังคับพรรค คาดว่าจะมีจำนวนมากขึ้นกว่าการประชุมครั้งก่อน เนื่องจากมีองค์ประชุมที่ไม่ได้มาร่วมประชุมในการประชุมครั้งที่แล้ว มีความสนใจเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ เพราะเห็นว่าเป็นการประชุมครั้งสำคัญที่จะได้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางพรรค และถือเป็นการร่วมประวัติศาสตร์ในการ เลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 9
ทั้งนี้องค์ประชุมจะได้รับฟังวิสัยทัศน์จาก ผู้สมัครหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนละ 7 นาที พร้อมกับมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ทั้ง 11 ตำแหน่ง รวม 41 คน ไปจนถึงเลือกตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคอีกด้วย
“อนุทิน” ชี้การเมืองไทยต้องหาจุดลงตัว ชี้สุดโต่งเกินไปไม่ดี
อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวกับกลุ่มนักธุรกิจชาวไทยและต่างชาติในงานเลี้ยงของสโมสรโรตารี่ กรุงเทพใต้ ว่าการเมืองไทยในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อว่ารัฐสภากำลังหาจุดลงตัว เนื่องจากพรรคที่ได้คะแนนมาเป็นอันดับหนึ่ง มีที่นั่งในสภาไม่ถึงครึ่งนั้น เป็นพรรคที่มีนโยบายซึ่งเป็นข้อถกเถียงและเป็นพรรคเดียวที่นำเสนอนโยบายดังกล่าว จึงทำให้ยากจะได้รับการสนับสนุนจากวุฒิสมาชิก (ส.ว.) แต่ตนเชื่อว่าในที่สุดประเทศไทยจะมีนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นที่ยอมรับด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา และมีรัฐบาลเสียงข้างมากที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งในส่วนของพรรคภูมิใจไทยนั้น ตนได้แสดงจุดยืนชัดเจนไปแล้วว่าจะไม่สนับสนุนให้เกิดรัฐบาลเสียงอย่างน้อยอย่างเด็ดขาด

ในเรื่องการเมืองไทยวันนี้ ไม่ว่าจะสุดโต่งไปทางไหนก็ไม่ดีทั้งสิ้น ประเทศต้องการจุดสมดุลย์ ไทยเรามีหลายอย่างที่น่าภาคภูมิใจและควรอนุรักษ์ไว้ ในขณะที่เดินหน้าพัฒนาบ้านเมืองสู่ความทันสมัย เราไม่สามารถจะรับความคิดใหม่ๆเข้ามาโดยไม่ปรับให้เข้ากันกับคุณค่าที่มีอยู่เดิมในประเทศ เชื่อว่าในที่สุดสังคงไทยจะเดินไปสู่ความสมดุลย์ทางการเมือง
โดยนักการเมืองที่ดีจะต้องสามารถประสานคนในชาติให้เป็นหนึ่ง แม้จะมีความแตกต่างหลากหลาย แทนที่จะนำเอาอัตลักษณ์ที่แตกต่างมาตอกย้ำสร้างความแตกแยก เราควรทำให้เห็นว่าทุกคนสามารถนำความต่างที่มีอยู่มามีส่วนร่วมพัฒนาบ้านเมืองไปด้วยกันได้