ซีอีโอหญิง”ยูทูบ”ลาออกหลังบริหารงาน 9 ปี
ซูซาน โวจิสกี (Susan Wojcicki) ซีอีโอหญิงแห่งยูทูบ (YouTube) แพลตฟอร์มวิดีโอแชริงชื่อดัง ประกาศลาออกจากตำแหน่ง หลังจากบริหารงานมา 9 ปี
โวจิสกี ซึ่งมีอายุ 54 วางแผนจะเริ่มต้นบทใหม่ในชีวิต เน้นที่ครอบครัว สุขภาพ และโครงการส่วนตัวที่ตนเองหลงไหล
โวจิสกีมีส่วนร่วมกับกูเกิล อันเป็นบริษัทแม่ของยูทูบมาตั้งแต่ช่วงเริ่มแรก เมื่อสมัยที่แลร์รี เพจ กับเซอร์เกย์ บริน สองผู้ก่อตั้งกูเกิล ใช้โรงรถของเธอที่รัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นที่ทำงานเพื่อพัฒนาเครื่องมือสืบค้น จนกระทั่งเธอเป็นพนักงานลำดับที่ 16 ของกูเกิล และทำงานกับบริษัทมาเกือบ 25 ปี
โวจิสกีรับหน้าที่ซีอีโอยูทูบมาเป็นเวลา 9 ปี ผู้ที่จะรับไม้ต่อจากเธอคือนีล โมฮาน ซึ่งปัจจุบันเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์ของยูทูบ ซึ่งโวจิสกีระบุว่าเป็นบุคคลที่เหมาะสมที่สุดในการสานต่อแผนงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบริการวิดีโอสั้น สตรีมมิง ลงทะเบียนเป็นสมาชิก และเทคโนโลยี AI ที่รออยู่ข้างหน้า
ในช่วงที่เธอบริหารยูทูบ แพลตฟอร์มแห่งนี้ขยายตัวอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นแพลตฟอร์มวิดีโอใหญ่สุดในโลก แต่ก็มาพร้อมการท้าทายในการควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิด
ขณะที่ในระยะหลัง ยูทูบเผชิญแรงกดดันจากสื่อโซเชียลอย่าง TikTok ทั้งนี้ยูทูบมีรายได้จากโฆษณา 7,960 ล้านดอลลาร์ช่วงไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว ซึ่งน้อยกว่าการคาดหมายของนักวิเคราะห์ และลดลง 8% จากปีก่อน
ยูสเซอร์เวียดนามใช้เวลา 37 ล้านชั่วโมงดูสินค้าผ่านไลฟ์สตรีม
Shopee แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชื่อดัง เผยว่าบรรดายูสเซอร์ในเวียดนามใช้เวลา 37 ล้านชั่วโมง เลือกดูสินค้าผ่านสตรีมสดของ Shopee เมื่อปีที่แล้ว เพื่อพูดคุยซักถามรายละเอียดสินค้ากับผู้ขาย ก่อนที่จะสั่งซื้อ
นอกจากนั้น ยูสเซอร์จำนวนมากขึ้น ยังพากันแชร์รีวิวและความเห็นเกี่ยวกับสินค้าที่ซื้อไป อันช่วยให้ผู้ซื้อคนอื่นสามารถตัดสินใจได้ดีขึ้น
เมื่อปีที่แล้ว ผู้คนในเมืองใหญ่ๆ มักสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ โดยสินค้าที่สั่งซื้อส่วนใหญ่เป็นสินค้าในครัวเรือนและชีวิตประจำวัน สินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม รวมถึงสินค้าแฟชั่น
รายงานระบุว่า กลุ่มยูสเซอร์ที่ใช้งานมากที่สุด คือกลุ่มอายุ 18-34 ปี ซึ่งออเดอร์สินค้ามากกว่ากลุ่มอื่น เฉลี่ย 1.5 เท่า โดยยูสเซอร์กลุ่มนี้สนใจสินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม สินค้าแฟชั่น สินค้าอิเลกทรอนิกส์ และเครื่องใช้ในบ้าน อันทำให้ผลิตภัณฑ์สกินแคร์ แฟชั่นสำหรับผู้หญิง สมาร์ทโฟน และเครื่องประดับ มีออเดอร์เข้ามามากที่สุด
ผู้บริหาร Shopee Vietnam ชี้ว่าแม้แพลตฟอร์มออนไลน์เป็นที่แพร่หลาย แต่เศรษฐกิจดิจิทัลในเวียดนามยังมีโอกาสระยะยาวอีกมาก
ซาอุดีอาระเบียเตรียมส่งสตรีคนแรกบุกอวกาศ
ซาอุดีอาระเบียเตรียมส่งนักบินอวกาศหญิงคนแรก ขึ้นปฏิบัติภารกิจบนห้วงอวกาศปลายปีนี้ อันเป็นการเคลื่อนไหวล่าสุดของประเทศ ในความพยายามปรับภาพลักษณ์
นักบินอวกาศหญิง “Rayyana Barnawi” จะเดินทางร่วมกับนักบินอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นชาย คือ Ali Al-Qarni เพื่อขึ้นไปปฏิบัติภารกิจเป็นเวลา 10 วันบนสถานีอวกาศนานาชาติ
ซาอุดีอาระเบียจะตามรอยเพื่อนบ้าน นั่นคือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นชาติอาหรับประเทศแรกที่ส่งคนขึ้นไปยังอวกาศเมื่อปี 2562 โดยเมื่อครั้งนั้นนักบินอวกาศของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้ใช้เวลา 8 วันบนสถานีอวกาศนานาชาติ
ทั้งนี้ ซาอุดีอาระเบียพยายามสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ ผ่านหลากหลายโครงการ นอกเหนือจากการพึ่งพาน้ำมัน พร้อมกับพยายามผลักดันการปฏิรูป โดยอนุญาตให้สตรีขับรถและเดินทางไปต่างประเทศโดยไม่ต้องมีผู้คุ้มครองเพศชาย ขณะที่สัดส่วนผู้หญิงในแรงงานของประเทศ เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า จาก 17% เมื่อปี 2559 เป็น 37%
นักการเงินแถวหน้าจีนหายตัวปริศนา
บริษัทไชนา เรเนซองส์ โฮลดิงส์ (China Renaissance Holdings) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงเมื่อวันพฤหัสบดี (16 ก.พ.) ว่าทางบริษัทไม่สามารถติดต่อนายเปา ฝาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการ เป็นเวลาหลายวันแล้ว โดยนายเปาเป็นโบรกเกอร์แถวหน้าของจีนที่ดูแลลูกค้ารายใหญ่ เช่น ตีตี (Didi) และเหม่ยถวน (Meituan)
คำแจ้งของไชนา เรเนซองส์ โฮลดิงส์ครั้งนี้ ส่งผลให้เกิดความวิตกว่า รัฐบาลจีนอาจออกปฏิบัติการปราบปรามบรรดาผู้นำธุรกิจและเทคโนโลยีรอบใหม่ ข่าวนี้ฉุดให้หุ้นไชน่ เรเนซองส์ร่วงถึง 50% ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงวันนี้ (17 ก.พ.)
ไชนา เรเนซองส์ไม่ได้เปิดเผยว่าไม่สามารถติดต่อนายเปามานานเพียงใดแล้ว แต่สำนักข่าวไฉซินรายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจากแหล่งข่าวว่า พนักงานไม่สามารถติดต่อนายเปา 2 วันแล้ว คณะกรรมาธิการบริหารจะทำหน้าที่บริหารงานรายวันต่อไปในช่วงที่นายเปาไม่อยู่
นายเปาก่อตั้งบริษัทไชนา เรเนซองส์ในปี 2548 จนกลายมาเป็นสถาบันการเงินรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของจีน โดยเป็นที่ปรึกษาด้านการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนเป็นครั้งแรกให้กับเจดีดอทคอม (JD.com) และไคว่โส่ว (Kuaishou) รวมถึงเป็นที่ปรึกษาเรื่องการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กให้กับตีตี (Didi) เมื่อปี 2564
สนามบินทั่วโลกคาดพนักงานพอรองรับนักเดินทาง
สนามบินทั่วโลกคาดการเดินทางในช่วงหน้าร้อนปีนี้ ราบรื่นกว่าปีที่แล้ว หลังจากจำนวนพนักงานเพิ่มมากขึ้น แต่ปริมาณผู้โดยสารในยุโรปและอเมริกาเหนือที่อยู่ในช่วงพีค อาจทำให้ต้องเข้าแถวยาว และมีเที่ยวบินล่าช้าไปบ้าง
ปีนี้คาดว่าปริมาณผู้โดยสารในเส้นทางบินส่วนใหญ่ จะฟื้นคืนสู่ช่วงระดับก่อนเกิดโควิด ทำให้บรรดาสนามบิน สายการบิน และหน่วยงานภาครัฐ เร่งระดมพนักงานเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนปีที่แล้ว
สายการบินต้นทุนต่ำ อย่าง easyJet, Ryanair และ Wizz Air พากันรายงานผลประกอบการแข็งแกร่งในช่วงต้นปี ผลจากปริมาณการจองตั๋วที่มีเข้ามามาก ขณะที่นักวิเคราะห์ระบุว่าลูกค้าเดินหน้าแผนการเดินทางท่องเที่ยว อย่างไม่หวั่นสภาพเงินเฟ้อหรือภาวะถดถอย