HomeBT Newsประเมินส่งออกไทย หลังสหรัฐฯ- จีน บรรลุข้อตกลงการค้า เฟส 1

ประเมินส่งออกไทย หลังสหรัฐฯ- จีน บรรลุข้อตกลงการค้า เฟส 1

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)  ระบุว่าการลงนามข้อตกลงเศรษฐกิจการค้าระยะแรกระหว่างสหรัฐฯ และจีน นับเป็นข่าวดีต่อประเทศไทย เนื่องจากเป็นสัญญาณบวกชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยมีสัญญาณบวกจากการที่สหรัฐฯ ปรับลดภาษีสินค้าสหรัฐฯ กลุ่ม 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เหลืออัตรา 7.5% (จากเดิม 15%) และชะลอการเก็บภาษีสหรัฐฯ เพิ่มเติม สหรัฐฯ การปรับสถานะประเทศจีนด้านค่าเงินให้ดีขึ้น โดยยกเลิกการขึ้นบัญชีดำจีนในฐานะประเทศบิดเบือนค่าเงิน (US currency manipulator list) เหลือแค่การอยู่ในกลุ่มประเทศที่เฝ้าจับตา (watch list) สัญญาณ ช่วยลดแรงกดดันและสร้างบรรยากาศการค้าโลกให้ดีขึ้น และเพิ่มความเชื่อมั่นให้นักธุรกิจนักลงทุน

สนค. ประเมินว่าเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทย โดยเฉพาะสหรัฐฯ น่าจะได้อานิสงส์จากสถานการณ์ดังกล่าว และเมื่อเสริมกับพื้นฐานสินค้าและตลาดส่งออกของไทยที่ดีและมีความหลากหลาย จะเป็นแรงเสริมให้กับการค้าและการส่งออกของไทยโดยภาพรวม นอกจากนี้ ข้อตกลงระยะแรกไม่ได้ระบุเงื่อนไขให้จีนลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ

ไทยจึงควรเร่งใช้โอกาสในการทดแทนสินค้าสหรัฐฯ ต่อไป โดยเฉพาะสินค้าที่ไทยสามารถทดแทนสินค้าสหรัฐฯ ในตลาดจีนได้ดี เช่น อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป อาหารแปรรูป เครื่องดื่ม สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า เครื่องประดับ และเครื่องสำอาง

- Advertisement -

ในประเด็นที่บางส่วนมีความกังวลว่าสินค้าบางกลุ่มอาจเผชิญการแข่งขันสูงขึ้นในตลาดจีนนั้น สนค. ตั้งข้อสังเกตว่า สินค้าภายใต้ข้อตกลงที่จีนต้องซื้อเพิ่มจากสหรัฐฯ หลายรายการ สอดคล้องกับความต้องการของจีนและยังมีช่องว่างสำหรับสินค้าจากประเทศอื่นๆ ได้แก่ อาทิ เนื้อสัตว์ ฝ้าย อาหารทะเล ยาและเวชภัณฑ์ อุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ และถ่านหิน

ขณะที่ สินค้าอุตสาหกรรม อาทิ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์และส่วนประกอบ อาจเผชิญการแข่งขันมากกว่ากลุ่มข้างต้นจากปัจจัยอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี และการพัฒนา/ควบคุมมาตรการการผลิต ซึ่งแม้ว่าโดยส่วนใหญ่สินค้าไทยยังมีความได้เปรียบสินค้าประเทศอื่นในตลาดจีน สะท้อนจากดัชนี Revealed Comparative Advantage (RCA) แต่ก็ไม่ควรละเลยการรักษาตลาดและเร่งปรับตัวให้ทันกับปัจจัยรอบด้านที่กำลังเผชิญอยู่ขณะนี้

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าข้อตกลงดังกล่าวมีหัวใจสำคัญอยู่ที่ข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ที่ท้าทายผลในเชิงปฏิบัติของจีนอย่างมากใน 5 ด้าน ดังนี้

  1. การบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา (IP) อย่างเคร่งครัด ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญอันหนึ่งที่ก่อให้เกิดสงครามการค้าตามมาตรา 301 ในช่วงที่ผ่านมา
  2. การกำหนดให้จีนซื้อสินค้าสหรัฐฯ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายใน 2 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 จนถึง 31 ธันวาคม 2564 โดยประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่การกำหนดให้นำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมมีมูลค่าสูงถึง 78 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามมาด้วยสินค้าเกษตร 32 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พลังงาน 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการบริการ 38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  3. ประเด็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีซึ่งจะต้องเป็นไปโดยสมัครใจของนักลงทุน
  4. ประเด็นด้านอัตราแลกเปลี่ยน
  5. การเปิดตลาดภาคบริการการเงินของจีนให้สหรัฐฯ สามารถเข้าแข่งขันได้อย่างเป็นธรรม ภายในวันที่ 1 เมษายน 2563 ประกอบด้วยการยกเลิกข้อจำกัดในการถือหุ้นของต่างชาติ โดยให้สหรัฐฯ ถือหุ้นได้ทั้งหมดในธุรกิจประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และการจัดการกองทุน เป็นต้น

แม้การลงนามความตกลง ส่วนหนึ่งคาดหวังคลี่คลายความตึงเครียดระหว่างกันที่มีมายาวนานถึง 2 ปี แต่สหรัฐฯ และจีน ยังคงแบกรับผลกระทบต่างๆ  โดยเฉพาะการปรับลดภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นั้น เป็นการลดภาษีแค่บางส่วนเท่านั้น และสินค้ากลุ่มนี้ยังคงมีอัตราภาษีที่ร้อยละ 7.5

ขณะที่สินค้าส่วนใหญ่อีก 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ยังมีภาษีอยู่ที่ร้อยละ 25 อยู่ทำให้ตลอดทั้งปี 2563 ทั้งจีนและสหรัฐฯ ยังต้องเผชิญอัตราภาษีในระดับสูง โดยสินค้าจีนที่เข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ ต้องเสียภาษีเฉลี่ยร้อยละ 19.3  (จากร้อยละ 21.0 ในปี 2562)

ขณะที่สินค้าสหรัฐฯ ที่จะเข้าสู่จีนต้องเสียภาษีเฉลี่ยที่ร้อยละ 20.9 (จากร้อยละ 21.1 ในปี 2562) ซึ่งก็ไม่เอื้อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจทั้ง 2 ฝ่ายในปีนี้ และอาจกระทบต่อการเจรจาความตกลงเฟส 2 (Phase 2) ต่อไป

สำหรับด้านการส่งออกของไทยยังคงเผชิญความไม่แน่นอนต่อเนื่อง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การเมืองภายในของสหรัฐฯ ที่จะเป็นตัวกำหนดเส้นทางความสัมพันธ์ของความตกลงนี้ แต่ในเบื้องต้นการปรับลดภาษีของสหรัฐฯ ช่วยบรรเทาผลกระทบทางตรง จากการส่งออกของไทยเหลือ 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2563

ส่วนผลกระทบทางอ้อมเป็นผลพวงจากการที่จีนอาจต้องเบนเข็มการนำเข้าจากแหล่งอื่นมาให้น้ำหนักกับการนำเข้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นใน 2 ปี ข้างหน้า ซึ่งสินค้าส่งออกของไทยในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และเคมีภัณฑ์มีความเสี่ยงอาจสูญเสียตลาดในจีนบางส่วน ขณะที่การนำเข้าถั่วเหลืองของไทยอาจเผชิญผลทางด้านราคานำเข้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น หรืออาจต้องหาแหล่งนำเข้าอื่นสำรอง

ข้อมูลจาก: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า และ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

 

Business Today
Business Todayhttps://businesstoday.co
Supporting Thailand's business communities./ FB Page: Business Today Thai/ Social: Business Today Thai (สำหรับ Twitter, YouTube, Telegram)/ LINE: @Business today/ เว็บที่เกี่ยวข้อง: Thailand Today: www.thailandtoday.co/ FB: Thailantoday.co (English)/ Thailand Today News: www.thailandtoday.news/ FB: Thailandtoday.news (Mandarin Chinese)

Latest

ติดตามข่าวสารอัพเดททันใจจาก Businesstoday ได้โดยกรอกอีเมลด้านล่าง

Related News