เมื่อทุกอุตสาหกรรมโดน Disruption แต่วันนี้เป็นจุดที่หลายองค์กรเริ่มยอมรับกับ Disruption แล้ว ไอบีเอ็ม ประเทศไทย ตั้งเป้าเข้าไปช่วยอุตสาหกรรมในประเทศไทยให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้า สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0
ไอบีเอ็ม อยู่ในประเทศไทยมา 67 ปี จาก 108 ปีของบริษัท ที่ผ่านการปรับเปลี่ยนมาหลายครั้ง และเป็นไม่กี่บริษัทในโลกที่อยู่มาเกิน 100 ปี ไอบีเอ็มเริ่มต้นจากการขายฮาร์ดแวร์ จนมาถึงซอฟต์แวร์และโซลูชัน ลูกค้ารายแรก ๆ ของไอบีเอ็ม ประเทศไทย เป็นหน่วยงานรัฐบาล สำนักงานสถิติแห่งชาติ กรมศุลกากร และการไฟฟ้าฯ (PEA)
ปัจจุบันลูกค้ากลุ่มใหญ่ ๆ ของไอบีเอ็ม ประเทศไทย เป็นธุรกิจการเงินและการธนาคาร หรือบริษัทบริหารทางการเงิน โดยในปี 2020 ไอบีเอ็ม ประเทศไทย ตั้งเป้าใช้ระบบ Smart Farming รุกอุตสาหกรรมเกษตรเต็มตัว
-ไอบีเอ็ม เผยเคล็ดลับ ท่องเที่ยวเทศกาลวันหยุดให้ปลอดภัยจากภัยคุกคามไซเบอร์
-‘ไอบีเอ็ม’ เปิดตัวคลาวด์ด้านการเงิน ดึง ‘ธนาคารแห่งอเมริกา’ เข้าร่วมรายแรก รองรับลูกค้า 66 ล้านราย
“Blockchain-Cloud-AI” 3 โซลูชันพัฒนาประเทศ
Blockchain (บล็อกเชน)
เป็นเทคโนโลยีที่ไอบีเอ็มนำเข้ามาใช้กับประเทศไทยมาก โดยมีแบงก์ชาติเริ่มนำ Blockchain มาใช้ซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลเป็นเคสแรก ๆ ของโลก ที่นำมารองรับผู้ซื้อพันธบัตรและสามารถคอนเฟิร์มการซื้อได้รวดเร็วขึ้นจากที่ต้องรอคอนเฟิร์ม 7-15 วัน
หรือการนำ Blockchain เข้ามาช่วยเรื่องการขอจดหมายรับรอง (Letter of Guarantee) กับธนาคารที่เป็น Pain Point มากในสมัยก่อน ปัจจุบันธนาคารสามารถแชร์ข้อมูลของลูกค้ากันได้ ซึ่งมี 20 กว่าธนาคารของไทยอยู่ในระบบนี้ นอกจากนี้ ยังใช้ Blockchain กับด้านโลจิสติกส์ที่ร่วมกับกรมศุลกากร เพื่อเชื่อมข้อมูลเรือส่งสินค้ากับท่าเรือทั่วโลก
Cloud (คลาวด์)
ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันบริษัทนำระบบขึ้น Cloud กันหมดแล้ว ซึ่งบริษัทใหญ่ๆ จะใช้รูปแบบ Hybrid Cloud โดยไอบีเอ็มจะเข้าไปช่วยบริหารจัดการ เนื่องจากองค์กรส่วนใหญ่จะใช้ทั้ง AWS, Google Cloud หรือ Microsoft Azure ผสมกัน มีหลายเซอร์วิสอยู่ในบริษัทเดียว
หนึ่งในโปรเจ็กต์ที่ประสบความสำเร็จมากในระดับโลก คือ ไอบีเอ็ม ร่วมกับธนาคารของสหรัฐอเมริกา Bank of America ที่มีลูกค้าอยู่ 66 ล้านราย โดยพัฒนา Hybrid Cloud ร่วมกัน ช่วยให้ธนาคารสามารถรองรับลูกค้าและ Fintech ใหม่ๆ ให้เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน ระบบนี้เข้ามาช่วยพนักงานธนาคารให้บริการลูกค้าได้โดยใช้โน้ตบุ๊กเพียงเครื่องเดียว และไม่ต้องอยู่ที่สำนักงานธนาคาร ซึ่งในอนาคตมีแนวโน้มจะได้เห็นระบบนี้เข้ามาใช้กับธนาคารในประเทศไทย
Artificial Intelligence (ปัญญาประดิษฐ์)
IBM Watson เป็นระบบที่สามารถเข้ากับได้ทุกแพลตฟอร์มและมีหลากหลายโมเดลธุรกิจ เช่น เข้าไปช่วยโรงงานแยกก๊าซเรื่องความปลอดภัย โดยให้ระบบเข้ามาช่วยคำนวณความเสียหายล่วงหน้า 6 เดือน เพื่อให้วิศวกรสามารถไปทำงานอื่นได้ จากที่ต้องคอยโฟกัสเรื่องความเสียหายของอุปกรณ์ ซึ่งโปรเจ็กต์นี้ไอบีเอ็มใช้เวลาพัฒนาถึง 16 เดือน ใช้ทั้ง AI, Machine Learning และ Deep Learning เข้าไปศึกษาค่าต่าง ๆ ของอุปกรณ์จนคาดการณ์ได้แม่นยำ
เก็บข้อมูลของคนไข้ที่เป็นมะเร็งร่วมกับโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โดยใช้ AI เข้ามาช่วยให้แพทย์ได้เห็นเคสจากทั่วโลก เนื่องจากมะเร็งมีหลากหลายประเภท ข้อมูลเอกสารหรือข้อมูลทางการแพทย์เยอะมาก โดย AI สามารถดึงข้อมูลที่เป็นเคสต่างๆ เข้ามาวิเคราะห์ รวมถึงให้คำแนะนำแนวทางการรักษาได้จากผลตรวจเลือดของผู้ป่วย โดยระบบจะวิเคราะห์ทั้งอายุคนไข้ ค่าเซลล์มะเร็ง และนำไปเทียบกับเคสที่เกิดขึ้น จากนั้นระบบจะนำเสนอทางเลือกในการรักษาให้ โดยแนะนำให้ 2-3 ทางเลือกให้แพทย์พิจารณา
ลดบทบาทสมาร์ทซิตี้ โฟกัสอุตสาหกรรม ดันไทยเป็นฮับอินโดไชน่า
ปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ต้องมองภาพใหญ่ที่เป็นมากกว่าเมือง ไอบีเอ็ม ประเทศไทย สนับสนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยไม่มองว่าเป็นเมืองใดเมืองหนึ่ง แต่อยากทำเป็นภาพใหญ่ เช่น ภาคการเกษตร สุขภาพ การเงินการธนาคาร ภาคการผลิต และร้านค้าปลีก โดยโซลูชันที่เป็นหุ่นยนต์เข้ามาช่วยผู้ผลิต สามารถผลิตสินค้าได้อย่างมีคุณภาพ ลดค่าใช้จ่ายในเรื่องของข้อบกพร่อง
โรงงานในสมัยก่อนจะใช้สายตาคนจับเรื่องความผิดพลาดของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมา ซึ่งคนงานเหล่านี้ไม่ได้หาง่ายและอาจจะไม่ใช่คนไทย แต่วันนี้หุ่นยนต์จะเข้ามาช่วย และตัดสินใจว่าใช้ได้หรือไม่ ด้านคนมีหน้าที่เข้ามาตรวจซ้ำ หรือปรับตัวไปทำงานอื่น เพราะถ้าประเทศไทยไม่พัฒนาในด้านนี้ บริษัทยักษ์ใหญ่จะย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น ซึ่ง IBM ประเทศไทย จึงไม่ได้โฟกัสไปที่เมืองใดเมืองหนึ่ง แต่โฟกัสไปที่ภาพกว้างของอุตสาหกรรมมากกว่า
ไอบีเอ็ม ประเทศไทย ตั้งเป้าผลักดันไทยอยู่ในระดับแนวหน้าของเอเชีย ให้เป็นฮับของอินโดไชน่า เพราะถ้าประเทศไทยไม่ทำในสเกลที่ใหญ่จะเสียโอกาส อย่างเมียนมาและกัมพูชาจะไป 5G ได้โดยไม่ต้องพัฒนา 4G ถ้าวันนี้ไทยหยุดพัฒนา ประเทศอื่นจะเข้ามาชิงโอกาสนี้ไป
“บุคลากรไทยมี Skill Gap ค่อนข้างมาก เด็กจบใหม่ไม่สามารถตอบสนองกับอุตสาหกรรมที่มีอยู่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย ได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ มีพาร์ตเนอร์กว่า 200 โรงเรียน เพื่อลดปัญหาและพัฒนาบุคลากร ช่วยพัฒนาเด็กที่อยู่ในระดับอาชีวะ ผ่านการฝึกอบรมเป็นเวลา 5 ปี”
ปี 2020 นำระบบ Smart Farming รุกอุตสาหกรรมเกษตร
คุณปฐมา กล่าวว่า ประเทศไทยส่งออกทั้งข้าวและยางพาราเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก เพราะฉะนั้นการนำเทคโนโลยีอย่างปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วย เพื่อให้ทำงานที่ต้องทำซ้ำๆ ได้เร็วขึ้น เพื่อให้คนไปทำงานที่สร้างรายได้ให้กับธุรกิจมากขึ้น
ไอบีเอ็ม ประเทศไทย เข้ามาจริงจังกับการเกษตร โดยเข้ามาเก็บข้อมูลประมาณ 6-7 เดือนแล้ว และนำข้อมูลไปเสนอที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำข้อมูลมาวิเคราะห์ความแม่นยำ หรือเรียกว่ากำลังสอนเครื่องจักรให้ทำงานได้แม่นยำ ในเฟสแรกนี้เราพอใจมาก ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา เรานำเทคโนโลยีมาช่วยภาคการเกษตรของชาติ เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจภาพรวมดีขึ้น
ด้วยศักยภาพของไอบีเอ็มและเคสที่เคยประสบความสำเร็จจะเข้ามาช่วยการเพิ่มผลิตผล ป้องกันแมลงและการพยากรณ์อากาศ ถ้าเราสามารถเข้ามาช่วยลูกค้ารายใหญ่ที่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 2 แปลว่าเราประสบความสำเร็จ
“วันนี้ประเทศไทยให้โอกาสไอบีเอ็มอยู่ในประเทศไทยมาถึง 67 ปี เราจะปรับตัวให้เข้ากับสิ่งที่ลูกค้าต้องการมากขึ้น มีทางเลือกให้ลูกค้ามากขึ้น ซึ่งโฉมใหม่ของ IBM ไม่ได้ขายเฉพาะฮาร์ดแวร์ แต่ขายโซลูชันและเซอร์วิสแบบครบวงจร”