หลังจาก กระทรวงมหาดไทยของซาอุดีอาระเบียออกแถลงการณ์เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (14 ก.ย.) ว่า เกิดเหตุโจมตีโรงกลั่นน้ำมันสองแห่งของบริษัทซาอุดีอารามโค จนเกิดความวิตกเรื่องราคาน้ำมัน ทำให้ราคาน้ำมัน WIT พุ่งกว่า 11% และ Brent พุ่ง 15% แต่ที่น่าวิตกมากกว่านั้นคือปัญหาในตะวันออกกลางอาจจะปะทุขึ้นมาอีกครั้ง ในขณะที่การเจรจาระหว่าง “สหรัฐ” และ “อิหร่าน” กำลังดำเนินการอยู่
(อ่านข่าว >> ราคาน้ำมันดิบพุ่งกว่า 11% หลังเกิดเหตุระเบิดคลังน้ำมันซาอุดิอาระเบีย)
คาดน้ำมันในประเทศขึ้น 2 บาท 2-3 นี้
ด้าน “นายมนูญ ศิริวรรณ” ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ระบุว่า ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศอาจจะขยับขึ้นได้ราว 2 บาท/ลิตร ในช่วง 2-3 วันนี้ หลังเกิดเหตุการโจมตีโรงกลั่น 2 แห่งของบริษัทซาอุดี อารามโค ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบล่วงหน้าปรับตัวขึ้นแรง และจะสะท้อนต่อราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ตลาดสิงคโปร์ในวันนี้ให้ปรับขึ้นราว 7-10 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล หรือราว 10-15% ส่งผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับขึ้นได้ราว 2 บาท/ลิตร หากรัฐบาลไม่มีการแทรกแซงราคา
“ถ้าราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ตลาดสิงคโปร์ปรับขึ้น ราคาน้ำมันในประเทศก็จะปรับขึ้นด้วย ราคาที่สิงคโปร์คาดว่าจะปรับขึ้นตามราคาน้ำมันดิบประมาณ 10-15% ประมาณ 7-10 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้ราคาบ้านเราน่าจะปรับขึ้นไป 2 บาท ถ้าไม่มีการแทรกแซงในช่วง 2-3 วันนี้”
“สหรัฐฯ” พุ่งเป้าเป็นฝีมือ “อิหร่าน”
หลังเกิดเหตุโจมตี “กลุ่มกบฎ ฮูตี” ของเยเมน ได้ออกมาอ้างความรับผิดชอบในเหตุการณ์โจมตีในครั้งนี้ ซึ่งการโจมตีครั้งนี้เป็นการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานน้ำมันของซาอุดิอาระเบียที่รุนแรงสุดนับตั้งแต่ ถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซียในปี 1990
แต่ “นายไมค์ ปอมเปโอ” รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ พุ่งเป้าไปที่อิหร่านว่าเป็นผู้ก่อเหตุในครั้งนี้ โดยทวิตข้อความเมื่อวันเสาร์ว่า
“ท่ามกลางการเรียกร้องเรื่องการลดความรุนแรง อิหร่านกลับเปิดการโจมตีแหล่งพลังงานของโลกอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และ ไม่มีหลักฐานว่า การโจมตีมาจากเยเมน”
“อิหร่าน” ระบุสหรัฐฯโกหก หวังกดดันการเจรจา
“จาวาด ซารีฟ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน ได้ออกมาปฎิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยกล่าวว่าคำพูดของนายปอมเปโอเป็นคำพูดที่หลอกลวง เพราะก่อนหน้านี้สหรัฐฯ คิดว่าประเทศที่มีอาวุธเหนือกว่าจะเป็นผู้ชนะทางทหาร แต่ไม่สามารถทำได้ ซึ่งจริงๆการที่นายปอมเปโอกล่าวหาอิหร่านในครั้งนี้เป็นการกดดันให้อิหร่านยอมรับข้อเสนอของเมื่อวันที่ 15 เมษายน และเปิดการเจรจากับสหรัฐฯ เท่านั้น
อับบาส มูซาวี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า “การกล่าวหาที่ไร้ประโยชน์ดังกล่าว ไม่สามารถเข้าใจได้ และไร้ความหมาย”
“สหรัฐใช้นโยบายกดดันสูงสุดต่ออิหร่านแต่ก็ล้มเหลว สหรัฐจึงหันมาใช้วิธีโกหกคำโต”
“ทรัมป์” สั่งปล่อยน้ำมันจากคลังสำรอง ลดผลกระทบด้านราคา
ด้าน “ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ “ ของสหรัฐ มีคำสั่งให้ปล่อยน้ำมันจากสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR) ของสหรัฐ หลังจากเกิดเหตุโจมตีโรงกลั่นน้ำมันในซาอุดีอาระเบียเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา
“เมื่อพิจารณาถึงเหตุการณ์โจมตีโรกลั่นน้ำมันในซาอุดีอาระเบีย ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน ผมจึงได้สั่งการให้ปล่อยน้ำมันออกจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ หากพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเป็น โดยให้ปล่อยในปริมาณที่มีการกำหนด และพอเพียงต่อการรักษาอุปทานน้ำมันในตลาดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม” ปธน.ทรัมป์ได้ทวีตข้อความในวันอาทิตย์ตามเวลาสหรัฐ
ด้าน “นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รมว.พลังงาน ระบุว่า การโจมตีดังกล่าว ยังไม่กระทบการนำเข้าน้ำมันของไทย โดยมีการประสานงานสอบถามไปยังบริษัท อารามโค (Aramco) และผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ถึงผลกระทบในเบื้องต้นทราบความคืบหน้าล่าสุดว่า ทุกอย่างอยู่ในการควบคุมได้ และอยู่ระหว่างสำรวจและประเมินความเสียหาย โดยยังไม่มีผลกระทบต่อการส่งออก เพราะโรงงานที่ถูกไฟไหม้อยู่ในบริเวณทะเลทราย จึงไม่มีผลกระทบต่อคลังน้ำมันที่เป็นแหล่งน้ำมันที่ป้อนให้กับ ทางกลุ่ม ปตท. จึงยังไม่กระทบต่อการนำเข้าน้ำมันของไทย
กระทรวงพลังงานยืนยันมีแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินไว้เรียบร้อยแล้ว เหมือนกับกรณีที่เคยเกิดเหตุการณ์ที่ช่องแคบฮอร์มุซ โดยในภาพรวมประเทศมีปริมาณสำรองคงเหลือเพียงพอทั้งน้ำมันดิบสำรอง น้ำมันดิบที่อยู่ระหว่างการขนส่ง และน้ำมันสำเร็จรูป โดยจะไม่เกิดการขาดแคลนในระยะสั้น หากเกิดผลกระทบต่อการส่งออกน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย และจากนี้ไปกระทรวงพลังงาน จะมีการเรียกประชุมหน่วยงานเกี่ยวข้องเพื่อประเมินสถานการณ์และติดตามอย่างใกล้ชิด
ด้าน “ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป มหาวิทยาลัยรังสิต ประเมินว่า ประเทศที่กระทบมากสุดน่าจะเป็นจีนและญี่ปุ่นที่อาศัยการนำเข้าน้ำมันจากแหล่งนี้ประมาณ 1.2-1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน
โดยประเมินว่าหากมีการตอบโต้กันด้วยกำลังและการก่อการร้ายลุกลาม กดดันให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกและตลาดในประเทศพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น หลายประเทศอาจจำเป็นต้องนำเอาสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์มาใช้หากสถานการณ์ไม่ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นในเร็วๆ นี้ ราคาน้ำมัน ในตลาดโลกอาจปรับตัวขึ้นไปได้ถึง 5-10 ดอลลาร์ ต่อบาร์เรล ในสัปดาห์หน้า และส่งให้ราคาน้ำมัน ในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตามหากค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าจะช่วยบรรเทาแรงกดดันต่อราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศได้ระดับหนึ่ง ส่วนกรณีที่ ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา(เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกในสัปดาห์นี้ คาดว่าเงินบาทมีโอกาสทดสอบระดับ 29 บาทต่อดอลลาร์ได้ในระยะต่อไปหากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามในการประชุมครั้งต่อไป