ผอ.สื่อใหม่ ThaiPBS มอง หากผู้บริโภคแยกแยะออกว่าข่าวปลอมเป็นอย่างไรก็จะสามารถทำให้ลบอัตราการเกิดขึ้นของข่าวปลอมนั้นได้ และมองว่าเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องรับผิดชอบในการยับยั้งข่าวปลอมไม่ให้ถูกส่งต่อมากยิ่งขึ้น
นางสาวกนกพร ประสิทธิ์ผล ผู้อำนวยการสื่อใหม่ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวถึง “การป้องกันการแพร่กระจายของข่าวปลอม” ภายในงานเวิร์คช้อป “ข่าวจริงหรือข่าวปลอม คิดก่อนกด” ระบุว่า การตรวจสอบความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์ต่างๆเริ่มจากการสังเกต URL ว่าเป็นชื่อเว็บที่เป็นเว็บไซต์สำนักข่าวจริงๆหรือไม่ ซึ่งบางครั้งมีการตัดต่อโลโก้ของสำนักข่าวหรือแม้กระทั่งการดัดแปลงเล็กน้อยเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิด และโดยเฉพาะข่าวใน Facebook แฟนเพจสำนักข่าวไหนมีเครื่องหมายติ๊กถูกสีน้ำเงิน ก็จะมีความน่าเชื่อถือมากกว่าแฟนเพจอื่นๆ
ขณะเดียวกันอีกหนึ่งการตรวจสอบ อย่างง่ายที่สุดคือโฆษณาที่แสดงในเว็บไซต์นั้นเป็นโฆษณาที่ทำลายภาพลักษณ์ของเว็บไซต์นั้นๆหรือไม่ การใช้ฟอนต์ต่างๆที่เป็นรูปแบบเดียวกันทั้งเว็บไซต์หรือไม่ รวมถึงการสะกดคำที่ไม่ถูกต้องมากกว่าสื่อปกติ

ประเภทของข่าวที่มักจะเป็นข่าวปลอม จะเกี่ยวข้องกับความเชื่อ , เหตุการณ์ความรุนแรง , ข่าวร้าย , การสร้างความเกลียดชัง และมีคนดังคนมีชื่อเสียงเข้ามาเกี่ยวข้อง
นอกเหนือจากการหยุดแชร์และส่งต่อข่าวปลอมแล้วเราก็ควรจะเป็นหนึ่งในคนที่ช่วยเตือนให้สังคมได้รับรู้ว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอม รวมถึงการรายงานให้ Facebook ทราบว่าเว็บไซต์นั้นเป็นเว็บไซต์ข่าวปลอม

แล้วการเช็คข่าวปลอมเป็นหน้าที่ใคร ?
สำหรับหน้าที่ของการตรวจสอบข่าวปลอมเป็นหน้าที่ของทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้สื่อข่าว , รัฐบาล , ครีเอเตอร์ , ผู้อ่านข่าว และผู้บริหารแพลตฟอร์ม ซึ่งใน Facebook เอง มีการเพิ่มข้อมูลต่างๆมากมายในการตรวจสอบไม่ว่าจะเป็นปุ่มตัว ” i ” ในวงกลม เพื่อดูว่าเว็บไซต์ดังกล่าวมีตัวตนหรือไม่ หรือแม้กระทั่งการเพิ่มการแจ้งเตือนว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอมหรือไม่ภายใต้โพสต์ข่าวปลอมนั้นๆ ขณะเดียวกัน Youtube เองก็มีการลดการนำเสนอคลิปวีดีโอที่จะเล่นถัดไปให้มีความเที่ยงตรงมากขึ้น รวมถึง search engine อย่าง Google ก็มีการปรับโครงสร้างอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้เว็บไซต์นั้นปรับตัวให้สามารถที่จะทำคะแนนได้ดีและอยู่ด้านบนของการ search Google เพื่อให้เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือเพิ่มมากยิ่งขึ้น
สำหรับในต่างประเทศในประเทศเยอรมันมีการสร้างกฎหมายและมีการปรับสูงถึง 50 ล้านยูโรหากไม่ลบวาทกรรมในการเกลียดชังดังกล่าว รวมถึงที่ ThaiPBS เองมีการสร้างศูนย์ติดตามและตรวจสอบข่าวปลอมขึ้นด้วย ขณะเดียวกันหนึ่งในรายการที่ทำการตรวจสอบข่าวปลอมต่างๆเป็นรายแรกๆนั่นก็คือ “ชัวร์ก่อนแชร์” ของ MCOT HD หรือ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ก็มีการตรวจสอบเช่นกัน ชื่อ “ชัวร์แล้วแชร์ได้”

ขณะเดียวกันคนทำงานก็จะต้องมีนโยบายและแนวทางที่เป็นหลักการ ซึ่งในหลักการที่ไทยพีบีเอสมีการนำเข้ามาใช้คือจะไม่แชร์ข้อมูลต่างๆที่ผู้ติดตามฝากให้ไทยพีบีเอส กดแชร์ หากไม่มีการตรวจสอบก่อน ซึ่งสื่อในปัจจุบันไม่ได้แค่ทำหน้าที่กดรีทวิตเพื่อแชร์ข้อมูลข่าวสารเท่านั้น ซึ่งเมื่อกดรีทวิตไปแล้วผู้ติดตามจะไม่โทษว่าต้นทางผิด แต่จะโทษว่าไทยพีบีเอสเป็นคนแชร์