“บิ๊กตู่” เผย 7 อุตสาหกรรมขั้นสูงลงทุนในไทยแล้วกว่า 3.7 แสนล้าน
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวชี้แจงในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า เป้าหมายการดึงดูดการลงทุนวันนี้ เปลี่ยนจากโครงการดึงดูดการลงทุนที่ใช้แรงงานเป็นหลัก มาเป็นกิจการที่ใช้ทักษะขั้นสูง แรงงานส่วนใหญ่ของไทยเป็นแรงงานต่างด้าวทั้งสิ้น มีแรงงานต่างด้าวสองแสนคนจากสามแสนคน จึงต้องพัฒนาแรงงานไทย 100,000 คน ให้มีคุณภาพ พัฒนาฝีมือแรงงาน โดยปัจจุบันต้องปรับให้เป็นกิจการที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง

ซึ่งอุตสาหกรรมพวกนี้มีการขยายตัวของการลงทุนเพิ่มขึ้น ได้แก่ เทคโนโลยีชีวภาพ ธุรกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมการแพทย์ อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมอากาศยาน อุตสาหกรรมพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการศึกษา และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ มีการขอรับการส่งเสริม จำนวน 2,108 โครงการ เงินลงทุน 379,097 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรมดิจิทัลและระบบอัตโนมัติมีการเติบโตมากกว่า 200% ในปี 2565 และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพมีการเติบโตมากกว่า 100% ในช่วงโควิด เพราะฉะนั้นความเข้มแข็งในวันนี้เป็นผลมาจากความสำเร็จในการสร้างความเชื่อมั่น และการยอมรับในระดับสากล ทั้งในเรื่องการรับมือสถานการณ์โควิด ระบบสาธารณสุข การบริการ การบริหารความเสี่ยงในสถานการณ์วิกฤต การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ มีการบริหารจัดการที่ดี มีวินัยการเงินการคลัง ความต่อเนื่องในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ สิ่งเหล่านี้คือการบริหารเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย
ตลท. ชี้ Plant based food โอกาสใหม่อุตสาหกรรมอาหารไทยในตลาดทุน
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวในงานสัมมนา “มองต่างมุมเศรษฐกิจไทย ปี 2566” จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ว่าในด้านตลาดทุน อุตสาหกรรมที่จะเป็นจุดแข็งของประเทศไทยคือการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมอาหาร การท่องเที่ยว การลงทุนที่ยั่งยืน และเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งแม้อุตสาหกรรมอาหารของไทยจะดูเก่า แต่ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนามากขึ้น เช่น การแปลงพืชเป็นเนื้อสัตว์ หรือ Plant based food ทำอาหารให้มีคุณค่า การใช้เทคโนโลยีให้มีมูลค่าเพิ่มได้ ซึ่งเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างชาติ

สำหรับการสนับสนุนตลาดทุนไทย ตลท.ได้ปรับปรุงทำอย่างไรให้ภาคธุรกิจระดมทุนได้ตั้งแต่ขนาดใหญ่ไปจนถึงขนาดเล็ก จากเดิมเป็นแค่ขนาดใหญ่กับขนาดกลาง โดยตลท.เริ่มมีกระดานเทรดใหม่ระดมทุนให้เอสเอ็มอีเข้าถึงง่ายมากขึ้น เช่น LiVE Exchange เป็นต้น ในปีนี้สิ่งที่อยากให้นักลงทุนพิจารณา คือ ความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างรัสเซียกับยูเครน ความผันผวนของราคาน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อที่ขยับสูงขึ้น ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายเป็นความเสี่ยงที่ลดลง ดังนั้นนักลงทุนจะต้องติดตามข่าวสารต่างๆอยู่เสมอ และผลกระทบต่างๆของเศรษฐกิจแต่ละประเทศ แต่ละอุตสาหกรรม และผลกระทบที่จะมีต่อบริษัทจดทะเบียน (บจ.) แต่ละอุตสาหกรรมจะมีความแตกต่างกัน
ผู้ประกอบการจี้รัฐบาลทำเอฟทีเอไทย-อียู ก่อนโดนเวียดนามทิ้งไม่เห็นฝุ่น
นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และ นายสรกิจ มั่นบุปผชาติ รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมเปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2566 และข้อเสนอที่ผู้ประกอบการได้ยื่นต่อภาครัฐ

ประกอบด้วย 1.เสนอให้ปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวดที่ 2 สำหรับเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2566 เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชนและลดต้นทุนการผลิตให้กับผู้ประกอบการ 2.เสนอมาตรการบรรเทาผลกระทบผู้ประกอบการจากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้กับภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs ที่ยังมีปัญหาสภาพคล่องและขาดเงินทุนหมุนเวียน และ 3.เร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน อาทิ เวียดนาม ที่ได้เปรียบไทยเรื่องสิทธิทางภาษีต่างๆ อาทิ ความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) ระหว่างไทย-สหภาพยุโรป (EU) และ FTA ระหว่างไทย-GCC (กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ)
ครม.ไฟเขียว MOU ไทย-เวียดนาม ต่อต้านทำประมงผิดกฎหมาย ใครรุกล้ำน่านน้ำ ตรวจสอบย้อนกลับได้
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลการต่อต้านการทำการประมงผิดกฎหมาย ระหว่างกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทย และกรมประมง กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยจะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างการประชุมคณะทำงานร่วมกลุ่มย่อยด้านการประมงระหว่างไทยและเวียดนาม ครั้งที่ 7 ประมาณเดือนมีนาคม 2566 มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการทำการประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing)

โดยเฉพาะข้อมูลเรือประมงรุกล้ำน่านน้ำ ข้อมูลการตรวจสอบย้อนกลับและใบรับรองการจับสัตว์น้ำ เพื่อไม่ให้มีสินค้าประมงจากการทำการประมงผิดกฎหมายเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิต โดยทั้งสองฝ่ายจะดำเนินการภายใต้ขอบเขตความร่วมมือด้านต่างๆ อาทิ 1.แลกเปลี่ยนข้อมูลการขนถ่ายสัตว์น้ำและการนำสัตว์น้ำขึ้นท่าเรือ การตรวจสอบย้อนกลับและการตรวจสอบใบรับรองการจับสัตว์น้ำ 2.ส่งเสริมการสร้างขีดความสามารถในกิจกรรมเพื่อต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย เช่น การปฏิบัติตามมาตรการรัฐเจ้าของท่า และการตรวจตรา ควบคุม และเฝ้าระวัง 3.ร่วมมือและแลกเปลี่ยนข้อมูลเรือประมงผิดกฎหมายภายใต้กลไกของเครือข่ายอาเซียน โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี
หุ้นไทยวันนี้ ดัชนีฯมีดาวน์ไซด์จำกัด แนะนักลงทุนติดตาม GDP ไตรมาส 4/65
นายณรงค์เดช จันทรไพศาล ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ไอร่า กล่าวถึงแนวโน้มตลาดหุ้นวันนี้ (16 ก.พ.66) คาดดัชนีฯ มีดาวน์ไซด์จำกัด จากการปรับตัวลงรับ Sentiment ลบไปพอสมควรแล้ว ให้แนวรับ 1,640 จุด และแนวต้าน 1,655 จุด แนะนักลงทุนติดตามการเปิดเผยตัวเลข GDP ไตรมาส 4/65 ของไทย ในวันศุกร์นี้ (17 ก.พ.66) หากออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาด +3.5% YoY และ +0.6% QoQ จะกดดันตลาดหุ้นให้ปรับตัวลงต่อ

ขณะที่ตลาดหุ้นไทยเมื่อวานนี้ (15 ก.พ.66) ปิดที่ 1,647.39 จุด ลดลง 5.37 จุด (-0.32%) มูลค่าการซื้อขาย 114,226.12 ล้านบาท ปรับตัวลงรับแรงขายในหุ้นหลายตัว โดยเฉพาะกลุ่ม JMART ที่ปรับตัวลงยกแผง หลังผลงานปี 65 ออกมาแย่กว่าคาด และแนวโน้มปี 66 ก็ยังไม่สดใส ขณะเดียวกันค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว มาที่ 34.20 บาท/ดอลลาร์ กระตุ้นแรงขายของนักลงทุนต่างชาติต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาพรวมดูไม่ค่อยดีนัก