รัฐมนตรี ดีอีเอส เชื่อเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของหน่วยงานรัฐ หลังการประมูล 5G จบลง โดย CAT ประมูลคลื่น 700 MHz จำนวน 2 ชุดคลื่น ใช้เงินประมูลทั้งหมด 34,306,000,000 บาท และ TOT ประมูลคลื่น 26 GHz จำนวน 4 ชุดคลื่น ใช้เงินประมูลทั้งหมด 1,795,000,000 บาท
-สรุป ประมูล 5G ได้คลื่นครบทุกค่าย กสทช. รับเงินเข้ารัฐ 1 แสนล้าน
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) กล่าวว่า กระบวนการของโทรคมนาคมมันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว การเปิดประมูล 5G เป็นโอกาสหนึ่งที่จะพัฒนาองค์กรไปสู่อนาคต โดยคลื่นที่ประมูลได้มาทั้ง 700 MHz และ 26 GHz ทั้ง 2 บริษัทจะต้องไปดูแผนธุรกิจของตัวเอง เตรียมงบประมาณส่วนหนึ่งเข้ามาอัปเกรดอุปกรณ์ให้รองรับ 5G เพื่อใช้ประโยชน์สูงสุด
คลื่น 700 MHz ถ้าบริหารดี ๆ สามารถนำไปใช้พัฒนาเพื่อรองรับ 5G ได้ แต่อาจจะต้องใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มเติมรวมไปถึงแนวทางการขยายอุปกรณ์ในอนาคต
การประมูลครั้งนี้ คณะรัฐมนตรีให้ทั้ง 2 บริษัทดำเนินการภายใต้งบประมาณ กรอบธุรกิจของตัวเอง การเข้าประมูลในครั้งนี้ ถึงแม้ว่า CAT จะใช้เงินประมูลไปถึง 3.4 หมื่นล้านบาท แต่ยังได้เกินจากกรอบที่บอร์ดอนุมัติมา ซึ่งรัฐเองไม่จำเป็นต้องไปสนับสนุนอะไร เพราะ CAT สามารถบริหารงบประมาณด้วยตัวเอง
CAT และ TOT ต้องเร่งปรับตัว
การที่ CAT กับ TOT กระโดดลงมาร่วมประมูลในครั้งนี้ ทำให้เห็นว่าจากนี้ไป 2 บริษัทนี้จะต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยการพัฒนาทางด้านโทรคมนาคม การที่มีผู้ให้บริการเสนอให้กับประชาชนมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นผลดีกับประชาชน ทั้งเรื่องการแข่งขันและพัฒนาการ และเป็นอีกช่องทางให้พนักงานมีความหวังในด้านความยั่งยืนขององค์กรในอนาคต
ในอนาคตเมื่อมีการควบรวมกันทั้ง CAT กับ TOT จะมีคลื่นครบทุกช่วงทั้งระดับ สูง กลาง และใกล้ เทียบเท่ากับบริษัทยักษ์ใหญ่
นอกจากนี้การนำ 5G มาใช้กับภาคประชาสังคมถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด อย่างเรื่องของการศึกษา การเกษตร การคมนาคม และการรักษาพยาบาล ภาคอุตสาหกรรม ToT หรือ AI จะไม่ใช่เพียงเครือข่ายโทรศัพท์มือถืออีกต่อไป
ประชาชนจะได้ใช้ 5G กันอย่างทั่วถึง ไม่ใช่เฉพาะคนที่มีรายได้ สามารถนำมาสนับสนุนโครงการของภาครัฐได้มากขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์กับประเทศ