สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่าอินโดนีเซียผู้ผลิตและผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ของโลกจำกัดการส่งออกน้ำมันปาล์ม จะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อปริมาณในตลาดโลก ท่ามกลางสถานการณ์การผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และละตินอเมริกาลดลง
อินโดนีเซียกำหนดให้น้ำมันดีเซลที่จำหน่ายในประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.เป็นต้นไป จะต้องมีเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันจากปาล์ม 35% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในโลก และกำหนดเพดานให้สามารถส่งออกน้ำมันปาล์มได้ 6 เท่าของปริมาณที่ขายในประเทศ จากเดิม 8 เท่า ทำให้น้ำมันปาล์มออกสู่ตลาดน้อยลง
นักวิเคราะห์ระบุว่า อินโดนีเซียผลิตน้ำมันปาล์มได้ 51.3 ล้านตันในปี 2565 และส่งออก 33.7 ล้านตัน ในปี 2566 คาดว่าผลผลิตน้ำมันปาล์มจะอยู่ที่ 50.82 ล้านตัน และส่งออก 26.42 ล้านตัน
ขณะที่สมาคมผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพของอินโดนีเซียกล่าวว่า คำสั่งจากรัฐบาลจะทำให้ประเทศนำน้ำมันปาล์มไปใช้เพื่อผลิตเชื้อเพลิงเพิ่มเป็น 11.44 ล้านตันในปีนี้ เพิ่มขึ้นจาก 9.6 ล้านในปี 2565
สถานการณ์ปัจจุบันผลผลิตน้ำมันปาล์มในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และละตินอเมริกาสองแหล่งผลิตใหญ่ของโลกลดลง ขณะเดียวกันอิเดียมีความต้องการนำเข้ามากขึ้น รวมทั้งการเปิดประเทศที่กระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีน ทำให้นักวิเคราะห์คาดว่าจะมีอุปสงค์มากกว่าอุปทาน และนำไปสู่การขาดแคลนในตลาดโลก
ข้อจำกัดใหม่ของอินโดนีเซียจะกระทบกับประเทศผู้นำเข้าอาหาร ที่เผชิญกับภาวะเงินเฟ้อหนักเมื่อปีที่แล้ว ส่งผลให้ราคาข้าวสาลี ข้าวโพด และถั่วเหลืองที่เป็นอาหารหลัก พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์หรือในรอบหลายปี นักวิเคราะห์เห็นว่าราคาน้ำมันปาล์มอาจจะพุ่งขึ้นเพราะผลผลิตน้อยกว่าความต้องการ และจะส่งผลต่อผู้บริโภคในเอเชียใต้และแอฟริกาซึ่งนิยมใช้น้ำมันปาล์มในการประกอบอาหาร