คืบหน้า! 2 โครงการเคหะสุขประชา “ร่มเกล้า-ฉลองกรุง“ สานฝันคนอยากมีบ้าน
กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับการเคหะแห่งชาติ เผยความคืบหน้าของโครงการบ้านเคหะสุขประชา ปัจจุบันดำเนินโครงการนำร่องแล้ว จำนวน 2 โครงการ คือ

- โครงการบ้านเคหะสุขประชาร่มเกล้า แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ
- อัตราเช่าเริ่มต้นที่ 2,400 – 3,900 บาท/เดือน ปัจจุบันมีผู้เช่าเข้าอยู่เต็มโครงการแล้ว
- โครงการบ้านเคหะสุขประชาฉลองกรุง แขวงลำผักชี เขตหนองจอก กรุงเทพฯ
- อัตราเช่าเริ่มต้นที่ 1,950 – 3,750 บาทต่อเดือน (รวมค่าบริหารชุมชนแล้ว) ภายในโครงการจะมีตลาดสุขประชามาร์เก็ต ฉลองกรุง ผู้อยู่อาศัยสามารถเช่าแผงตลาดเพื่อการค้าขายได้ และมีผู้เข้าอยู่อาศัยแล้วราว 60.93%
นอกจากนี้ ยังมีการจัดฝึกอบรมพัฒนาทักษะความรู้ให้กับผู้เช่า เพื่อพัฒนาทักษะความรู้จากผู้เชี่ยวชาญใน 6 กลุ่มอาชีพ ได้แก่ เกษตรอินทรีย์ ปศุสัตว์ อาชีพด้านการบริการในชุมชน ตลาด อุตสาหกรรมขนาดเล็ก และศูนย์การค้าปลีก-ส่ง
ประชาชนที่สนใจสามารถเข้ามาเยี่ยมชมโครงการฯ ณ ที่ตั้งโครงการ (Walk in) และทำสัญญาได้ทันที โดยต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
- ถือสัญชาติไทย
- เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19
- เป็นผู้ว่างงาน ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ผู้พิการ ผู้สูงอายุ
- บรรลุนิติภาวะ
- เป็นผู้มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท ต่อเดือนต่อครัวเรือน
เริ่มแล้ว! ฝากเงินสดผ่านตู้อัตโนมัติ ต้องยืนยันตัวตน
เริ่มมีผลใช้แล้วในทุกพื้นที่ สำหรับมาตรการยืนยันตัวตนของผู้ฝากเงินสด เมื่อทำธุรกรรมผ่านตู้ฝากเงินสดอัตโนมัติ หรือตู้ CDM (Cash Deposit Machine) ทุกธนาคาร ซึ่งเป็นมาตรการใหม่ที่ ปปง. ธปท. และสมาคมธนาคารไทย กำหนดขึ้น ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

ผู้ฝากเงินเข้าบัญชีภายในและต่างธนาคาร และชำระบิลด้วยเงินสด ต้องแสดงตนผ่าน 2 ช่องทาง
- ระบุเลขที่บัตรประชาชน 13 หลัก และเบอร์โทรศัพท์มือถือ จากนั้นรอรับ SMS OTP และกดรหัสที่ได้รับ สามารถฝากได้สูงสุด 30,000 บาทต่อครั้ง
- ใช้บัตรเอทีเอ็ม บัตรเดบิต หรือบัตรเครดิตของผู้ฝากเงินและรหัสส่วนตัว (PIN) สามารถฝากได้สูงสุด 100,000 บาทต่อรายการ
มาตรการดังกล่าว เกิดขึ้นเพื่อป้องกันการใช้เป็นช่องทางการฟอกเงิน จากการก่ออาชญากรรม ยาเสพติด และการพนัน รวมถึงการทำธุรกรรมหลอกลวงทางการเงิน เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์ กลุ่มมิจฉาชีพหลอกขายสินค้า ขณะเดียวกัน เพื่อให้การทำธุรกรรมเงินสดมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ทั้งต้นทางและปลายทาง รวมทั้งเพิ่มความปลอดภัยและความมั่นใจให้ประชาชนในการทำธุรกรรมและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับระบบการเงิน
นายกฯ ประกาศไทยพร้อมขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
(13 พ.ย. 66 ตามเวลาท้องถิ่นนครซานฟรานซิสโก) นายกฯ ร่วมปาฐกถาเปิดงาน Networking Reception โดยมีผู้แทนภาคเอกชนไทย จาก 16 บริษัท คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และบริษัทสหรัฐฯ จากกว่า 9 สาขา เข้าร่วมด้วย

นายกฯ ย้ำ “ประเทศไทยเปิดกว้าง และพร้อมเปิดรับภาคธุรกิจแล้ว” การร่วมประชุมเอเปคครั้งนี้ จึงได้นำภาคเอกชนชั้นนำของไทยที่มาร่วมด้วยเพื่อพบกับนักธุรกิจสหรัฐฯ และเชื่อว่ากิจกรรมนี้จะเปรียบเสมือนสะพานเชื่อมต่อเพื่อประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายสำคัญสำหรับภาคเอกชนสหรัฐฯ ทั้งด้านการลงทุน ด้านความยั่งยืน อุตสาหกรรมยานยนต์ โครงสร้างพื้นฐาน ความสะดวกในการทําธุรกิจ เป็นต้น
ยืนยันไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่ปลอดภัยสำหรับการลงทุนและมีศักยภาพการเติบโตสูงมากในเอเชีย ด้วยแรงขับเคลื่อนจากเศรษฐกิจมหภาคที่ดี เสถียรภาพทางการเมือง การบริหารธุรกิจแบบมืออาชีพ และสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อการลงทุน
นายกฯ หารือภาคเอกชนชั้นนำของสหรัฐฯ
- บริษัท Tesla ที่ดำเนินธุรกิจด้านรถยนต์ไฟฟ้าและด้านพลังงานระดับท็อปในตลาด EV
- บริษัท HP ผู้นำด้านการผลิต PC & Laptop และกลุ่มเครื่องพิมพ์
- บริษัท Analog Devices, Inc. หรือ ADI บริษัทผลิตวงจรรวม (Integrated Circuit: IC) รายใหญ่ระดับโลก

ย้ำความพร้อมไทยเป็นฐานการผลิต พัฒนา supply chain และอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจอย่างเต็มที่
EXIM BANK และ CCM ร่วมฉลองความสำเร็จลดก๊าซเรือนกระจกสมัครใจ
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และนายวรพจน์ เพียรอภิธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คอทโก้เมททอลเวอร์คส จำกัด (มหาชน) (CCM) ร่วมฉลองความสำเร็จในการขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program : T-VER) แบบแผนงาน (Programme of Activites : PoA) กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.)

เพื่อผลักดันตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตของประเทศไทย ณ EXIM BANK สำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566EXIM BANK เป็นสถาบันการเงินแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้รับอนุมัติโครงการ T-VER PoA จาก อบก. รองรับการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตของโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์หลายโครงการ จำนวน 60,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี หรือประมาณ 80 เมกะวัตต์ ระยะเวลาโครงการทั้งสิ้น 14 ปี ซึ่ง EXIM BANK ได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs หรือโครงการขนาดเล็กที่ไม่มีความคุ้มค่าในการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต สามารถขอขึ้นทะเบียนเพื่อรับผลประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตเพิ่มเติม
โดย EXIM BANK เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียน และส่วนแบ่งที่ EXIM BANK ได้รับเป็นคาร์บอนเครดิตจากโครงการนี้จะนำไปชดเชยกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่าง ๆ ของ EXIM BANK เพื่อให้บรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ต่อไป ทั้งนี้ CCM เป็นลูกค้ารายแรกที่เข้าร่วมโครงการ T-VER PoA กับ EXIM BANK ภายหลังได้รับการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อลงทุนติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าบนหลังคาโรงงาน (Solar Rooftop)“EXIM BANK มุ่งสู่เป้าหมายการเป็น Green Development Bank จึงเริ่มต้นผลักดันให้เกิดการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อนำไปหักลบกับมลพิษที่ปล่อย ทำให้เกิดความเป็นกลางทางคาร์บอน ควบคู่กับการสานพลังกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สร้างระบบนิเวศครบวงจรที่จะนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรและประเทศไทยได้ตามเป้าหมาย” ดร.รักษ์ กล่าว