“พิธา” ลาออกหัวหน้าพรรคก้าวไกล เปิดทางเลือกผู้นำฝ่ายค้าน
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า เรียนสมาชิกพรรคก้าวไกลทุกท่าน และพี่น้องประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดในประเทศ

แม้วันนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า พรรคก้าวไกลต้องเดินหน้าสู่การทำงานเพื่อพี่น้องประชาชนในฐานะ “ฝ่ายค้าน” ที่มีเสียงมากที่สุดเป็นอันดับ 1 แต่ในเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดให้ “ผู้นำฝ่ายค้าน” จำเป็นต้องเป็น สส. ที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคของพรรคฝ่ายค้านอันดับ 1 และปัจจุบันผมยังอยู่ภายใต้คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. ผมจึงยังไม่สามารถเข้าไปทำงานในสภาผู้แทนราษราษฎร และไม่สามารถจะดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านได้ในระยะเวลาอันใกล้
ขณะเดียวกัน ผมได้หารือกับคณะกรรมการบริหารและ สส. ของพรรคก้าวไกลแล้วเห็นว่า บทบาท “ผู้นำฝ่ายค้าน” มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อระบบรัฐสภา และสมควรเป็นบทบาทที่รับผิดชอบโดยหัวหน้าพรรคของพรรคฝ่ายค้านหลักในสภาฯ ซึ่งตอนนี้คือพรรคก้าวไกล “ผู้นำฝ่ายค้าน” จะเปรียบเสมือนหัวเรือที่กำกับทิศทางการทำหน้าที่ในสภาฯ ของฝ่ายค้าน เพื่อตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลและผลักดันวาระการเปลี่ยนแปลงที่ยังตกหล่นจากนโยบายของรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
ดังนั้น ผมจึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคก้าวไกล ณ ขณะนี้ เพื่อเปิดทางให้พรรคเลือก สส. ที่สามารถทำหน้าที่ “ผู้นำฝ่ายค้าน” ในสภาฯ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแทนที่ผม
ขอยืนยันกับทุกท่านว่า ไม่ว่าสถานะของผมจะเป็นอย่างไร ผมไม่ได้หายไปไหน แต่จะยังคงทำงานร่วมกับพรรคก้าวไกลและพี่น้องประชาชนอย่างสุดกำลังและสุดความสามารถเพื่อขับเคลื่อนวาระการเปลี่ยนแปลงที่เราปรารถนาร่วมกัน
“อุ๊งอิ๊ง” โพสต์โชว์แนวคิดซอฟต์พาวเวอร์หลังเป็นกรรมการระดับชาติ
เศรษฐา ทวีสินนายกรัฐมนตรี สั่งการให้มีการตั้ง คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์เพาเวอร์แห่งชาติ ซึ่งจะทำหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์ว่าด้วยซอฟต์เพาเวอร์ของประเทศไทย ซึ่งมี นายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธาน แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เป็นรองประธาน พันศักดิ์ วิญญรัตน์ เป็นที่ปรึกษา และ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นกรรมการ ทั้งนี้ ผู้ดำเนินการประสานงานคือ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ล่าสุดแพทองธาร ชินวัตรหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ในฐานะรองประธานกรรมการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์เพาเวอร์แห่งชาติ เปิดเผยทางเฟซบุ๊ก Ing Shinawatra เพื่ออธิบายความชัดเจน “ซอฟต์เพาเวอร์” ให้ทุกฝ่ายเกิดความกระจ่าง
น.ส.แพทองธารระบุว่า ตั้งแต่ปักหมุดนโยบายซอฟต์เพาเวอร์แล้ว ที่เพื่อไทยถูกตั้งคำถามว่า ทำไมเราถึงใช้คำว่า “ซอฟต์เพาเวอร์” เราเข้าใจคำนี้จริงหรือไม่
ขั้นแรกอยากอธิบายว่า ซอฟต์เพาเวอร์ ไม่เท่ากับ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ แต่ซอฟต์เพาเวอร์ครอบคลุมทั้งการพัฒนาคนที่มีทักษะสูง เศรษฐกิจสร้างสรรค์ การเมืองประชาธิปไตย และการต่างประเทศที่เรียกว่า “การทูตเชิงวัฒนธรรม” (Cultural Diplomacy) ซอฟต์เพาเวอร์จึงไม่ใช่แค่มิติเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือมิติทางการเมืองระหว่างประเทศ แต่จะต้องทำงานอีกหลายด้านเพื่อให้เกิดการพัฒนา จนสามารถส่งออกวัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ หรือคุณค่าไปสู่นานาประเทศ และกลายเป็นผู้นำในระดับโลกต่อไป
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เราจะต้องอาศัยความร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศเพื่อออกแบบนโยบายการส่งออกวัฒนธรรม ทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สนับสนุนในด้านงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ แรงงาน กระทรวงพาณิชย์มาช่วยสนับสนุนเรื่องการค้าการตลาด และอีกหลายกระทรวงที่ต้องเข้ามาร่วมกัน นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนจากอุตสาหกรรมหลายท่านมาช่วยกันชี้เป้าอุปสรรค ปัญหา เพื่อนำไปสู่การปลดล็อก และช่วยกันออกแบบนโยบายสนับสนุนให้อุตสาหกรรมเติบโต เพื่อขยายตลาดค้าขายสินค้าทางวัฒนธรรมไปสู่ตลาดโลก
“นายกฯ” บินร่วมประชุม UN 19-24 ก.ย.เล็งคุยผู้นำหลายประเทศ
เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลังให้สัมภาษณ์ ดังนั้น การเดินทางไปร่วมประชุมสหประชาชาติ ในวันที่ 19-24 กันยายนนี้ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จะมีการพูดคุยกับผู้นำหลายประเทศ ถือเป็นความมั่นคงนอกประเทศ ความมั่นคงด้านการค้า

ส่วนกรณีที่มีการประสานกับกระทรวงกลาโหม เพื่อมาดูแลเรื่องความมั่นคงเองใช่หรือไม่ว่า เรื่องของความมั่นคงมีหลายมิติ ทั้งภายในและภายนอก เรื่องการปกป้องอธิปไตยของประเทศเป็นเรื่องสำคัญ เรื่องของภาวะภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความร้อนแรง แต่หนักไปทางด้านการค้ามากกว่าที่อาจจะครอบคลุมไปถึงเรื่องความมั่นคงและเรื่องอื่นได้ ตรงนี้ต้องดูให้ดี เพราะเป็นประเทศที่ไม่ใหญ่มาก
ทั้งนี้ มีความภาคภูมิใจที่เราเป็นประเทศไทย มีเอกราชมาโดยตลอด แต่อยู่บนโลกที่มีความขัดแย้งสูง นายกฯระบุว่า ส่วนเรื่องความมั่นคงภายในนั้น เรื่องฝ่ายความมั่นคงกับประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะในอดีตอาจจะมีการพูดจากันที่รุนแรงไปนิดหนึ่ง แต่จะพยายามลดช่องว่างระหว่างสถาบันทหารกับประชาชน ให้มีการสื่อสารที่ดีขึ้น
มีการทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับประชาชน เช่น การสมัครใจเกณฑ์ทหารเป็นบางส่วน ใช้พื้นที่ของกรมทหารที่ทำงานใกล้ชิดกับกระทรวงการคลังและกรมธนารักษ์มาให้ประชาชนทำการเกษตร หรือกระทั่งการให้เจ้าหน้าที่ทหารมาช่วยเหลือในเรื่องภัยพิบัติ มีหลายมิติที่ความมั่นคงสามารถทำได้
“เศรษฐา” เซ็นตั้ง 9 ทปษ.นายกรัฐมนตรี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่234/2566 เรื่องแต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ได้แก่ กิตติรัตน์ ณ ระนองประธานที่ปรึกษา

ขณะที่ปรึกษานานกฯ ประกอบด้วย เทวัญ ลิปตพัลลภ พิชัย ชุณหวชิร ศุภนิจ จัยวัฒน์
ผู้ช่วยศาตราจารย์พิมล ศรีวิกรม์ พิชิต ชื่นบานชลธิศ สุรัสวดี ชัย วัชรงค์ และสุรยุทธ์ ทวีกุลวัฒน์
“ก้าวไกล”อัด “เศรษฐา” ก่อหนี้เพิ่ม ดันหนี้สาธารณะพุ่ง
ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล แสดงความเห็นกรณีมติคณะรัฐมนตรีรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน นัดแรก วันที่ 13 กันยายน 2566 อนุมัติกู้เงินเพิ่มในปีงบประมาณ 2567 เพื่อชดเชยขาดดุลเพิ่มอีก 1 แสนล้านบาท ทำให้ประมาณการหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเป็น 64% ของ GDP

นายกฯ เศรษฐา เพิ่งให้สัญญาผ่านการกล่าวปิดการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อคืนวันที่ 12 กันยายน ว่า รัฐบาลทราบดีและให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการบริหารงบประมาณสำหรับทุกนโยบายอย่างมีความระมัดระวัง ไม่ให้กระทบสัดส่วนหนี้สาธารณะที่ 63% สูงขึ้นไปอีกโดยไม่มีเหตุอันควร แต่มติ ครม. นัดแรก มีการเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567-2570) เพื่อนำไปประกอบการจัดทำกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 โดยในการปรับปรุงแผนการคลังใหม่นี้ พบว่ากรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี จากเดิมเมื่อต้นปีอยู่ที่ 3.35 ล้านล้านบาท เพิ่มเป็น 3.48 ล้านล้านบาท เพิ่ม 1.3 แสนล้านบาท
จะเห็นว่ารัฐบาลค่อนข้างมือเติบและตั้งงบเพิ่มขึ้นมาก โดยวิธีการกู้มาโปะเพิ่มถึงแสนล้านบาท เพื่อมาใช้จ่ายในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ส่งผลให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเป็น 64% ในปีหน้า นายกรัฐมนตรีอาจจะต้องลดการพูดถึงวินัยการคลังไปสักพักก่อน เพราะอาจจะทำไม่ได้อย่างที่พูด และถ้าเป็นแบบนี้เป้าหมายที่เพื่อไทยเคยตั้งว่าจะทำงบประมาณสมดุลใน 7 ปีข้างหน้า ก็ไม่น่าจะเป็นจริง