อนุไต่สวน “กกต.” จ่อยกคำร้อง “พิธา” ม.151 พบหลักฐานไอทีวีไม่มีรายได้สื่อ
ผู้สื่อขาวรายงานว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. กล่าวถึงสำนวนการสอบสวน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล กรณีรู้อยู่แล้วว่า ไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 151 เนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (6) เพราะเหตุมีชื่อถือครองหุ้น บริษัท ไอทีวี จำกัด มหาชน จำนวน 42,000 ได้ถูกส่งมายังชั้นสำนักงาน กกต. นั้น

ผลสอบที่คณะกรรมการไต่สวน ดำเนินการสืบสวนไต่สวนเสร็จสิ้น ได้เสนอความเห็นว่า เห็นควรให้ยกคำร้อง ด้วยเหตุผลว่า การดำเนินการตามมาตรา 151 เป็นคดีอาญาที่ต้องมีพยานหลักฐานชัดเจน แต่ขณะเปิดสมัครรับเลือกตั้ง สส. 2566 เมื่อวันที่ 4-7 เม.ย.นั้น ไม่พบว่า บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) มีการประกอบกิจการอยู่และมีรายได้จากการทำสื่อ
คณะกรรมการไต่สวนได้สรุปสำนวนและเสนอรายงานไปยัง เลขาธิการ กกต. ซึ่งได้มอบ รองเลขาธิการ กกต.ให้ดำเนินการจ่ายสำนวนดังกล่าว ให้คณะอนุกรรมการวินิจฉัยคำร้องและปัญหาหรือข้อโต้แย้งพิจารณา ตามที่ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวนและการวินิจฉัยชี้ขาด 2563 กำหนด ก่อนที่จะเสนอให้ กกต. วินิจฉัย
การพิจารณาเรื่องร้องเรียน ร้องคัดค้านของคณะอนุฯ วินิจฉัย หลายกรณีเมื่อสอบสวนแล้วไม่เห็นด้วยกับความเห็นของคณะกรรมการไต่สวน โดยเมื่อคณะอนุฯ วินิจฉัยได้รับสำนวน หากเห็นว่า มีประเด็นที่ยังไม่ชัดเจน มีข้อสงสัยก็จะดำเนินสอบสวนเพิ่มเติม รวมทั้งการเรียกผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจง ซึ่งในกรณีนี้ คาดว่า คณะอนุวินิจฉัยฯ จะมีการสอบสวนเพิ่มเติม และแจ้งให้นายพิธาได้มาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา
รวมทั้งมีความเป็นไปได้ที่จะรอคำวินิฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีกกต. ยื่นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ขอให้วินิจฉัยสถานะสส. ของพิธา จากเหตุเดียวกัน ก่อนที่จะสรุปสำนวนพร้อมความเห็นเสนอ กกต. ชุดใหญ่พิจารณา
“ประเสริฐ” ยัน “เพื่อไทย” ยังไม่คุยแบ่งเก้าอี้รมต.ขอโหวตนายกฯเรียบร้อยก่อน
ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกระแสข่าวการแบ่งโควตารัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ของพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลว่า ยังไม่มีการพูดคุยกันในขณะนี้ เนื่องจากจะต้องรอให้รัฐสภา ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีก่อน

ทั้งนี้การจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้ถือเป็นสถานการณ์พิเศษ แต่ก็เข้าใจแนวทางปฏิบัติในอดีต เมื่อมีการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีเสร็จสิ้นแล้ว เรื่องต่างๆ จึงจะค่อยมีการพูดคุยกัน พร้อมปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นว่า พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลรักษาการในชุดปัจจุบัน จะสามารถดำรงตำแหน่งในกระทรวงเดิมได้หรือไม่
“ หวังว่า พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลจะเข้าใจ นี่เป็นสถานการณ์พิเศษการจัดสรรตำแหน่งกระทรวงต่างๆ นั้น ก็จะเป็นไปตามสัดส่วน และยังคงยืนยันว่า ขณะนี้พรรคเพื่อไทย ยังคงเสนอชื่อ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯของพรรคให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย”
“สุดารัตน์” อัดรัฐบาลปรับเกณฑ์จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ ทำลายหลักสวัสดิการถ้วนหน้า
สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงมหาดไทยออกระเบียบวิธีการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยกำหนดว่าเป็นผู้ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด

ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2566 ลงนามโดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่รักษาการในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ว่าการเพิ่มคุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุดังกล่าวนี้จะทำลายหลักการรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้า แต่จะตอกย้ำระบบรัฐสงเคราะห์ที่เลือกให้เฉพาะคนจน หรือคนอนาถาซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และหลักสากล แต่เป็นระบบที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถนัดนั่นคือการเลือกปฏิบัติ และสร้างบุญคุณในฐานะการช่วยเหลือเช่น บัตรคนจน หรือเงินอุดหนุนบุตร เป็นต้น ทั้งที่จริงมันคือสวัสดิการที่รัฐพึงจัดหาให้แก่ประชาชนผู้เสียภาษีทุกคนอยู่แล้ว
แนวคิดเช่นนี้นอกจากจะสะท้อนปัญหาว่ารัฐบาลหาเงินไม่ได้ ใช้เงินไม่เป็นจนต้องมาตัดจำนวนผู้ได้รับลดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไปอีกกว่า 6 ล้านคนด้วยการเพิ่มเงื่อนไขการรับเงินแล้ว ยังลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของพลเมืองไทย ถ้าอยากได้เงินเพียงเดือนละ 600-1,000 บาทก็ต้องไปยืนยันตัวตนว่าเป็นคนจนทั้งที่เป็นสิทธิที่ทุกคนควรได้รับการดูแลจากรัฐ
รัฐบาลแจงปรับเกณฑ์เบี้ยสูงอายุไม่กระทบผู้รับเงินรายเดิม รายใหม่ต้องพิสูจน์ความยากจน
รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 11 ส.ค 2566 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 12 ส.ค.ที่ผ่านมา มีสาระหลักเพิ่มเติม คือ เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุ ดังนั้น จะต้องมีการออกระเบียบกำหนดรายละเอียดจากนี้อีก โดยคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ซึ่งผู้สูงอายุที่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพอยู่ก่อนวันที่ระเบียบใช้บังคับ จะยังมีสิทธิรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อไป

ประเด็นที่มีการดราม่าลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของพลเมืองไทยหรือไม่นั้น รัฐบาลให้ความสำคัญกับประชาชนทุกกลุ่ม มุ่งแก้ปัญหาประชาชนอย่างมุ่งเป้า ใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้ข้อจำกัดของงบประมาณ วันนี้เราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และจะเพิ่มต่อเนื่อง งบประมาณจากเคยตั้งไว้ 50,000 ล้านบาทต่อปี เพิ่มเป็น 80,000 ล้านบาท และแตะ 90,000 ล้านบาทแล้ว ในปีงบประมาณ 2567
ดังนั้น หากลดการจ่ายเบี้ยฯแก่ผู้สูงอายุเฉพาะกลุ่ม ที่มีรายได้สูงหรือผู้สูงอายุที่ร่ำรวย เพราะงบประมาณที่จ่ายให้ไปอาจจะไม่มีความจำเป็น ถือเป็นการใช้นโยบายการคลังที่พุ่งเป้า เพื่อช่วยเหลือไปยังกลุ่มคนที่มีความจำเป็นและเดือดร้อนกว่า อีกทั้ง เป็นการสร้างความยั่งยืนทางการคลังระยะยาว
“ประชาธิปัตย์” วุ่น “สาธิต” – “หมอบัญญัติ” แย่งกันลงเลือกตั้งซ่อมระยอง
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าเลือกตั้งซ่อมเขต 3 จังหวัดระยอง ในส่วนของพรรคประชาธิปัย์ ว่ายังไม่ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับผู้สมัครว่าจะส่งใครลงสมัครโดยมีตัวเลือกที่แข่งกันหลายคนที่พรรคจะคัดเลือกภายในวันนี่ ได้แก่สาธิต ปิตุเตชะ ผู้สมัคร ส.ส.เขต 1 จ.ระยอง ที่พ่ายแพ้ให้กับพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา


นอกจากนั้นยังมีชื่อของธารา ปิตุเตชะ ผู้สมัคร ส.ส. เขต 4 ระยอง ที่แพ้ให้กับพรรคก้าวไกลในครั้งที่แล้ว และทักษิณ ปิตุเตชะ ผู้สมัคร ส.ส.เขต 1 ระยอง น.พ.บัญญัติ เจตนจันทร์ อดีต ส.ส.3 สมัย และพายัพ ผ่องใส พรรคพลังประ
สำหรับการเลือกตั้งซ่อม เขต 3 จ.ระยอง ที่จะเปิดรับสมัคร ตั้งแต่วันที่ 15-17 ส.ค.66 น.พ.บัญญัติ ให้สัมภาษณ์ว่าตนมีความพร้อมที่จะลงสมัครเลือกตั้งอีกครั้ง เพราะตนเป็นเจ้าของพื้นที่ เคยดำรงตำแหน่ง ส.ส.มาถึง 3 สมัย
โดยรายงานข่าวระบุด้วยว่าตัวเต็งที่พรรคจะเลือกให้ลงเลือกตั้งซ่อม ได้แก่น.พ.บัญญัติ หรือ สาธิต อดีต รมช.สาธารณสุข ซึ่งจะมีคำตอบชัดเจนจากพรรคประชาธิปัตย์ในวันนี้