“ก.ล.ต.” จับมือDSI-ป.ป.ง. จับตา “สินทรัพย์ดิจิทัล-แชร์ลูกโซ่ พร้อมร่วมกันปราบปั่นหุ้น ร่วมเป็นเจ้าของสำนวนตั้งแต่วันแรก หวังป้องกันคนทำผิดลอยนวล
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ลงนามบันทึกความตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือ ระหว่าง ก.ล.ต. และ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ป.ป.ง.) และ กรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) โดยการร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อป้องกันและประสานความร่วมมือกันในการปราบปรามการฟอกเงินและปิดช่องทางในการสนับสนุนการส่งเสริมกลุ่มก่อการร้ายที่จะเข้ามาสร้างความไม่สงบภายในประเทศ รวมถึงป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับคดีพิเศษเพื่อบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. ระบุว่า เป็นผลสืบเนื่องจากความร่วมมือระหว่าง 2 องค์กรที่มองว่า จะต้องมีการปรับปรุงข้อตกลงร่วมกัน ให้สอดคล้องกับกฏหมายให้เป็นปัจจุบัน ก.ล.ต. ยอมรับว่า การทำงานและบังคับใช้กฏหมายหลักทรัพย์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดและมีความรวดเร็ว ทาง ก.ล.ต. เอง ไม่สามารถดำเนินการองค์กรเดียวได้ จะต้องอาศัยการบูรณาการร่วมกันระหว่างหลายองค์กร สิ่งที่ผ่านมาทั้งสององค์กรมีการทำ MOU ครั้งล่าสุดเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีการปรับปรุงข้อตกลงให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น ซึ่งการเกิดขึ้นของพ.ร.บ.สินทรัพย์ดิจิทัล ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่จำเป็นที่ทำให้เกิดการปรับปรุงบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ โดยเป้าหมาย ต้องการที่จะให้ผู้ลงทุนลงทุนในสินทรัพย์ที่จะต้องผ่านผู้ให้บริการที่ผ่านการตรวจสอบและเชื่อถือได้
ในปัจจุบัน ก.ล.ต. ให้ใบอนุญาตกับผู้ประกอบการในการแลกเปลี่ยน “สินทรัพย์ดิจิทัล” ไปแล้ว 3 ราย ซึ่งบางส่วนมีความคาบเกี่ยวกันกับการทำแชร์ลูกโซ่ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีการตรวจสอบโดยอาศัยความร่วมมือกันระหว่างองค์กร เพื่อให้เป็นมาตรฐานสากลและมีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น
สำหรับรูปแบบที่จะเน้นย้ำเป็นพิเศษนั่น คือ การร่วมมือกันสืบสวนและเป็นเจ้าของสำนวนร่วมกันตั้งแต่วันแรกในการสืบสวนเพื่อให้ขั้นตอนต่างๆลดลงและรวดเร็วเพิ่มมากยิ่งขึ้น ขณะที่ปัจจุบันก็มีการร่วมมือกันในการสร้างระบบ E-enforcement เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้นซึ่งในอนาคตอาจมีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์(A.I.)มาใช้ในการตรวจสอบการโอนหุ้นและซื้อ-ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์

ด้าน พล.ต.ต.ปรีชา เจริญสหายานนท์ รักษาการ เลขาธิการ ป.ป.ง. ระบุว่า ทั้ง 3 หน่วยงาน มีการให้ความร่วมมือและบูรณาการในการตรวจสอบการมาโดยตลอด ซึ่งการลงบันทึกข้อตกลงในวันนี้ เดิมมีอยู่แล้วเพียงแต่เป็นการปรับปรุงข้อตกลงให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นใน 3 ประเด็น ได้แก่
1. ความร่วมมือในเรื่องของ “ข้อมูล” แต่เมื่อเทคโนโลยีมีความปรับเปลี่ยนไปก็จำเป็นที่จะต้องมีการปรับปรุงการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน
2. เรื่องของความชัดเจนในการประสานงานต่างๆของแต่ละหน่วยงาน
3. การเชื่อมโยงข้อมูลของสินทรัพย์ดิจิตอลเพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. สินทรัพย์ดิจิทัล
สิ่งที่ผ่านมาปัญหาเกิดจากความไม่ชัดเจนของชุดข้อมูลต่างๆที่เจ้าพนักงานไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าข้อมูลใดจะสามารถให้กับหน่วยงานใดได้ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องทำหนังสือ สอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการทำบันทึกข้อตกลงนี้ จะลดขั้นตอนดังกล่าวลง โดยการสร้างความชัดเจนว่า ชุดข้อมูลใดสามารถส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ โดยไม่ต้องทำหนังสือสอบถามไปยังหน่วยงานนั้นๆ
สำหรับการลงนามนี้ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตลาดทุนไทยในตลาดโลก ซึ่งที่ผ่านมา มีการร้องขอให้ผู้ประกอบการมีการระบุตัวตนและแสดงตัวตนบนโลกดิจิทัลในการประกอบกิจกรรมทางการเงิน กรณีที่เข้าข่ายต้องสงสัย ซึ่งที่ผ่านมามีเพียงการระบุในด้านของสถาบันทางการเงินต่างๆเท่านั้น แต่เนื่องจาก พ.ร.บ.สินทรัพย์ดิจิทัล กฎหมายของ ป.ป.ง. ยังไม่มีการครอบคลุมในส่วนดังกล่าว ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีการกำหนดขอบข่ายของกฏหมาย สำหรับผู้ให้บริการทางด้านสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้รับความร่วมมือจาก ก.ล.ต. เป็นอย่างดี
พล.ต.ต.ปรีชา มองว่า “กฏหมายปัจจุบันสามารถปฏิบัติได้เลย และที่ผ่านมา ก.ล.ต. ไม่ต้องการให้มิจฉาชีพที่ทำการปั่นหุ้นลอยนวลไปได้ เพราะกฏหมายของ ก.ล.ต. ทำได้แค่ให้ผู้กระทำความผิดเจ้ามาเสียค่าปรับเท่านั้น”

โดย พ.ต.อ. ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ระบุว่า ส่วนตัวรู้สึกเห็นด้วยที่จะต้องมีการปรับปรุงและบูรณาการข้อตกลงร่วมกัน และเชื่อว่าจะสามารถสร้างความมั่นใจให้กับผู้ลงทุนรวมถึงผู้ประกอบการในตลาดหลักทรัพย์ได้เป็นอย่างดี รวมถึงจะมีการทำงานในเชิงรุกเพิ่มมากขึ้น เพราะเมื่อรอให้เกิดความเสียหายแล้วสอบสวน ก็จะทำให้ผลกระทบตกไปสู่ผู้ลงทุนรายย่อยวงกว้างมากขึ้น ซึ่งถ้าหากมีการร่วมมือในการสืบสวนกันตั้งแต่แรกก็จะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายกระจายไปในวงกว้างได้ ปัจจุบันเทคโนโลยีเปลี่ยนไปก็ทำให้การตรวจจับนั้นทำได้ยากขึ้น ดังนั้นจึงเป็นความท้าทายของแต่ละหน่วยงานที่จะตรวจสอบมิจฉาชีพเหล่านี้
ซึ่งเมื่อรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว หลักฐานก็เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้สามารถที่จะมัดตัวมิจฉาชีพเหล่านี้ในชั้นศาลได้ ซึ่งในการบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้มีส่วนของการอบรม เจ้าพนักงานและมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่างองค์กรซึ่งจะทำให้พนักงานสอบสวนมีกรณีศึกษาต่างๆและสามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
